จุดเปลี่ยนตลาดจตุจักร บูมศูนย์ค้าส่ง"ห้างติดแอร์"
ร่วม 2 ปีมาแล้วที่ "ตลาดนัดจตุจักร" อยู่ภายใต้การบริหารงานของ "ร.ฟ.ท.-การรถไฟแห่งประเทศไทย" เจ้าของกรรมสิทธิ์ที่ดินรับช่วงต่อจาก "กทม.-กรุงเทพมหานคร" หลังสัญญาเช่าที่ดินเนื้อที่ 68 ไร่ยุติลงเมื่อ 1 มกราคม 2555
ทัวร์จีน-มาเลย์หดหาย
ผู้สื่อข่าวลงสำรวจพื้นที่พบว่า ถึงแม้จะเปลี่ยนมือผู้บริหาร แต่ตลาดนัดแห่งนี้ยังมีเสน่ห์ดึงดูดขาช็อปอย่างสม่ำเสมอ แม้บรรยากาศค้าขายโดยรวมจะซบเซามาหลายปีจากภาวะเศรษฐกิจที่ไม่เป็นใจ แถมสถานการณ์ "การเมือง" ที่คุกรุ่น ส่งผลให้นักท่องเที่ยวเอเชียและยุโรปที่เป็นลูกค้าหลักค่อนข้างบางตา
โดย มีร้านค้าตกแต่งใหม่ ติดป้ายโฆษณาเป็นภาษาจีนและอังกฤษเพื่อเรียกแขกเข้าร้าน พร้อมลดกระหน่ำราคาขาย บางรายปรับฟังก์ชั่นใหม่จากขายของมาเป็นร้านนวดแผนไทย ขณะที่มีบางร้านติดป้ายประกาศให้เช่าหรือเซ้งร้านกระจายไปตามโครงการต่าง ๆ
"กลุ่ม ทัวร์จีนและมาเลเซียลูกค้าหลักของตลาดหายไปเยอะ ส่วนนักท่องเที่ยวยุโรปยังมีแต่มาเดินมาเที่ยวมากิน ส่วนใหญ่ไม่ค่อยซื้อ" เป็นคำสะท้อนของแม่ค้าค้าส่งเสื้อผ้ารายหนึ่งในตลาด
ทำเลทองเซ้งห้องละ 2.6 ล้าน
แม่ ค้ารายนี้ยังระบุอีกว่า...จตุจักรตอนนี้ธุรกิจอยู่ได้คือค้าส่งที่ขายหลัง ร้านคืนวันศุกร์ เพราะมีลูกค้าประจำมารับไปขายต่อ ส่วนคนที่ขายปลีกหน้าร้าน ถ้าของ (สินค้า) ไม่เจ๋งจริงขายไม่ค่อยดี
"ถึงขายไม่ค่อยดีแต่ที่ ไม่เคยตกเลยคือค่าเช่ากับค่าเซ้งแผงค้า ยังแพงเหมือนเดิม เช่น โครงการ 1 และ 2 ติดรั้วคนเดินเยอะ อยู่ที่ 3-5 หมื่นบาทต่อเดือน โครงการ 16 ขึ้นไปโซนขายส่ง ราคา 1 หมื่นบาทขึ้นไป โครงการ 14 ลงมาอยู่ที่ 7-8 พันบาท ถูกสุดเป็นที่เช่าโครงการเลี้ยงสัตว์ 4-5 พันบาท ส่วนใหญ่ไม่ใช่เจ้าของแผงตัวจริง เป็นนายหน้าปล่อยต่อหวังกำไร นอกจากนี้ก็มีผู้ค้าบางรายที่เริ่มถอดใจหันไปหาตลาดใหม่ เช่น ตลาดอินโดจีน เอเชียทีค ประตูน้ำ แต่ก็ยังมีแม่ค้าหน้าใหม่หมุนเวียนเข้ามาเรื่อย ๆ"
สอดคล้องผลสำรวจราคาค่าเช่าและค่าเซ้งแผง พบว่า มีหลากหลายราคาและหลายโซน อาทิ โครงการ 12 อยู่ที่ 8,000-9,000 บาท/เดือน โครงการ 16 อยู่ที่ 14,000 บาท/เดือน โครงการ 14 อยู่ที่ 7,000 บาท/เดือน โครงการ 21 ราคา 18,000 บาท/เดือน โครงการ 10 ค่าเช่า 7,000 บาท/เดือน ส่วนค่าเซ้งอยู่ที่ 3 แสนบาท โครงการ 2 ประกาศเซ้ง 2.6 ล้านบาท โครงการ 23 ค่าเซ้ง 4 แสนบาท จากเดิมเคยเซ้งราคา 3 แสนบาท โครงการ 14 ค่าเช่า 7,500 บาท/เดือน
ตลาดนัดติดแอร์ผุดพรึ่บ
เมื่อ ขยายวงเดินสำรวจพื้นที่รอบนอก ปฏิเสธไม่ได้ว่าปัจจุบันทำเลย่านนี้เริ่มเปลี่ยนแปลงไป หลังมีรถไฟฟ้าใต้ดินและบีทีเอส ทำให้การเดินทางมายังย่านนี้ทั้งสะดวกและรวดเร็ว ทำให้มีผู้ประกอบการสายป่านยาวเข้ามาเช่าที่ดิน ร.ฟ.ท.ระยะยาว เพื่อลงทุนพัฒนาพื้นที่ ตั้งเป้าผลักดันทำเลนี้เป็น "ศูนย์ค้าปลีกค้าส่ง" รองรับกำลังซื้อต่างชาติที่คาดว่าจะหลั่งไหลเข้ามาหลังเปิด "เออีซี-ประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน"
ในปี 2558ห้างที่เพิ่งเปิดบริการใหม่หมาดเมื่อปลายปีที่แล้วพบว่ามี "อินสแควร์ ช้อปปิ้ง มอลล์" ของกลุ่มทุนอสังหาริมทรัพย์ในนามบริษัท เจ.เจ.เซ็นเตอร์ จำกัด ทุ่มเงิน 2,000 ล้านบาท สร้างตึก 8 ชั้นบนที่ดิน 7.8 ไร่ มีพื้นที่กว่า 2 หมื่นตารางเมตร เป็นศูนย์ค้าปลีกค้าส่งขนาดใหญ่ ติดรถไฟฟ้าใต้ดินสถานีกำแพงเพชร และถนนกำแพงเพชร 2 ปัจจุบันมีผู้เช่าประมาณ 95%
อีกโครงการ "ทาวน์สแควร์" ของบริษัท ธนสารสมบัติ จำกัด ธุรกิจกลุ่มสิ่งทอลงทุนใกล้เคียงกันกว่า 2,000 ล้านบาท เนรมิตพื้นที่ 10 ไร่ เป็นศูนย์ค้าปลีกค้าส่งสูง 5 ชั้น พื้นที่ 5.5 หมื่นตารางเมตร 700-800 ร้านค้า พร้อมที่จอดรถ 1,000 คัน อยู่ตรงข้ามกับพิพิธภัณฑ์เด็ก โดยเปลี่ยนมือผู้บริหารใหม่จากคนไทยเป็นกลุ่มนักลงทุนไต้หวัน ปัจจุบันอยู่ระหว่างเร่งก่อสร้างให้ทันเปิดกลางปีนี้
ในส่วนของเจ้า เดิมที่ปักหลักมานาน กลุ่มที่ปรับตัวชัดเจนคือ "ตลาดจตุจักรสแควร์" ของบริษัท นวลจันทร์ ออโต้ จำกัด เช่าที่ดินจาก ร.ฟ.ท.มานานนับ 10 ปี ปรับโฉมใหม่ทั้งภายนอกและภายในให้ไฉไล เปิดให้บริการแล้วภายใต้ชื่อ "เจเจ เอาท์เลท"
ส่วน "ตลาด เจ.เจ.มอลล์-ตลาดจตุจักรพลาซ่า" ก็ยังไม่เห็นการเปลี่ยนแปลงมากนัก แต่ในอนาคตก็ไม่แน่ เมื่อคู่แข่งเริ่มรุกคืบมากขึ้นทุกวันแบบนี้