การเมืองพ่นพิษธุรกิจส่อเบี้ยวหนี้ เอสเอ็มอีอ่วมสายป่านสั้น กกร.ถกแนวทางช่วยเหลือ
สอท.ชี้การชุมนุมทางการเมือง ส่งผลกระทบผู้ประกอบการอย่างหนัก เหตุขายสินค้าไม่ได้ กระทบงวดชำระสินค้า เริ่มเห็นสัญญาผ่อนจ่าย โดยเฉพาะเอสเอ็มอี ทุนหมุนเวียนสั้น ชงที่ประชุม กกร. หาแนวทางช่วยเหลือ ด้านสมาคมเอสเอ็มอี ส่งผลสำรวจพบยอดขายลดลง จี้รัฐหาแนวทางช่วยเหลือ
นายพยุงศักดิ์ ชาติสุทธิผล ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศ (ส.อ.ท.) เปิดเผยว่า ขณะนี้ผู้ประกอบการภาคอุตสาหกรรมทั้งรายใหญ่ รายกลาง และรายย่อย ระบุว่า คู่ค้าในประเทศ โดยเฉพาะรายกลางและรายย่อย เริ่มมีปัญหาการจ่ายค่าสินค้าแล้ว บางรายขอชะลอจ่ายเป็นงวดๆ และมีบางรายเริ่มไม่จ่ายค่าสินค้าแล้ว เนื่องจากคู่ค้าแจ้งว่า ได้รับผลกระทบจากสถานการณ์การเมือง ไม่สามารถขายสินค้าได้ ทำให้ไม่มีเงินจ่าย ซึ่งเป็นสถานการณ์ที่น่าห่วง ดังนั้น ในการประชุมคณะกรรมการร่วมภาคเอกชน 3 สถาบัน (กกร.) ประกอบด้วย ส.อ.ท. สภาหอการค้าแห่งประเทศไทย และสมาคมธนาคารไทย ในวันที่ 3 กุมภาพันธ์นี้ จะหารือถึงแนวทางการช่วยเหลือผู้ประกอบการ โดยเฉพาะผู้ประกอบการขนาดกลางและขนาดย่อม (เอสเอ็มอี) ซึ่งได้รับผลกระทบมากที่สุด เพราะมีเงินทุนหมุนเวียนระยะสั้น
"ขณะนี้ไปที่ไหนก็มีแต่เสียงคนมาบ่นให้ฟังว่า ขายสินค้าไม่ค่อยได้ บางรายบอกว่าผู้ประกอบการกันเองที่สั่งสินค้าแล้วไปขายต่อ เริ่มมีการเบี้ยวหนี้กันแล้ว หรือบางรายจากเดิมจ่ายเต็มวงเงิน แต่ตอนนี้ก็ขอทยอยจ่าย บางคนทวงหนี้ก็เงียบหายเลย บอกว่าขายของไม่ได้ ไม่รู้จะนำเงินที่ไหนมาจ่าย บางรายที่เป็นผู้ส่งออก เริ่มบ่นยอดออเดอร์ ชะลอลงแล้ว ซึ่งตอนนี้ก็ต้องพยายามทำความเข้าใจกับคู่ค้าต่างชาติให้เชื่อมั่นในการสั่งสินค้ากับไทย" นายพยุงศักดิ์กล่าว
นางเพ็ญทิพย์ พรจะเด็ด นายกสมาคมส่งเสริมผู้ประกอบการเอสเอ็มอีไทยกล่าวว่า ได้ส่งแบบสอบถามผลกระทบจากสถานการณ์การเมือง ให้สมาชิกเอสเอ็มอีทั่วประเทศกว่า 8,000 ราย ระบุเป็นเสียงเดียวกันว่า ได้รับผลกระทบจากเหตุการณ์ทางการเมือง ทำให้ยอดขายชะลออย่างชัดเจน และมีสถานการณ์ชะลอการจ่ายค่าสินค้า หรือจ่ายไม่เต็มวงเงินแล้ว จึงต้องการให้ทุกฝ่ายหาข้อยุติโดยเร็ว เนื่องจากหากสถานการณ์ยืดเยื้อนานเท่าไร ผู้ประกอบการเอสเอ็มอี จะได้รับผลกระทบมากเท่านั้น
ทั้งนี้ แนวทางที่ต้องการให้ภาครัฐหรือหน่วยงานที่เกี่ยวข้องช่วยเหลือคือ วงเงินสินเชื่อดอกเบี้ยต่ำ เพื่อเป็นเงินทุนหมุนเวียนในสถานการณ์ปัจจุบัน หรือหาช่องทางการจำหน่ายสินค้าให้ผู้ประกอบการ เพราะไม่สามารถขายสินค้าได้ จากผู้บริโภคไม่มีอารมณ์ในการใช้จ่าย
"แบบสอบถามตอบเป็นเสียงเดียวกันว่า ได้รับผลกระทบอย่างมากแล้ว บางคนบอกว่าเดิมคู่ค้าที่ซื้อของกันเองจ่ายเต็มวงเงิน ตอนนี้เริ่มจ่ายไม่เต็มแล้ว และมีหลายรายไม่กล้าลงทุนเพิ่ม เพราะไม่รู้ว่าจะมีเงินมาจ่ายหนี้ได้หรือไม่ ถือว่าผลกระทบกันเป็นลูกโซ่" นางเพ็ญทิพย์กล่าว