ธนาคารโลกเสนอทางออกแก้ปัญหาจำนำข้าว

ธนาคารโลกเสนอทางออกแก้ปัญหาจำนำข้าว

ธนาคารโลกเสนอทางออกแก้ปัญหาจำนำข้าว
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

ธนาคารโลกชี้หากรัฐจ่ายเงินชาวนาได้หมด 120,000 ล้านบาท ช่วยกระตุ้นการบริโภค ดันจีดีพีปีนี้เติบโตอีกร้อยละ 1

น.ส.กิริฎา เภาพิจิตร นักเศรษฐศาสตร์อาวุโส ธนาคารโลก ประจำประเทศไทย กล่าวว่า การที่ชาวนายังไม่ได้รับเงินในโครงการรับจำนำข้าว ประมาณ 120,000 ล้านบาท ส่งผลต่อการใช้จ่ายและการบริโภคของเกษตรกรให้ชะลอลง โดยเงินที่ค้างจ่ายชาวนาคิดเป็นร้อยละ 1 ของจีดีพี ดังนั้น หากชาวนาได้รับเงินในโครงการรับจำนำข้าว จะทำให้การใช้จ่ายในประเทศเติบโตขึ้น ส่งผลให้จีดีพีในปีนี้ปรับขึ้นได้อีกร้อยละ 1

ทั้งนี้ โครงการรับจำนำข้าวเป็นโครงการที่ดี ทำให้เกษตรกรมีรายได้สูงขึ้น และเป็นการยกระดับคุณภาพชีวิตชาวนา โดยมีชาวนาที่ได้ประโยชน์ประมาณ 1 ใน 3 ของชาวนาทั้งหมด แต่โครงการนี้ได้ส่งผลให้มีความเสียหายรวม 400,000 ล้านบาท หรือคิดเป็นร้อยละ 2 ของจีดีพี ใน 2 ฤดูการผลิต เพราะรัฐบาลขายข้าวไม่ทัน ทำให้ค้างจ่ายชาวนา จนต้องมีการกู้เงินเพิ่ม เพื่อไม่ให้การดำเนินนโยบายนี้กระทบฐานะทางการคลัง รัฐบาลควรหาแนวทางอื่นมาช่วยเหลือชาวนา อาทิ การพัฒนาพันธุ์ข้าว การพัฒนาระบบชลประทานและปรับปรุงคุณภาพดิน เพื่อเพิ่มผลผลิตข้าวต่อไร่ และขายข้าวได้ในราคาที่สูงขึ้นอย่างยั่งยืน

ส่วนโครงการอื่นๆ ที่จะมีผลต่อหนี้สาธารณะของประเทศ ทั้งโครงการบริหารจัดการน้ำ 350,000 ล้านบาท และโครงการลงทุนโครงสร้างพื้นฐาน 2 ล้านล้านบาท ควรมีการพัฒนาและการลงทุนเกิดขึ้น เพราะจะส่งผลดีต่อการเติบโตของประเทศอย่างยั่งยืน อย่างไรก็ตาม ในการดำเนินแต่ละโครงการจะต้องมีความโปร่งใสและคุ้มทุนที่สุด

ด้านนายแมทธิว เวอร์กิส หัวหน้านักเศรษฐศาสตร์ ธนาคารโลก ประจำภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ กล่าวว่า อัตราการขยายตัวของเศรษฐกิจไทยในปี 2557 ที่คาดว่าขยายตัวร้อยละ 4 หากเปรียบเทียบกับประเทศในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ประเทศไทยมีจีดีพีต่ำที่สุด ขณะที่ประเทศส่วนใหญ่ขยายตัวร้อยละ 6-7 นอกจากนี้ ผลกระทบจากการเมืองในประเทศไทยยังส่งผลต่อการท่องเที่ยวในประเทศกัมพูชา ลาว เมียนมาร์ ให้ชะลอลงด้วย เมื่อนักท่องเที่ยวยกเลิกมาไทย ก็ยกเลิกเดินทางมาเที่ยวในภูมิภาคเช่นกัน แต่เชื่อว่าจะเป็นผลกระทบระยะสั้น

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook