"จำนำข้าว" เขย่า "ออมสิน" เซ ย้อนรอยรัฐบาลชอร์ตเงินก่อนยุบสภา
รัฐบาล "ชอร์ตเงิน" ขาดสภาพคล่องมาจ่ายหนี้จำนำข้าวให้แก่ชาวนานั้นนับเป็นปมร้อนพิฆาตรัฐบาลรักษาการ "ยิ่งลักษณ์" อยู่ในเวลานี้ นับวันอุณหภูมิม็อบชาวนายิ่งร้อนระอุมากขึ้น
ยิ่งช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมา นายกรัฐมนตรีรักษาการ "ยิ่งลักษณ์" ออกมาแถลงโยนเผือกร้อนออกนอกตัวว่า ปัญหาหาเงินจ่ายหนี้จำนำข้าวให้ชาวนากำลังโดนเกมการเมืองสร้างกระบวนการบ่อนทำลาย และรัฐบาลถูกกดดันให้ยุบสภา ทำให้การจัดหาแหล่งเงินทุนหมุนเวียนต้องสะดุดลง
"ประชาชาติธุรกิจ" จึงได้ย้อนรอยเหตุการณ์เรื่องเงินจำนำข้าว พบว่า รัฐบาลมีปัญหาขาดสภาพคล่องในโครงการนี้ตั้งแต่ก่อนยุบสภาแล้ว
นับจากวันที่ 3 ก.ย. 56 คณะรัฐมนตรี (ครม.) ได้อนุมัติโครงการรับจำนำข้าว (ทั้งนาปีและนาปรัง) ด้วยกรอบวงเงิน 2.7 แสนล้านบาท ปริมาณข้าว 16.5 ล้านตัน โดยให้คลัง "จัดหาเงินทุน" โดยคาดว่าจะต้องใช้เงินกู้ 1.3 แสนล้านบาท ที่เหลือมาจากเงินระบายข้าวของกระทรวงพาณิชย์
เมื่อโครงการนี้เริ่มนับหนึ่งตั้งแต่ 1 ต.ค.ปรากฏว่า ธ.ก.ส.ไม่สามารถจ่ายเงินแก่ชาวนาได้ เมื่อการระบายข้าว ทำยอดขายได้ต่ำกว่าเป้าที่ต้องได้เงิน 2.2 แสนล้านบาท ส่งผลให้โครงการนี้ "ขาดสภาพคล่อง" แม้ ธ.ก.ส.ยอมให้ใช้ "สภาพคล่อง" ของธนาคารไปก่อน พอรัฐบาลต้องดึงงบประมาณปี 2557 มาจ่ายหนี้คืน ธ.ก.ส. ก็ทำให้มีวงเงินเหลือจ่าย 2.6 หมื่นล้านบาท ก็ทยอยจ่ายแบบ "จำกัดจำเขี่ย" ตามลำดับให้กับชาวนาที่ลงทะเบียนไว้ แต่เมื่อหมดก้อนนี้ก็ไม่มีเงินใหม่เข้ามาจ่ายใบประทวนที่ประเดประดังเข้ามามาก
จนกระทั่งรัฐบาลประกาศ "ยุบสภา" เมื่อ 9 ธ.ค. 56 ทำให้เหลือสถานะเป็นรัฐบาลรักษาการ จึงเผชิญวิบากกรรมในการหาแหล่งเงินทันที แม้รัฐบาลจะดิ้นให้คณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ตีความว่า รัฐบาลค้ำประกันเงินกู้เพิ่มดังกล่าว ให้ ธ.ก.ส.ได้หรือไม่ ซึ่งคำตอบคือ ไม่รับตีความ โดยระบุว่า เป็นอำนาจของ ครม. พิจารณาเองให้รอบคอบไม่ให้ขัดแย้งกับรัฐธรรมนูญ มาตรา 181 (3) ทางกระทรวงการคลัง จึงขอหารือกับสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา ก็ได้คำตอบว่า รัฐบาลสามารถปรับปรุงแผนบริหารหนี้โดยค้ำประกันให้ ธ.ก.ส.เพิ่มได้
แต่ว่า แม้มีช่องทางให้เปิดประมูลวงเงินกู้(เทอมโลน) ได้ก็ปรากฏว่า "ล้มเหลว" เพราะไม่มีสถาบันการเงินใดกล้าเข้าร่วมประมูล ด้วยหวั่นมีความเสี่ยงทางกฎหมาย
ที่สุดรัฐบาลต้องใช้ธนาคารออมสินมาแก้ขัด ด้วยวิธี "กู้เงิน" ในตลาดอินเตอร์แบงก์ก้อนแรกจำนวน 5 พันล้านบาท ให้แก่ ธ.ก.ส. ซึ่งมีเอกสารระบุด้วยว่า ทางฝ่าย ธ.ก.ส.ได้ทำหนังสือขอวงเงินกู้ไปยังออมสิน ตั้งแต่วันที่ 7 ม.ค. เตรียมไว้ก่อนหน้าแล้ว
เมื่อข่าวปูด "ออมสินให้เงินกู้ ธ.ก.ส. จ่ายหนี้ชาวนา" ในวันที่ 13 ก.พ. 57 ยังสืบสาว กลับไปได้อีกว่า ยังมีแผนให้ธนาคารกรุงไทยปล่อยกู้อินเตอร์แบงก์อีก 2 หมื่นล้านบาทรวมถึงมีแผนกู้ผ่านตลาดนธบัตรด้วย
ภายในไม่กี่วันจากนั้น เกิดปรากฏการณ์คนแตกตื่นแห่ถอนเงินฝากจากธ.ออมสินวันแรก 3 หมื่นล้านบาท แม้จะมีเงินฝากจากรัฐวิสาหกิจเข้ามาอุด "เลือดที่ไหลออก" เพื่อประคองแบงก์ไม่ให้เซในพริบตา
ความน่าเชื่อถือของธ.ออมสิน ยังหล่นวูบต่ออย่างรวดเร็ว คนถอนเงินตลอดทั้งสัปดาห์ (17-20 ก.พ.) มียอดถอนเงินถึง 1.077 แสนล้านบาท มากกว่าเงินฝากเข้าเรียกว่ารัฐบาลผ่านเข้ามาโฉบเงินแวบเดียว 5 พันล้านบาท
แต่คราบความเสียหายใหญ่หลวงยังคงอยู่ในแบงก์ "เลือดยังไหลออกอยู่" แม้ว่า ธ.ก.ส. ก็ยินดีคืนเงินส่วนนี้เพื่อดับปมร้อน พร้อมออกตัวว่า การกู้เงินที่เกิดขึ้นครั้งนี้มีกระทรวงการคลัง "จัดหา" และ "ค้ำประกัน" ทำให้ถูกมองว่า การกู้อินเตอร์แบงก์
ครั้งนี้เป็น "ธุรกรรมอำพราง"ส่งผลให้ "วรวิทย์ ชัยลิมปมนตรี" ผู้อำนวยการธนาคารออมสิน สังเวยความรับผิดชอบด้วยการลาออก และทางคณะกรรมการธนาคารออมสิน มีมติยกเลิกให้กู้วงเงิน 2 หมื่นล้านบาท พร้อมให้เรียกเงินจาก ธ.ก.ส.คืน 5 พันล้านบาทด้วย ซึ่งเมื่อวันที่ 19 ก.พ. ออมสินได้รับเงินกู้คืนจาก ธ.ก.ส. และคลังจ่ายดอกเบี้ยให้
แต่ตราบาปนี้ยังอยู่ในใจคน จึงมีเสียงเรียกร้องให้ปลดบอร์ดทั้งชุดนี้ด้วย ฟากธนาคารกรุงไทย ที่ยังไม่ได้เข้ามาร่วมวงนี้ ยังต้องรีบปฏิเสธหนีตายทันที
ปรากฏการณ์นี้สะท้อนรัฐบาลบริหารผิดพลาดอีกครั้ง ที่กล้าเล่นกับความเชื่อมั่นของผู้ฝากเงินกับสถาบันการเงิน "ยิ่งลักษณ์" กล้าดึงแบงก์ออมสินเข้ามาตายแทน ทั้งที่ประเทศไทยเคยมีบทเรียนแบงก์ล้ม ทรัสต์ล้มในอดีต จนเกิดวิกฤตหลายระลอกแล้ว
อวสานของนโยบายประชานิยม "โครงการรับจำนำข้าว" ที่ฝืนกลไกตลาด โดยไม่ฟังเสียงทักท้วงจากคนรอบข้าง ขณะนี้เป็นแรงระเบิดอัดใส่กลับรัฐบาล "ยิ่งลักษณ์" แล้ว เพราะม้อบชาวนายังหลั่งไหลมา และยังมีความเสียหายสาหัสอีกมากที่รอปะทุขึ้นอีก
นับถอยหลัง "ฉากจบ" โครงการนี้