อู้งานแบบพองาม

อู้งานแบบพองาม

อู้งานแบบพองาม
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

เมื่อเดือนกันยายน 2556 ที่ผ่านมา เว็บไซต์ Toptenthailand.com ได้ทำการสำรวจ 10 กิจกรรมที่คนอู้งานชอบทำพบว่า สิ่งที่คนเหล่านี้ใช้เวลาไปโดย "ไม่ได้งาน" เรียงลำดับจากน้อยไปมาก ได้แก่ เล่นเว็บเรื่อยเปื่อย ออกไปซื้อของกินไม่เป็นเวลา อ่านการ์ตูนออนไลน์ จับกลุ่มเมาท์เรื่องจิปาถะ เล่น Pantip คุยโทรศัพท์ เล่นเกม งีบหลับ ดู YouTube และสุดยอดกิจกรรมที่คนชอบอู้งานชอบทำที่สุด คือเล่น Facebook

ผลสำรวจนี้ไม่ได้บอกว่าคนเหล่านี้ใช้เวลากับเรื่องเหล่านี้เป็นเวลาเท่าไรในแต่ละวัน แต่หากเราลองสำรวจตัวเองดู และลองตอบตัวเองตามความเป็นจริงอย่างไม่ลำเอียง ในแต่ละวัน...เราใช้เวลา "อู้งาน" ทำสิ่งเหล่านี้บ้างหรือไม่? มากน้อยเพียงใด??

ผมเชื่อว่า แทบไม่มีใครเลยที่ไม่เคยอู้งานบ้างเป็นครั้งเป็นคราว เพราะหากพิจารณาตามสภาพความเป็นจริง การที่คนทำงานต้องนั่งทำงานเดิม ๆ ทั้งวัน หลายชั่วโมงติดต่อกัน เพื่อให้บรรลุภารกิจที่ต้องทำ ย่อมต้องมีเบื่อหน่ายบ้าง เหนื่อยบ้าง ล้าบ้าง เครียดบ้าง ฯลฯ

การเปลี่ยนอิริยาบถ เปลี่ยนกิจกรรมทำสิ่งที่ผ่อนคลายบ้าง หรืองีบสักพักเพื่อเอาแรงบ้างในช่วงเวลาสั้น ๆ อาจจะเกิดประโยชน์มากกว่าทนนั่งฝืนทำในขณะที่เหนื่อยล้า เครียด หรือง่วงจนคิดอะไรไม่ออก

การอู้งานเพื่อผ่อนคลายบ้างในช่วงเวลาที่เหมาะสม เป็นเวลาสั้น ๆ คงไม่เป็นไร แต่หากปัญหาเกิดขึ้นเมื่อบุคคลนั้นอู้งานเป็น "นิสัย" เบื่องานง่าย ไม่จดจ่อ สมาธิสั้น ไม่รู้ว่าเวลาใดควรทำสิ่งใด เป็นพวกทำงานต่อหน้า เลี่ยงงานลับหลัง ใช้เวลาหมดไปวัน ๆ โดยแทบไม่ได้เนื้องานที่มีคุณค่าใด ๆ เลย การอู้งานด้วยการทำสิ่งที่ไม่มีสาระจนติดเป็นนิสัย จะส่งผลเสียทั้งต่อตนเองและต่อองค์กร

ผลเสียต่อตนเอง - อู้งาน = ทิ้งเวลาชีวิต คนที่ทำงานแบบไปวัน ๆ เรื่อย ๆ เฉื่อย ๆ ขาดความกระตือรือร้น ทำให้บางคนแม้อยู่ที่ทำงานทั้งวัน 8 ชั่วโมง แต่ผลงานที่ทำในวันนั้นอาจได้เท่ากับคนที่ทำงานจริงจังเพียงไม่ถึง 1 ชั่วโมง นั่นเท่ากับทิ้งเวลาชีวิตไปถึง 7 ชั่วโมง ซึ่งเวลาเหล่านี้หลายคนไม่ได้คิดว่ามันมีคุณค่า เพราะคิดเทียบกับรายได้ต่อเดือนที่ได้รับ ทำมากทำน้อยก็ได้รายได้เท่ากัน จึงไม่จำเป็นต้องทำให้เหนื่อยโดยไม่จำเป็น

ความคิดเช่นนี้ย่อมสะท้อนคนที่ทำงานเพื่อเงิน และยอมทิ้งเวลาชีวิตเพื่อแลกกับเงิน เป็นคนที่ขาดซึ่งเป้าหมายชีวิต ไร้ซึ่งความทะเยอทะยานในการสร้างความก้าวหน้า จึงไม่เห็นคุณค่าของการวางแผนการใช้เวลา การจัดลำดับความสำคัญ การมุ่งสร้างผลงาน การเพิ่มพูนการเรียนรู้และพัฒนาตนเอง ซึ่งคนที่รู้คุณค่าชีวิตย่อมรู้คุณค่าเวลาและไม่ปล่อยเวลาให้เสียไปอย่างเปล่าประโยชน์โดยง่ายดาย แต่มีเป้าหมายว่าจะต้องทำงานให้มีประสิทธิภาพสูงขึ้น ได้ผลิตภาพมากขึ้น เรียนรู้ให้มากขึ้น พัฒนาทักษะต่าง ๆ ให้ดีขึ้น

ผลเสียต่อองค์กร - อู้งาน = ลดผลงาน คนชอบอู้งานเป็นนิสัยนั้น ไม่เพียงไม่เห็นคุณค่าตนเอง ยังสะท้อนการไม่เห็นคุณค่าขององค์กร เพราะการใช้เวลาอย่างไม่เหมาะสม ในเวลาที่ไม่เหมาะสม ย่อมเท่ากับแสดงความไม่ซื่อสัตย์และขาดความรับผิดชอบต่อองค์กร ผลที่ตามมาคือ การใช้เวลางานอย่างไม่เหมาะสม ย่อมเท่ากับลดประสิทธิภาพและประสิทธิผลที่ควรได้จากการทำงาน ผลงานที่ปรากฏน้อยกว่าที่ควรจะเกิดขึ้น

ที่สำคัญ การอู้งานเป็นนิจ ชีวิตอาจดับตลอดกาล เพราะคงไม่มีองค์กรใดชื่นชอบพนักงาน "ชอบอู้งาน" แต่ชื่นชอบพนักงาน "ชอบทำงาน" มากกว่า และคงไม่มีองค์กรใดชอบจ่ายเงินเดือนเต็มจำนวนให้กับคนที่ทำงานไม่เต็มที่

ในการทำงาน เราจึงต้องเรียนรู้ที่จะคิดถึงใจเขาใจเรา โดยตระหนักว่าเวลางานที่เสียไปแต่ละนาที แต่ละชั่วโมง สามารถตีมูลค่าเป็นตัวเงินได้ องค์กรย่อมเสียประโยชน์ และลองคิดในทางกลับกัน หากเราขโมยเวลาขององค์กรไป และในตอนสิ้นเดือนเราถูกหักเงินตามจำนวนเวลาที่อู้งานบ้าง เราคงรู้สึกไม่ดีและไม่อยากยอมรับผลแบบนี้เช่นกัน

นอกจากนี้ หากใช้เวลางานไปทำเรื่องส่วนตัว อาจถูกตีความว่าไม่ซื่อสัตย์ คอร์รัปชันเวลา ซึ่งเมื่อถูกจับได้อาจจะถูกตำหนิ ถูกลงโทษ หรือเมื่อมีการประเมินผลการทำงานอย่างจริงจัง บรรดาผู้ที่ชอบอู้งานย่อมได้รับการประเมินแบบไม่เข้าตากรรมการ อาจถูกปิดกั้นโอกาสก้าวหน้า เพราะไม่เชื่อมั่นว่าจะรับผิดชอบในตำแหน่งหน้าที่ที่สูงขึ้นได้

การอู้งานอาจทำให้เรามีความสุขระยะสั้น แต่นำมาซึ่งความทุกข์ระยะยาวได้ ดังนั้น ก่อนที่จะติดนิสัยอู้งาน เราควรเห็นคุณค่าเวลาชีวิตและความรับผิดชอบต่อองค์กร โดยฝึกควบคุมตนเอง รู้ว่าเวลาใดควรทำสิ่งใด ควรใช้เวลางานเพื่อสร้างงาน สร้างชีวิต เพื่อให้เกิดประสิทธิภาพและผลิตภาพสูงสุดอย่างแท้จริง

 

ศ.ดรเกรียงศักดิ์ เจริญวงศ์ศักดิ์นักวิชาการอาวุโส มหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ดkriengsak@kriengsak.com, http:// www.kriengsak.com

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook