ถอดรหัสธุรกิจ "บุญเติม" จากตู้เติมเงินมือถือถึงบริการจ่ายสะดวก
กลายเป็นภาพคุ้นตา หน้าร้านสะดวกซื้อหรือตามแหล่งชุมชนทั้งหลาย สำหรับ "ตู้เติมเงิน" หลากยี่ห้อ "บุญเติม" เป็น 1 ในนั้น และอาจกล่าวได้ว่าเป็นผู้นำตลาด ด้วยจำนวนที่มีถึง 3 หมื่นตู้ทั่วประเทศ
ต้องยอมรับว่าความแพร่หลายของ "ตู้เติมเงิน" มาจากความนิยมในการใช้งานโทรศัพท์มือถือระบบ "พรีเพด" ที่ต้อง "เติมเงิน" เข้าระบบก่อนจึงจะใช้บริการได้ จากการซื้อบัตรเติมเงินตามร้านค้าปลีกโทรศัพท์มือถือ, ร้านสะดวกซื้อ และตัวแทนเติมเงิน (โมบายท็อปอัพ) เป็นต้น มาเป็นการเติมเองจาก "ตู้อัตโนมัติ"
ปัจจุบันผู้บริโภคคุ้นเคยกับการเติมเงินด้วยตนเองผ่าน "ตู้เติมเงิน" มากขึ้น แม้บริการผ่านตู้ดังกล่าวจะมีหลากหลายมากขึ้น ทั้งซื้อชั่วโมงเกมออนไลน์, ดูดวง, ชำระค่าโทรศัพท์, ซื้อชั่วโมงอินเทอร์เน็ต เป็นต้น แต่ส่วนใหญ่ก็ยังใช้บริการเพื่อเติมเงินในระบบโทรศัพท์มือถือเป็นหลัก
อนาคตธุรกิจ "ตู้เติมเงิน" จะรุ่งโรจน์โชติช่วง และมีพัฒนาการต่อไปอย่างไร "ประชาชาติธุรกิจ" มีโอกาสพูดคุยกับ "สมชัย สูงสว่าง" กรรมการผู้จัดการ บมจ.ฟอร์ท สมาร์ท เซอร์วิส ผู้ให้บริการตู้เติมเงิน "บุญเติม" ดัง
- ความเป็นมาของ "บุญเติม"
การวางตู้เริ่มต้นเมื่อ 3 ธันวาคม 2551 เราจึงเพิ่งครบ 5 ปีไปไม่นาน ถือเป็น 1 ในธุรกิจของบริษัท บมจ.ฟอร์ท คอร์ปอเรชั่น (ถือหุ้น 61%) ซึ่งอยู่ในธุรกิจโทรคมนาคมไทยมายาวนาน เมื่อเห็นช่องว่างเรื่องการเติมเงินจึงริเริ่มสร้างระบบขึ้นมา จากทุนจดทะเบียน 1 ล้านบาท ปีที่ผ่านมาเพิ่มเป็น 300 ล้านบาท ตั้งตู้ไปแล้ว 30,000 ตู้ทั่วประเทศ
ผมเข้ามาร่วมงานเมื่อ 18 เดือนที่แล้ว บริษัทเพิ่งล้างขาดทุนสะสมได้หมดในปีที่ผ่านมา และมีกำไรเป็นครั้งแรกในปี 2555
- ต่างจากเจ้าอื่นอย่างไร
ถ้าเคยเห็นตู้เติมเงินคงนึกออกว่า มี 2 แบบ คือตู้ที่ต้องมีปุ่มกด และเติมเงินได้เฉพาะมือถือ แบบนั้นเรียกว่าตู้แอนะล็อก อีกแบบเป็นตู้ระบบสัมผัส เติมเงินได้หลายรูปแบบ เรียกว่าตู้ออนไลน์ เพราะเชื่อมทุกอย่างกับส่วนกลาง แบบนี้เราเป็นเจ้าแรกที่ทำ มีเซิร์ฟเวอร์กลางควบคุม ลงทุนไปกว่า 20 ล้านบาท เพิ่มบริการใหม่ ๆ เข้าไป เช่น การเติมเงินเกมออนไลน์กว่า 19 เกม, จ่ายบิลเอไอเอสระบบรายเดือน, ดูดวง เป็นต้น รวมแล้ว 36 บริการ
เรายังเซตอัพรูปแบบธุรกิจแฟรนไชส์ขึ้นมา ให้ผู้ที่สนใจตั้งตู้เติมเงิน เสียค่าแรกเข้า 5,000 บาท ก็เริ่มธุรกิจได้
- รูปแบบธุรกิจเป็นอย่างไร
บริษัทจะเป็นผู้ทำโฆษณา, ประชาสัมพันธ์, โปรโมชั่น และหาบริการมาใส่ในตู้ เช่นมีแคมเปญเติม 100 บาท ไม่คิดค่าธรรมเนียม เป็นต้น การขยายบริการจะทำผ่านตัวแทน 240 ราย ทำหน้าที่เฟ้นหาผู้ที่สนใจตั้งตู้เติมเงิน คอยดูแลเก็บเงินส่งบริษัท เช็กสภาพตู้ในแต่ละพื้นที่ ผู้ที่จะนำตู้ไปติดตั้งมีหน้าที่แนะนำการใช้งาน และบำรุงรักษาให้อยู่ในสภาพพร้อมใช้งาน ใครที่สนใจก็แค่ติดต่อมาที่บริษัท เราจะส่งตัวแทนไปแนะนำการใช้งาน ถ้าตกลงแล้วก็แค่จ่ายค่าแฟรนไชส์ มีค่าติดตั้งไม่เกิน 1,500 บาท และค่าบำรุงรักษาเดือนละ 40 บาท ตัวแทนหาผู้ติดตั้งตู้จะได้ค่าคอมมิสชั่น ส่วนคนที่นำตู้ไปตั้งจะได้ส่วนแบ่ง 3.5% ของรายได้ในแต่ละเดือน
- ปีนี้จะทำอะไรบ้าง
สิ่งที่เราจะทำคือพยายามให้ธุรกิจเดินได้เอง โดยไม่ต้องใช้คนควบคุม เนื่องจากเราเป็นระบบออนไลน์ ทุกอย่างสามารถมอนิเตอร์และป้อนคำสั่งเพิ่มได้ตลอด เหลือแต่ขั้นตอนการนำส่งเงินในตู้มาที่บริษัท ซึ่งปีนี้จะเปิดระบบโอนเงินออนไลน์ให้ตัวแทน เพื่อเพิ่มความรวดเร็วในการจ่ายค่านายหน้าผ่านเว็บไซต์ของบริษัท
ผู้สนใจที่จะนำตู้ไปให้บริการก็จะจ่ายเงินง่ายขึ้นเช่นกัน โดยบริษัทจะมีบัตรที่มีบาร์โค้ดให้ แค่ยื่นบัตรนี้ที่ธนาคารหรือตู้เอทีเอ็มก็โอนเงินกลับมายังบริษัทได้ทันที
ถ้าโอนวิธีนี้เราจะรู้ว่ามาจากตู้ไหน ใครเป็นแฟรนไชส์ ต่างจากเดิมที่ต้องอีเมล์มาแจ้ง
เราจะขยายตู้เป็น 40,000 ตู้ พร้อมเพิ่มบริการใหม่ ๆ เช่น ซื้อชั่วโมงไวไฟของทรู, เพิ่มหมอลักษณ์ฟันธงในบริการดูดวง การเพิ่มจำนวนตู้จะมาจากโปรเจ็กต์ที่ทำกับร้านสะดวกซื้อ เช่น เซเว่นอีเลฟเว่น, โลตัส และแฟมิลี่มาร์ท เป็นต้น
นอกจากนี้ยังจะเปิดบริการเคาน์เตอร์เซอร์วิสรับชำระค่าสาธารณูปโภคพร้อมรับโอนเงินไปที่ธนาคารต่างๆ คาดว่าจะเปิดได้ภายในไม่เกินไตรมาส 3 เน้นลูกค้าที่เป็นร้านขายของชำตามต่างจังหวัด เพราะเห็นช่องว่างที่ธนาคาร และร้านสะดวกซื้อยังขยายไปไม่ถึงในพื้นที่ห่างไกล
- มีเงินหมุนเวียนในระบบแค่ไหน
95% เป็นการเติมเงินโทรศัพท์มือถือ ซึ่งจะมีการเติมโดยเฉลี่ยครั้งละ 30 บาท ถ้ารวมทุกบริการมีเงินหมุนประมาณ 7,400 ล้านบาท/เดือน มีจำนวนการใช้งาน 8 แสนครั้ง/วัน และปีนี้คาดว่าจะมีเงินหมุนเพิ่มเป็น 10,000 ล้านบาท/เดือน มีการใช้งานมากกว่า 1 ล้านครั้ง/วัน ทำให้ในปีนี้จะมีรายได้จากค่าธรรมเนียมถึง 1,000 ล้านบาทแน่นอน นอกจากนี้ เรายังวางแผนที่จะนำบริษัทเข้าไประดมทุนในตลาดหลักทรัพย์ใหม่ (mai) ด้วย คาดว่าในไตรมาส 2 จะผ่านการตรวจเอกสารโดย ก.ล.ต. พร้อมเพิ่มทุนจดทะเบียนเป็น 400 ล้านบาท
- มีคู่แข่งเยอะไหม
เราแข่งกับตนเองมากกว่า ถ้านับจำนวนตู้เติมเงินออนไลน์ เรามีมากกว่าครึ่งของตลาด ถ้านับรวมตู้แอนะล็อกอาจน้อยกว่า แต่เชื่อว่าตู้เติมเงินทั้งหมดต้องเปลี่ยนเป็นออนไลน์เพื่อเชื่อมต่อกับโอเปอเรเตอร์โทรศัพท์มือถือ ทำให้เหลือแค่รายใหญ่ 2-3 ราย เมื่อระบบเสถียรขึ้น บริษัทแม่จะนำระบบออกไปทำตลาดในต่างประเทศ เริ่มที่ฟิลิปปินส์ ในชื่อว่า U-Load
- ได้รับผลกระทบจากการเมือง
แทบไม่เป็นปัญหา เพราะตู้กว่า 80% อยู่ต่างจังหวัด ปัญหาการเมืองอยู่แค่ในกรุงเทพฯ ขณะที่การชุมนุมทางการเมืองทำให้มีการสื่อสารกันมากขึ้น บางตู้ที่อยู่ในสถานที่เหล่านั้นมีการเติมเงินมากกว่าปกติด้วย