"อัมมาร" วิพากษ์จำนำข้าว มรดกพิษที่ "ยิ่งลักษณ์" ต้องรับผิดชอบ

"อัมมาร" วิพากษ์จำนำข้าว มรดกพิษที่ "ยิ่งลักษณ์" ต้องรับผิดชอบ

"อัมมาร" วิพากษ์จำนำข้าว มรดกพิษที่ "ยิ่งลักษณ์" ต้องรับผิดชอบ
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

เมื่อปลายทางของโครงการรับจำนำข้าวกำลังเดินทางเข้าสู่จุดจบที่ไม่สวยหรู และอาจสรุปได้ว่าจะเป็นจุดเสี่ยงต่ออุตสาหกรรมข้าวไทยทั้งระบบโดย เฉพาะ "ต้นทุน" ที่ถูกใช้จ่ายในโครงการตลอด 2 ปี เฉียด 800,000 ล้านบาท ส่อว่าจะเป็น "หนี้สิน" ที่ผูกพันยาวนานให้รัฐบาลอนาคตต้องชำระสะสาง

ไม่นับรวมคำกล่าวหาที่ส่งต่อถึงรัฐบาลภายใต้การนำของ น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ที่สะท้อนให้เห็นความล้มเหลวต่อการบริหารจัดการโดยสิ้นเชิงทั้งการเปลี่ยนสถานะรัฐบาลให้กลายเป็น "ลูกหนี้" ฐานค้างชำระเจ้าหนี้-ชาวนาอีกหลายแสนล้านบาททั้งการระบายสต๊อกสินค้าที่ปะปนทั้ง "ข้าวเน่า-ข้าวดี" ที่คงค้างในสต๊อกไม่ต่ำกว่า 10 ล้านตัน 

 

ก่อนโครงการรับจำนำถึงกาลอวสาน "ประชาชาติธุรกิจ" สนทนากับ "ดร.อัมมาร สยามวาลา" นักวิชาการเกียรติคุณจากสถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (ทีดีอาร์ไอ) สรุปบทเรียนความล้มเหลวต่อโครงการรับจำนำ ซึ่งเขาสรุปบทเรียนในบรรทัดแรกว่าเป็นความล้มเหลวมากที่สุดในประวัติศาสตร์ !

ทำไมการรับจำนำข้าวเป็นนโยบายที่ล้มเหลวมากที่สุดในประวัติศาสตร์ 

ถ้า คุณลองแยกโครงการรับจำนำข้าวออกมาเป็นบริษัทพิเศษที่ไม่เกี่ยวข้องกับส่วน ราชการอื่น จะพบว่าเวลานี้โครงการดังกล่าวกำลังตกอยู่ในสภาพที่ล้มละลาย มีหนี้สินมากกว่าทรัพย์สิน ดังนั้นเมื่อบริษัทพิเศษอันเป็นหน่วยงานย่อยของรัฐบาลตกอยู่ในสภาพล้มละลาย และรัฐบาลก็ไม่สามารถไปช่วยแก้ไขปัญหาได้ สุดท้ายก็จะกระทบถึงสถานภาพของรัฐบาลโดยภาพรวมโครงการนี้มันเริ่มล้มละลายตั้งแต่วันที่ตัดสินใจเริ่มต้นรับจำนำแล้ว เพราะคุณประกาศจะซื้อของราคา 15,000 บาท ทั้ง ๆที่ รู้ว่าขายไม่ได้ มีแต่คุณทักษิณ (ชินวัตร) คนเดียวที่บอกว่าวันหนึ่งจะขายได้ เมื่อข้าวในสต๊อกขายไม่ได้ โครงการก็ไม่มีเงิน เขาก็พยายามที่จะหยิบยืมกู้เงินจากสิบทิศเพื่อทำให้มีสภาพคล่อง สุดท้ายก็จะพบกับการขาดทุนต่อไปเรื่อย ๆ 

ในความเป็นจริงโครงการนี้ สามารถตั้งงบประมาณปกติเพื่อใช้ในการรับจำนำได้ แต่ทันทีที่เริ่มโครงการเขาก็ใช้วิธีการกู้เงิน ก็เพราะเขาอยากใช้งบประมาณปกติในด้านอื่น ๆ ยกตัวอย่างรถคันแรกที่แม้จะทำให้รัฐสูญเสียรายได้ ก็มีนัยว่ายอมเอารายได้ที่ควรจะได้รับไปใช้กับนโยบายด้านอื่นแทน และ การใช้เงินกู้ในโครงการรับจำนำ แสดงให้เห็นถึงความไม่โปร่งใสโดยเจตนา แม้นายกรัฐมนตรีท่านเจื้อยแจ้วตลอดเวลาว่าจะทำให้โปร่งใส แต่ก็เป็นการเจื้อยแจ้วบนความหมายว่าไม่มีคอร์รัปชั่น แต่ผมใช้คำว่าโปร่งใส ตีความให้หมายถึงต้องมองเห็นโครงการชัดเจนและตรวจสอบได้ทุกส่วน แต่นี่ไม่เคยบอกเลยว่าขายข้าวไปจำนวนเท่าไร ราคาเท่าไร 

การทำนโยบาย แบบคุณทักษิณมักมีผลดีในช่วงหาเสียง มีผลดีในช่วงที่คนกำลังเฝ้ารอดูผลงานของรัฐบาล แต่ช่วงผลเสียที่จะเกิดขึ้น มักจะตกเป็นของรัฐบาลชุดถัดไปเป็นผู้รับผิดชอบ ซึ่งอาจจะเป็นรัฐบาลเดิมที่เขาต้องจำใจจ่าย 

 

นโยบายรับจำนำจะทิ้งมรดกบาปอะไรไว้เบื้องหลังอีกบ้าง

อย่าง น้อยก็หนี้สิน 7-8 แสนล้านบาทแน่นอน และเราก็มีทรัพย์สินที่เป็นข้าวเน่าข้าวดีที่ปะปนกันเละเทะไปหมดอีกกองเบ้อ เร่อ โดยที่มูลค่าที่แท้จริงเป็นเท่าไรไม่รู้ แต่รู้ว่าน้อยกว่าหนี้สินแน่นอน

ส่วนมรดกที่ถูกส่งถึงชาวนา ผมไม่ปฏิเสธว่าช่วงที่ผ่านมาเขาได้เงินไปเยอะ แต่จำนวนเงินดังกล่าวจะถูกลบล้างในอนาคตมากน้อยแค่ไหนผมไม่กล้ายืนยัน เพราะเวลานี้รัฐบาลหน้ามืดต้องขายข้าว จะอย่างไรก็ต้องขาย และต้องหยุดโครงการรับจำนำข้าว

 

การเทขายข้าวทั้งสต๊อกถือเป็นทางออกที่เหมาะสม

ผม ยอมรับว่าอันนี้ก็มีปัญหา แต่ในระยะสั้นถ้าหาสภาพคล่องได้ก็ดีไป แต่ถ้าไม่ได้ก็ต้องจำเป็นต้องเทขายข้าว เหมือนเวลาที่เงินคุณขาดมือจริง ๆ คุณก็จำเป็นที่จะต้องเอาสร้อยทอง เครื่องเพชร หรือของมีค่าอื่น ๆ ออกมาขาย จะได้เอาเงินมาใช้ เพราะตอนนี้คุณกำลังจะอดตาย และสถานะรัฐบาลเวลานี้ก็มีสภาพแบบนั้น จะทำอย่างไรให้มีเงินแสนล้านบาท ก็เป็นไปได้ที่จะต้องเอาข้าวในสต๊อกออกมาเทขาย จะได้ราคาเท่าไรก็ต้องยอมกลืนเลือดกันไป 

 

รัฐบาลต่อไปที่จะมารับช่วงต่อต้องจัดการมรดกบาปเหล่านี้อย่างไร 

ผม เคยพูดกับพวกพรรคประชาธิปัตย์ (ปชป.) ว่าถ้ามีโอกาสเข้ามาเป็นรัฐบาล จงอย่ารับมรดกอันนี้ เพราะมรดกชิ้นนี้เป็นพิษ เพราะไม่ว่าจะทำอย่างไร ราคาข้าวจะต้องตกและตกอย่างแรงเป็นระยะเวลายาวพอสมควร อย่างน้อยก็กินเวลานานจนกว่าสต๊อกข้าวเหล่านี้จะหมด

ในช่วงระยะ เปลี่ยนผ่าน สิ่งที่เราต้องพูดกับชาวนาตรง ๆ ว่า หลังจากการเลือกตั้งเกิดขึ้น ไม่ว่าใครคงต้องพูดกับชาวนาอย่างตรงไปตรงมาว่า โครงการรับจำนำข้าวตันละ 15,000 บาท ก็บอกลากันได้เลยว่าจะไม่มีอีกแล้ว ส่วน รัฐบาลคุณยิ่งลักษณ์มีหน้าที่รับผิดชอบที่จะต้องจ่ายเงินให้แก่ชาวนาทั้งหมด และอาจจะต้องบวกดอกเบี้ยด้วยหรือไม่ เพราะสำหรับชาวนาการขาดสภาพคล่องนาน 4-5 เดือน ถือว่าแพงมาก เพราะไม่รู้ต้องไปหาเงินกู้จากไหนมาใช้จ่าย 

ผม เชื่อว่าในระยะสั้น ถ้ารัฐบาลนี้ยังมีจริยธรรม เขาจะต้องพยายามทุกวิถีทางที่จะต้องหาเงินมาภายในระยะเวลาอันสั้น จะก่อนหรือหลังเลือกตั้งผมไม่แคร์ แต่ต้องหาเงินมาโดยเร็ว มาใช้หนี้ที่ค้างชาวนาทั้งหมด

 

จะปลดภาระหนี้สินที่เกิดขึ้นกว่า 800,000 ล้านบาทอย่างไร

มัน มี 2 วิธี หนึ่ง ใช้ทรัพย์สินคือข้าวที่ต้องระบายออก ในจังหวะเวลาที่ถูกต้อง ไม่ใช่เข้าตาจนแล้วรีบระบาย คงต้องดูความสมดุลระหว่างการสูญเสียจากข้าวที่เสื่อมลงกับความจำเป็นในการ ระบายที่จะไม่ให้กระทบกระเทือนตลาดข้าวควบคู่กันไปเวลาระบายคุณ กระทบตลาดข้าวในทางลบแน่ ๆ อย่างน้อยในช่วงที่เรามีสต๊อกข้าวอยู่ 10 ล้านตันขึ้นไป ถือว่าไม่ใช่โอกาสที่รัฐบาลจะมานั่งจู้จี้ว่าจะเอาราคาเท่าไร แต่ก็ต้องระบายกันไป

สอง ก็คงต้องตั้งงบประมาณประจำปีมาชดเชย ฉะนั้นไม่ว่าใครจะเข้ามารัฐบาลก็คงต้องเสียเงินบางส่วนเพื่อใช้หนี้ก้อนหนี้ อาจกล่าว ได้ว่า ในช่วงที่ผ่านมาประโยชน์ต่าง ๆ ที่ได้รับจากโครงการได้เกิดขึ้นหมดแล้ว แต่เวลานี้อยู่ในช่วงที่ต้องจ่ายเรื่องต้นทุนของโครงการ หลังที่พยายามเตะถ่วงกันมา 2-3 ปี ช่วงเวลาเมามันที่จะเสพสุขจากนโยบายนี้ได้จบลงแล้ว

 

นานแค่ไหนจะสามารถกอบกู้อุตฯข้าวให้กลับมาเป็นเหมือนเดิม 

จังหวะ เวลาคงจะนานเป็นแรมปี ผมก็ไม่แน่ใจ แต่คุณนิพนธ์ (พัวพงศกร) เคยคำนวณผลเสียของการขาดทุนไว้ เขาก็คาดว่ากว่าจะระบายข้าวสต๊อกนี้หมดคงต้องกินเวลากว่า 5 ปี 

ผม รู้ว่าไม่มีนักการเมืองหน้าไหนกล้าที่จะพูดเรื่องนี้ในช่วงหาเสียง แต่ไม่ว่ารัฐบาลหน้าไหนจะเข้ามาทำงาน ก็ควรจะซื่อตรงต่อสถานการณ์ที่เกิดขึ้น ต้องบอกกันตรง ๆว่านี่คือปัญหาใหญ่ 

แต่ในระยะยาว เราคงต้องกลับไปหากระบวนการที่ส่งเสริมให้ข้าวไทยมีคุณภาพ ผมไม่แคร์เรื่องการเป็นแชมป์ด้านปริมาณเท่าไร แต่ผมต้องการแชมป์เรื่องคุณภาพมากกว่า เพราะเป็นประโยชน์กับเกษตรกรอย่างถาวร เมื่อข้าวคุณภาพดี ราคาขายก็จะดี เกษตรกรก็จะมีรายได้ดีตามไปด้วย และเป็นราคาที่ดีอย่างถาวร ไม่ใช่ดีเพราะมีรัฐเอาข้าวไปเก็บเข้าสต๊อกไว้หมด 

 

ส่วนไหนควรที่จะต้องกอบกู้ก่อน 

ข้อแรกคุณต้องลดความเสียหายที่เกิดขึ้นกับชื่อเสียงของข้าวไทย อันได้รับผลกระทบจากนโยบายรับจำนำ เพราะที่ผ่านมาทุกคนพยายามผลิตข้าวกันครึกโครม กลายเป็นข้าวระยะสั้น คุณภาพต่ำกันหมด 

ถ้าคุณทำนโยบายให้ข้าวกลับเข้าสู่กลไกตลาดปกติ ตัวมันเองจะช่วยทำให้ข้าวมีคุณภาพขึ้น เพราะต้องไม่ลืมว่า ตลาดข้าวมีการแข่งขันกันเยอะ ชาวนาที่ฉลาดก็จะหันกลับไปทำข้าวที่มีคุณภาพ เพื่อหนีการแข่งขันนี้ 

นอกจากกอบกู้ชื่อเสียง ก็ต้องแยกตลาดที่รับซื้อข้าวลอตปัจจุบันออกจากตลาดข้าวที่มีคุณภาพให้ได้ อย่างน้อยก็เพื่อรักษาชื่อเสียงในตลาดไว้ อันนี้ต้องมีการบริหารจัดการอย่างละเอียด 

 

การขายข้าวในกลไกตลาดปกติ ชาวนาจะกลับไปมีรายได้น้อยดังเดิม 

นักการเมืองชอบโม้ว่าขายข้าวได้ราคาต่ำ เพราะถูกพ่อค้าไปกดกลไกการตลาด แต่ในช่วงปี 2551 สมัยรัฐบาลคุณสมัคร (สุนทรเวช) ราคาข้าวถีบตัวสูงขึ้นถึง 15,000-18,000 บาทต่อตัน ช่วงนั้นก็กลไกตลาดปกติ พ่อค้าไม่ได้กดดันราคาเลย เพราะทันทีที่ตลาดต้องการข้าว ผู้ซื้อก็พร้อมที่จะสู้ราคาเช่นกัน แตกต่างกับการกำหนดราคารับจำนำ 15,000 บาทต่อตัน ข้าวมันล้นตลาด เพราะชาวนาก็ตะบี้ตะบันปลูกกันใหญ่ 

 

ภาครัฐควรทำนโยบายสนับสนุนแบบไหน 

ภาครัฐจะต้องอุดหนุนหรือไม่ ก็เป็นการตัดสินใจทางการเมือง ซึ่งผมก็คิดว่ารัฐบาลจะมีนโยบายอุดหนุนหรือไม่ ถือเป็นสิทธิ์ของเขา แต่ผมหวังว่าเครื่องมือที่ใช้ในการสนับสนุน รัฐบาลจะไม่เป็นเจ้าของข้าวแต่เพียงรายเดียวอีก

 

ไม่ควรมีโครงการลักษณะจำนำข้าวเกิดขึ้นอีกแล้ว

ผมก็หวังว่าแม้กระทั่งพรรคเพื่อไทยเองก็จะได้รับบทเรียนจากเรื่องนี้ อย่างไรก็ตาม ผมดีใจที่เหตุการณ์นี้มันพังคามือรัฐบาลคุณยิ่งลักษณ์ ที่เป็นคนเริ่มต้นโครงการ เขาจะได้ไม่ต้องมีข้อแก้ตัวอะไรกันอีก เพราะก่อนหน้านี้ก็พยายามโยนบาปไปให้คณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) หรือใครต่อใคร

 

หมายความว่าแม้พรรคเพื่อไทยกลับมาเป็นรัฐบาลก็ควรล้มเลิกนโยบายรับจำนำ

ไม่ว่ารัฐบาลไหนที่มาจากการเลือกตั้ง ก็ไม่ควรจะต่ออายุโครงการรับจำนำข้าวสำหรับฤดูถัดไปสำหรับ นักการเมือง นโยบายอื่นอย่างการประกันราคาพืชผลมันไม่สนุก มันคอร์รัปชั่นลำบาก เพราะเงินถึงมือเกษตรกรโดยตรง ทุกอย่างโปร่งใส ไม่ต้องมีการซื้อขายผ่านบริษัทในเครือตระกูลที่ตนเองได้ประโยชน์ 

ทั้ง นี้ต้องยอมรับว่าชาวนาจะไม่สนุกเหมือนเดิมอีกแล้ว อาจจะถือว่าโหดเหี้ยมกับชาวนา แต่นโยบายรับจำนำมันไม่จีรัง มันก็ต้องถึงเวลาหยุดเข้าสักวันหนึ่ง และซึ่งสุดท้ายมันก็ทำให้อุตสาหกรรมข้าวก็ต้องถอยหลังเข้าสู่ระบบเดิมทั้งหมด

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook