ผ่าขุมทรัพย์ "รัฐฉาน" ทำเลทองแห่งอุดรอุษาคเนย์
หากตรวจหาแหล่งขุมทรัพย์ในภูมิภาคอาเซียนตอนบนที่แผ่คลุมพื้นที่ลุ่มน้ำสาละวินทางแถบพม่าและลุ่มน้ำโขงทางด้านสามเหลี่ยมทองคำซึ่งเป็นจุดประชิดชายแดนจีน-พม่า-ลาว-ไทย"รัฐฉาน"ซึ่งตั้งอยู่ทางภาคตะวันออกเฉียงเหนือของพม่า ถือเป็นสุดยอดทำเลทองที่ยั่วตายั่วใจนักลงทุนต่างชาติจนต้องตัดใจเดินทางเข้ามาศึกษาลู่ทางทำมาค้าขายกันอย่างต่อเนื่อง
โดยในทางภูมิรัฐศาสตร์รัฐฉานถือเป็นประตูเชื่อมต่อ(Gateway)หรือสะพานบก (Land Bridge) ที่เอื้อประโยชน์ต่อการรังสรรค์นวัตกรรมทางโลจิสติกส์ ซึ่งไล่เรียงตั้งแต่จีนตอนใต้ ผ่านพม่าตอนกลางแล้วไปตกลงทะเลที่อ่าวเบงกอลและมหาสมุทรอินเดีย หรือจากจีนตอนใต้เข้าไปยังภาคอีสานของอินเดียและเขตเอเชียอาคเนย์ตอนบน ซึ่งความโดดเด่นดังกล่าวสามารถพบเห็นได้จากการพัฒนาโครงข่ายถนนสายเอเชีย (Asian Highway) อย่างเช่น เส้นทางสาย R3B ที่เริ่มจากอำเภอแม่สาย เชียงราย ผ่านเมืองท่าขี้เหล็ก-เชียงตุงของรัฐฉาน แล้วไปออกสถานีปลายทางที่เชียงรุ่ง สิบสองปันนาของจีน
ส่วนในทางภูมิศาสตร์กายภาพ รัฐฉานก็เปรียบกับแดนสวรรค์สำหรับการลงทุนประจำเขตภาคพื้นทวีปตอนใน (Hinterland) สังเกตได้จากสัณฐานภูมิประเทศที่ยกตัวขึ้นสูงจากระดับน้ำทะเลราว ๆ 3,000-6,000 ฟุต พร้อมด้วยแนวเทือกเขา ป่าไม้สีเขียวและธารน้ำเชี่ยวกรากที่ไหลเซาะผ่านโตรกหินจนก่อเกิดเป็นน้ำตกหรือแอ่งหุบเหวจำนวนมาก ซึ่งส่งผลให้รัฐฉานกลายเป็นจุดยุทธศาสตร์การท่องเที่ยวและการสร้างเขื่อนพลังไฟฟ้า
โดยเห็นได้จากเครือข่ายเขื่อนพลังน้ำของจีนที่สร้างกั้นแควสาขาต่างๆ ของแม่น้ำสาละวิน หรือการก่อตัวของแหล่งท่องเที่ยวทางธรรมชาติ ตลอดจนสวนครัวลอยน้ำบนผืนทะเลสาบอินเล และไร่องุ่นหรือไร่ผลไม้เมืองหนาวตรงเขตปริมณฑลรอบเมืองตองจี ซึ่งนอกจากจะเป็นแหล่งท่องเที่ยวทางการเกษตรแล้ว ยังกลายเป็นวัตถุดิบสำหรับการพัฒนาอุตสาหกรรมผลิตไวน์และผลไม้กระป๋องของพม่า โดยในปัจจุบันทั้งนักลงทุนชาวจีน ญี่ปุ่น สหรัฐ ยุโรป ไทย สิงคโปร์ ต่างเดินทางเข้ามาสำรวจทรัพยากริในรัฐฉานอย่างต่อเนื่อง
แต่กระนั้น ธุรกิจที่ล่อตาล่อใจเหล่าเป็นอันดับต้นๆ ก็คงหนีไม่พ้นสัมปทานถ่านหินและเหมืองแร่ในเขตขุนเขา เนื่องจากหลังมีการเจรจาสงบศึกระหว่างรัฐบาลพม่ากับกองกำลังกลุ่มชาติพันธุ์ ดูเหมือนว่าแปลงสินแร่อย่างทองคำ ทองแดง ถ่านหิน หยกและแร่อัญมณีนานาชนิด ซึ่งเคยถูกยึดครองโดยกองกำลังฝ่ายต่อต้านรัฐบาล ต่างค่อย ๆ ถูกปลดล็อกเร่ขายให้กับต่างชาติมากขึ้น จนทำให้เกิดการสำรวจเหมืองแร่ หรือการเจรจาแบ่งสูตรรายได้ระหว่างนักลงทุนต่างชาติ กับผู้นำกองกำลังชนชาติพันธุ์และรัฐบาลพม่ากันอย่างจอแจฟู่ฟ่า
ขณะเดียวกันการให้ความช่วยเหลือเทคนิควิทยาการเกษตรเพื่อพัฒนาพื้นที่เพาะปลูกในรัฐฉาน ก็ถือเป็นอีกหนึ่งช่องทางที่กำลังเป็นที่ต้องการของผู้นำชนชาติพันธุ์ต่าง ๆ ตัวอย่างเช่น พลโทเจ้ายอดศึกแห่งกองทัพรัฐฉานภาคใต้ (SSA-S/ Shan State Army-South) ที่กำลังสนใจทำสินค้าสไตล์ OTOP โดยเตรียมแบ่งโซนในพื้นที่ครอบครองเพื่อผลิตพืชผลประจำท้องถิ่น เช่น กาแฟ ข้าวโพด ถั่วเขียว ซึ่งพร้อมส่งออกมายังพื้นที่ภาคเหนือของไทย หรือภาคใต้ของจีน
เพียงแต่ว่าสภาวะขาดแคลนเทคโนโลยีแผนใหม่ ก็อาจเป็นตัวเร่งเร้าให้หน่วยงานราชการหรือภาคธุรกิจนานาชาติ เริ่มสนใจเข้าไปเผยแพร่ความรู้ทางการเกษตรในรัฐฉาน เพื่อแลกกับผลตอบแทนการลงทุน
คงจะปฏิเสธไม่ได้ว่า รัฐฉาน คือ สาวแรกรุ่นที่กำลังเนื้อหอมจนหนุ่ม ๆ ต่างหลงรักคลั่งไคล้และเร่ขายขนมจีบจนหัวบันไดไม่แห้ง ประกอบกับความใกล้ชิดทางภูมิศาสตร์ระหว่างรัฐฉานกับพื้นที่ภาคเหนือของไทย หรือเครือข่ายความสัมพันธ์วัฒนธรรมระหว่างชาวไทใหญ่ ชาวไทเขิน และชาวไทยวน (โยนก) ที่มีความเกี่ยวโยงกันทางประวัติศาสตร์ เช่น สายใยระหว่างเจ้าผู้ครองนครเชียงใหม่กับเจ้าฟ้าแห่งเขมรัฐเชียงตุง ก็ล้วนแล้วแต่เป็นปัจจัยหนุนที่ทำให้รัฐฉาน กลายเป็นทำเลทองที่พร้อมจะรังสรรค์ผลประโยชน์อันมหาศาลให้กับประเทศไทย
หากแต่ว่าสิ่งที่นักลงทุนไทยยังคงต้องเฝ้าระวังและประเมินกันให้รอบคอบก็คงได้แก่ภูมิทัศน์การเมืองภายในรัฐฉานซึ่งเต็มไปด้วยกลุ่มอิทธิพลและเจ้าพ่อมาเฟียมากหน้าหลายตาไม่ว่าจะเป็นทหารพม่าหรือทหารชนกลุ่มน้อยต่าง ๆ เช่น ว้าแดง ไทใหญ่เหนือ ไทใหญ่ใต้ ที่ยังพยายามเตรียมเกณฑ์ชาวบ้านหรือสะสมอาวุธเพื่อคุมเชิงหยั่งกำลังกันอยู่ (แม้จะมีการเจรจาสันติภาพแล้วก็ตาม) หรือการปรากฏตัวของอาณาจักรธุรกิจนอกระบบที่ใหญ่โตมโหฬาร เช่น บ่อนกาสิโนที่เมืองลาและเมืองปางซาง พร้อมย่านธุรกิจตลาดมืดอีกสารพัดรูปแบบในเขตสามเหลี่ยมทองคำ
ฉะนั้นแล้ว รัฐฉานจึงเป็นทั้งแดนสวรรค์และแดนสนธยาที่นักลงทุนไทยจำเป็นต้องศึกษาให้ทะลุปรุโปร่งก่อนที่จะทุ่มเม็ดเงินมหาศาลเข้าไปเก็บเกี่ยวผลประโยช์กันอย่างจริงจังเพราะยังคงมีทั้งจุดเสี่ยงและจุดคุ้มทุนที่จะต้องพิจารณาอย่างรอบด้านโดยเฉพาะความซับซ้อนทางการเมือง-ชาติพันธุ์ที่ดำรงอยู่ยาวนานและคู่ขนานไปกับความร่ำรวยทางทรัพยากรของรัฐฉานนับตั้งแต่อดีตจวบจนปัจจุบัน
บทความโดย
ดุลยภาค ปรีชารัชช
อาจารย์ประจำโครงการเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์