สยามครองแชมป์ที่ดินแพงสุดในประเทศ
สยามครองแชมป์ที่ดินแพงสุดในประเทศ 1.65 ล้านบาท/ตารางวา หลังเป็นทำเลเศรษฐกิจ รถไฟฟ้าพาดผ่าน จากการศึกษาของศูนย์ฯ พบว่า ราคาที่ดินบริเวณใกล้เคียงกับสถานีรถไฟฟ้า 112 สถานี (10 สาย)ราคาเฉลี่ยคือ 392,955 บาทต่อตารางวา เมื่อหากเทียบกับเมื่อปี 2541 เพิ่มขึ้น 339%
นายโสภณ พรโชคชัย ประธานกรรมการบริหาร ศูนย์ข้อมูลวิจัยและประเมินค่าอสังหาริมทรัพย์ไทย บจก.เอเจนซี่ ฟอร์ เรียลเอสเตท แอฟแฟร์ส แถลงว่า จากการสำรวจวิจัยต่อเนื่องมาตั้งแต่ พ.ศ.2528 พบว่าราคาที่ดินในเขตกรุงเทพมหานครและปริมณฑลเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง หลังจากวิกฤติเศษฐกิจ พ.ศ.2540 โดยเริ่มเพิ่มขึ้นตั้งแต่ พ.ศ.2543 เป็นต้นมา รวมระยะเวลา 13 ปีมาแล้ว
โดยล่าสุด ณ สิ้นปี พ.ศ.2556 ราคาที่ดินเพิ่มขึ้น 4.6% เมื่อเทียบกับปีก่อน ซึ่งเป็นการเพิ่มสูงขึ้นกว่าปี พ.ศ.2555 ที่เพิ่มขึ้นเพียง 3.7% อย่างไรก็ตาม การเพิ่มขึ้นนี้เป็นเพราะว่าในบางบริเวณของผังเมือง ได้ผ่อนคลายข้อกำหนดในการก่อสร้าง โดยเฉพาะเขตชานเมืองตะวันตก ที่แต่เดิมเป็นเขตอนุรักษ์ชนบทและเกษตรกรรม กลายเป็นเขตที่อยู่อาศัย ซึ่งสามารถก่อสร้างได้มากขึ้นนั่นเอง และคาดว่าในปี 2557 ราคาที่ดินจะเพิ่มขึ้นอีก 4%
สำหรับราคาที่ดินที่แพงที่สุดในขณะนี้ก็คือ ราคาที่ดินบริเวณใกล้สถานีรถไฟฟ้าสยาม, ชิดลม, เพลินจิต ราคาตารางวาละ 1.65 ล้านบาท หรือไร่ละ 660 ล้านบาท เทียบเท่ากับต้องใช้ธนบัตรใบละ 1,000 บาทปูบนพื้นที่ขนาด 1 ตารางวา หรือ 2x2 เมตร ถึงเกือบ 5 ชั้น สาเหตุที่ราคาที่ดินย่านนี้สูงมากเนื่องจากว่ามีรถไฟฟ้าวิ่งผ่านถึง 2 สาย เป็นศูนย์รวมของสรรพสินค้าต่างๆ แม้ว่าจะไม่มีการพัฒนาใด ๆ เกิดขึ้นในย่านนี้ ราคาที่ดินก็ยังเพิ่มขึ้น เพราะยิ่งรถไฟฟ้าวิ่งออกนอกเมืองหรือเชื่อมต่อกันมากขึ้น ก็ยิ่งเพิ่มศักยภาพของพื้นที่นี้ ทั้งนี้ ราคาที่ดินสะท้อนจากค่าเช่าพื้นที่ค้าปลีกในย่านนี้ด้วย
ที่ดินที่ราคาแพงรองลงมาได้แก่ ด้านหลังสยามสแควร์ 1.6 ล้านบาท/ตารางวา, ไทม์สแควร์ และนานา ถนนสุขุมวิท 1.5 ล้านบาท/ตารางวา, ถ.วิทยุ และ ศาลาแดง 1.4 ล้านบาท/ตารางวา, สีลม 1.35 ล้านบาท/ตารางวา และ ราชดำริ 1.3 ล้านบาท/ตารางวา
ส่วนราคาที่ดินย่าน กทม.และปริมณฑลที่ถูกที่สุดในขณะนี้อยู่บริเวณถนนเลียบคลอง 13 ลำลูกกา กิโลเมตรที่ 5 ซึ่งมีราคาตารางวาละ 2,500 บาท หรือไร่ละ 1 ล้านบาท โดยราคานี้ยืนมาเป็นเวลาประมาณ 10 ปีแล้ว ทั้งนี้ เพราะในเขตรอบนอกๆ ของกรุงเทพมหานครและปริมณฑล ไม่มีโครงการสาธารณูปโภคขนาดใหญ่ ไม่ว่าจะเป็นทางด่วน รถไฟฟ้า ดังนั้น ราคาที่ดินจึงเพิ่มขึ้นน้อย
สอดคล้องกับที่ทางบริษัทศูนย์ฯ ได้เคยทำการศึกษาไว้พบว่า จากการศึกษาของศูนย์ฯ พบว่า ราคาที่ดินบริเวณใกล้เคียงกับสถานีรถไฟฟ้า 112 สถานีหรือ 10 สาย ตามแนวการก่อสร้างราคาเฉลี่ยคือ 392,955 บาทต่อตารางวา โดยในที่ดินติดถนนในรัศมี 500 เมตรจากสถานีรถไฟฟ้า 2 ข้าง และลึกจากถนนใหญ่ระยะทาง 200 เมตร หรือรวมพื้นที่ 250 ไร่ มีผลต่อราคาที่ดินสูงสุด ซึ่งที่ดินนี้หากเทียบกับเมื่อปี 2541 จะมีค่าเป็น 339% หรือเท่ากับเพิ่มขึ้น 1.438 ล้านล้านบาท อย่างไรก็ตาม หากประเทศไทยมีการเก็บภาษีมูลค่าเพิ่มจากราคาที่ดินเพิ่มขึ้นเองโดยไม่ได้ลงแรง ณ อัตราร้อยละ 20 ของหารเพิ่มของมูลค่า ประเทศไทยจะได้ภาษีเพิ่มขึ้นถึง 287,538 ล้านบาท เพียงพอที่จะสร้างรถไฟฟ้าเส้นใหม่เพิ่มขึ้นทั้งระบบ