สหพัฒน์โดนพม่าละเมิดลิขสิทธิ์ ฉกผงซักฟอก "โปร" ไปครอง

สหพัฒน์โดนพม่าละเมิดลิขสิทธิ์ ฉกผงซักฟอก "โปร" ไปครอง

สหพัฒน์โดนพม่าละเมิดลิขสิทธิ์ ฉกผงซักฟอก "โปร" ไปครอง
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

ไทยรอลุ้น เม.ย.นี้สหรัฐถอดไทยออกจากบัญชี PWL หรือไม่ อ้างเหตุแก้กฎหมายไม่ได้ตามที่มะกันขอ "สหพัฒน์"เจอดี โดนพม่าขโมยเครื่องหมายการค้าผงซักฟอกยี่ห้อ"โปร" วิ่งโร่ขอกรมทรัพย์สินฯช่วย ส่อเค้าฟ้องเอาคืนลำบาก

นางกุลณี อิศดิศัย รองอธิบดีและรักษาการอธิบดีกรมทรัพย์สินทางปัญญา เปิดเผยว่า เดือนกุมภาพันธ์ที่ผ่านมา กรมได้ส่งข้อมูลการดูแลทรัพย์สินทางปัญญาและแนวทางที่แก้ไขที่สหรัฐต้องการให้ไทยเร่งดำเนินการ ไปยังสำนักงานผู้แทนการค้าสหรัฐ (ยูเอสทีอาร์) แล้ว เพื่อประกอบการพิจารณาปลดไทยออกจากบัญชีประเทศที่ต้องจับตามองเป็นพิเศษ (PWL) ที่คาดว่าสหรัฐจะประกาศผลในเดือนเมษายนนี้ โดยหวังว่าสหรัฐจะพิจารณาแนวการป้องปรามการละเมิดทรัพย์สินทางปัญญาของไทย แต่ไทยยังติดขัดในเรื่องการแก้กฎหมายด้านทรัพย์สินทางปัญญา 4 ฉบับตามที่สหรัฐฯเสนอมา คือ ประเด็นเอาผิดการแอบถ่ายในโรงภาพยนตร์ เอาผิดเจ้าของพื้นที่ที่ยอมให้เปิดขายสินค้าละเมิด ให้อำนาจเจ้าหน้าที่กรมศุลกากรในการตรวจสินค้าละเมิด เอาผิดการกระทำผิดบนเครือข่ายอินเตอร์เน็ต และคอมพิวเตอร์ ซึ่งกรมได้ยกร่างแก้ไขกฎหมายแล้ว เพียงแต่รอการพิจารณาของสภาผู้แทนราษฎร และรัฐบาลใหม่

"คงไม่ยืนยันว่าจะได้ปลดหรือคงสถานะ PWL แต่เราได้ปฏิบัติการเต็มที่ แต่การเมืองไทยตอนนี้อาจทำให้ขั้นตอนการพิจารณากฎหมายและการเข้าปราบปรามที่ต้องประสานกับหน่วยงานอื่นๆ 15 หน่วยงานนั้นมีปัญหาบ้าง เมื่อการเมืองคลี่คลายและมีรัฐบาลใหม่ ก็จะทำให้แผนงานเดินหน้าได้เร็วขึ้น" นางกุลณีกล่าว 

นางกุลณีกล่าวว่า ล่าสุด ได้รับการแจ้งจากบริษัท สหพัฒนพิบูล จำกัด (มหาชน) ว่า ถูกพ่อค้าในพม่านำเครื่องหมายการค้าผงซักฟอกของบริษัทยื่นจดคุ้มครองฯ ทำให้ได้รับความเสียหายและกำลังดำเนินการร้องเรียน ซึ่งอยากให้เป็นตัวอย่างของผู้ประกอบการไทยที่จะจัดส่งสินค้าไปขาย ควรมีการจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าคุ้มครองไว้ก่อน 

แหล่งข่าวจากผู้บริหารเครือสหพัฒน์กล่าวว่า ขณะนี้บริษัทเกิดปัญหาถูกละเมิดลิขสิทธิ์จากการส่งสินค้าเข้าไปขายพม่า คือ ผงซักฟอก ยี่ห้อ "โปร" โดยถูกผู้ประกอบการในพม่านำยี่ห้อไปจดลิขสิทธิ์ในช่วง 1 ปีที่ผ่านมา ทำให้บริษัท ไลอ้อน (ประเทศไทย) จำกัด ต้องดำเนินการส่งเรื่องโต้แย้งต่อกรมทรัพย์สินทางปัญญา และหน่วยงานรัฐของพม่าว่าเป็นสินค้าของไทยและมีการจดสิทธิบัตรในไทยและมีขายในไทยมากว่า 10 ปีแล้ว รวมทั้งจดสิทธิบัตรในพม่าด้วย

อย่างไรก็ตาม ยอมรับว่าบริษัทค่อนข้างเสียเปรียบ เพราะกฎหมายของพม่าค่อนข้างดูแลผู้ประกอบการในประเทศ ขณะที่บริษัทก็จดสิทธิบัตรช้าไป ดังนั้น จึงต้องต่อสู้ทางข้อกฎหมายอย่างเต็มที่ โดยประสบการณ์ดังกล่าวทำให้บริษัทต้องดูแลสินค้าชนิดอื่นในกลุ่มที่ส่งไปขายและเร่งจดสิทธิบัตรโดยเร็ว

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook