"เรียนทำอาหาร" เทรนด์สร้างอาชีพในฝันคนรุ่นใหม่

"เรียนทำอาหาร" เทรนด์สร้างอาชีพในฝันคนรุ่นใหม่

"เรียนทำอาหาร" เทรนด์สร้างอาชีพในฝันคนรุ่นใหม่
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

ในอดีตหากพูดถึงอาชีพทำอาหาร หลายคนคงไม่ให้ความสนใจมากนัก เพราะมองว่าเป็นอาชีพที่ไม่มีความก้าวหน้า แต่เมื่อยุคสมัยเปลี่ยนไป ภาพลักษณ์ของคนทำอาหารก็เปลี่ยนไปเช่นกัน จนถือเป็นอีกหนึ่งในอาชีพที่ได้รับการยอมรับ สังเกตได้จากมีโรงเรียนและสถาบันสอนทำอาหารเปิดเพิ่มขึ้นมากมาย จนการันตีได้ว่าอาชีพนี้เป็นที่ต้องการของตลาดแรงงาน

"อ.วันดี ณ สงขลา" ผู้ก่อตั้งและผู้บริหาร โรงเรียนครัววันดีและวิทยาลัยเทคโนโลยีครัววันดี กล่าวว่า ในอดีตผู้ปกครองมักไม่สนับสนุนให้บุตรหลานไปเรียนทำอาหาร เพราะมองว่าเป็นงานแม่บ้าน อีกทั้งคิดกันว่าการประกอบอาหารนั้น เป็นวิชาพื้น ๆ ไม่จำเป็นต้องเรียนเป็นเรื่องเป็นราว แต่สามารถเรียนรู้จากแม่หรือคนในครอบครัวก็ทำอาหารได้แล้ว ทำให้ในสมัยก่อนไม่มีโรงเรียนสอนทำอาหารมากมายเหมือนในปัจจุบัน

"พอยุคสมัยเปลี่ยนไป วัฒนธรรมตะวันตกเข้ามาในประเทศ ทำให้คนไทยเริ่มมองเห็นภาพว่าอาชีพพ่อครัวแม่ครัวเป็นอาชีพที่สร้างรายได้สูง รวมถึงเมื่ออาหารไทยได้รับความนิยมมากขึ้นในระดับโลก เนื่องจากรสชาติที่อร่อยและมีเครื่องปรุงจำพวกสมุนไพรมาก เหมาะสำหรับการบริโภคเพื่อสุขภาพ ยิ่งทำให้เชฟอาหารไทยเป็นที่ต้องการ และมีคนสนใจเรียนทำอาหารไทยอย่างจริงจังเพิ่มมากขึ้น นอกจากเรียนเพื่อต้องการเป็นเชฟแล้ว บางคนก็เรียนเพื่อต้องการเปลี่ยนอาชีพ เพราะค้นพบว่าอาชีพที่ทำอยู่ไม่ใช่สิ่งที่ตนรัก และมีบางส่วนที่มาเรียนเพื่อต้องการไปเป็นเจ้าของธุรกิจร้านอาหาร"

กว่า 21 ปีที่โรงเรียนครัววันดีได้เป็นส่วนหนึ่งในการสร้างบุคลากรที่มีคุณภาพด้านอาหารไทยไปสู่ต่างประเทศ พบว่านักเรียนหลายคนสามารถสร้างอาชีพเลี้ยงดูตัวเองได้จากการแนะนำของโรงเรียน ในปัจจุบันมีผู้สนใจมาเรียนปีละกว่าพันคนทั้งคนไทยและคนต่างชาติ โดยโรงเรียนเน้นการสอนอย่างใกล้ชิด และให้ผู้เรียนทุกคนได้ลงมือทำเองทุกขั้นตอน

"แนวโน้มในอีก 5-10 ปีข้างหน้า การเรียนทำอาหารก็ยังคงได้รับความนิยม โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อเปิดประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน (AEC) จะยิ่งมีคนจากประเทศเพื่อนบ้านที่โยกย้ายมาอาศัยในประเทศสนใจเรียนทำอาหารไทยด้วย เพราะเมื่อเรียนแล้วสามารถนำไปประกอบอาชีพเลี้ยงตัวเองได้จริง รวมไปถึงระหว่างเรียนยังสามารถมีงานทำ"

ในขณะที่ "วีรา พาสพัฒนพาณิชย์" อธิการบดี วิทยาลัยดุสิตธานี กล่าวในทำนองเดียวกันว่า ในอดีตหาคนไทยที่ต้องการเรียนทำอาหารยากมาก แต่เมื่อพฤติกรรมผู้บริโภคเปลี่ยนไป คนนิยมทานอาหารนอกบ้านกันมากขึ้น ทำให้มีร้านอาหารเปิดเพิ่มเป็นจำนวนมาก ส่งผลให้มีการแข่งขันในธุรกิจประเภทนี้สูงขึ้น ดังนั้น การคำนึงถึงความพึงพอใจของผู้บริโภคเป็นประเด็นที่ผู้ประกอบการให้ความสำคัญ จึงทำให้มีผู้เรียนเกี่ยวกับการประกอบอาหารเพิ่มขึ้น

"ปัจจุบันมีผู้เรียนการประกอบอาหารที่วิทยาลัยดุสิตธานีเพิ่มขึ้นทุกปี ตอนนี้มีผู้เรียนหลักสูตรระยะสั้นประมาณ 500 คนต่อปี ส่วนคนที่เรียนหลักสูตรระยะยาวมีจำนวนหลายพันคนต่อปี โดยทางวิทยาลัยเราเน้นการให้ความรู้เชิงลึกทั้งทางทฤษฎีและปฏิบัติ ทำให้ผู้ที่จบแล้วมีความรู้รอบด้าน ไม่เพียงแต่สามารถทำอาชีพในภัตตาคารหรือเปิดร้านอาหารเอง แต่บางคนยังสามารถคิดค้นสูตรอาหารให้กับบริษัทต่าง ๆ จนสามารถสร้างรายได้ให้ตัวเองได้สูงอีกด้วย"

ทั้งนี้ ในอนาคตตัวเลขผู้ที่สนใจเรียนทำอาหารต้องเพิ่มขึ้นอย่างแน่นอน เพราะตลาดแรงงานยังมีความต้องการผู้ที่มีความรู้ความสามารถทางด้านนี้สูง และเมื่อเรียนจบแล้วสามารถไปประกอบอาชีพได้หลากหลาย เช่น เป็นเจ้าของร้านอาหารเขียนตำราอาหาร ครูพิเศษสอนการประกอบวิชาอาหาร หรือแม้กระทั่งผู้ประกอบอาหารส่งออก

ด้าน "พัชรี พนาราม" ผู้อำนวยการสถาบันศิลปะการอาหารเดอะ วี สคูล (The V School) โรงเรียนสอนทำอาหารที่มีชื่อเสียงโดดเด่นในด้านอาหารญี่ปุ่นและอาหารเกาหลี กล่าวว่า มีจำนวนผู้เรียนทำอาหารที่สถาบันสูงขึ้นเรื่อย ๆ เนื่องจากอาหารญี่ปุ่นและอาหารเกาหลีเป็นที่นิยมในปัจจุบัน เพราะมีรสชาติกลาง ๆ เน้นวัตถุดิบที่สด และกินได้ทุกเพศทุกวัย

"เราเปิดโรงเรียนเมื่อปี 2545 ถึงวันนี้มีผู้เรียนเพิ่มขึ้นกว่าเท่าตัว จึงขยายมากกว่า 12 หลักสูตรเพื่อรองรับความต้องการของผู้เรียนที่มากขึ้น โดยกว่า 50% ของผู้ที่มาเรียนส่วนใหญ่มีวัตถุประสงค์ต้องการเปิดร้านอาหาร บางคนมาเรียนเพราะอยากจะมีความรู้เพื่อไปคุมเชฟ และบางส่วนมาเรียนเพราะต้องการมีความรู้ติดตัวก่อนไปศึกษาต่อต่างประเทศ เพื่อนำความรู้ที่ได้ไปทำงานในร้านอาหารหารายได้ระหว่างเรียน"

นับว่าเป็นอีกวิชาชีพหนึ่งที่สามารถให้คนได้ทำในสิ่งที่ตัวเองรัก และสร้างรายได้อย่างดีไปพร้อมกัน

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook