"จีน" คลอดแผนเศรษฐกิจ เน้นสร้างงาน ต้านมลพิษ

"จีน" คลอดแผนเศรษฐกิจ เน้นสร้างงาน ต้านมลพิษ

"จีน" คลอดแผนเศรษฐกิจ เน้นสร้างงาน ต้านมลพิษ
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

รอยเตอร์ส รายงานว่า ในการประชุมใหญ่สภาที่ปรึกษาทางการเมืองแห่งชาติจีน (CPPCC) หนึ่งในประเด็นที่ถูกจับตามองจากทั่วโลกคือตัวเลขเป้าหมายการเติบโตประจำปี ซึ่งสะท้อนถึงการจัดลำดับความสำคัญของรัฐบาลจีนว่าเรื่องใดเป็นภารกิจอันดับ ต้น ๆ ที่ต้องทำให้สำเร็จ

สำหรับปีนี้ หลังนายกรัฐมนตรี หลี่ เค่อเฉียง ประกาศเป้าที่ 7.5% ก็มีเสียงวิพากษ์วิจารณ์แตกเป็น 2 ขั้ว ฝ่ายหนึ่งมองว่าเป็นระดับที่เหมาะสม และส่งสัญญาณว่ารัฐบาลปักกิ่งต้องการขับเคลื่อนเขตเศรษฐกิจเบอร์ 2 ของโลกให้ขยายตัวอย่างเนื่อง ซึ่งจะสร้างอานิสงส์ให้กับเศรษฐกิจโลกอีกทอด แต่อีกฝ่ายตั้งข้อสังเกตว่าทางการจีนตั้งเป้าไว้สูงเกินไปและไม่สอดคล้องกับ แผนการปรับโครงสร้างเศรษฐกิจ นอกจากนี้ยังมองว่าจีนควรลดตัวเลขเป้าหมายการเติบโตลงมา เพื่อแสดงให้เห็นว่าจีนพร้อมอดทนกับการชะลอตัวเพื่อผลักดันการปฏิรูปให้ สัมฤทธิผล

อย่างไรก็ตาม ภายหลังการส่งสัญญาณที่สับสนดังกล่าว นายหลัว จีเว่ย ขุนคลังของจีนได้ออกมาสยบการตีความไป
ต่าง ๆ นานาของนักลงทุนว่าไม่ใช่เรื่องใหญ่ ถ้าปีนี้จีนจะพลาดเป้าการเติบโตไปบ้าง พร้อมย้ำว่าการสร้างตำแหน่งงานเป็นเรื่องสำคัญกว่า "เรามีเป้าหมายทางเศรษฐกิจ 3 อย่างในปีนี้ ได้แก่สร้างงาน ควบคุมเงินเฟ้อ และกระตุ้นเศรษฐกิจ สิ่งที่สำคัญที่สุดคือประการแรก" และ "ไม่ว่าจะโต 7.3% หรือ 7.2% ก็ถือว่าใกล้เคียงกับ 7.5% ตามที่ตั้งไว้"

ปีนี้รัฐบาลจีน ตั้งเป้าสร้างตำแหน่งงานให้ได้อย่างน้อย 10 ล้านตำแหน่งในเขตเมือง และดูแลไม่ให้การว่างงานในเขตเมืองสูงเกิน 4.6% นักวิเคราะห์มองว่าสาเหตุที่จีนให้ความสำคัญกับประเด็นนี้ เป็นเพราะการว่างงานเป็นต้นตอของอาชญากรรมและความมวุ่นวายทางสังคม ซึ่งเป็นภัยคุกคามความมั่นคงของพรรคคอมมิวนิสต์ และสั่นคลอนบัลลังก์ของประธานาธิบดีสี จิ้นผิง ที่เพิ่งรับตำแหน่งเมื่อปีกลาย

ในที่ประชุม นายหลี่ เค่อเฉียงยังให้คำมั่นด้วยว่า จะประกาศสงครามกับมลพิษ ซึ่งเป็นผลพวงจากการพัฒนาเศรษฐกิจหลายปีที่ผ่านมา โดยย้ำว่าให้ความสำคัญในระดับเดียวกับการต่อสู้กับความยากจน

การเติบโตแบบก้าวกระโดดกว่า 3 ทศวรรษ เปลี่ยนจีนจากประเทศเกษตรกรรมยากจนมาเป็นมหาอำนาจทางเศรษฐกิจของโลก แต่ก็มาพร้อมกับผลข้างเคียงไม่พึงประสงค์หลายอย่าง อาทิ ปัญหาสิ่งแวดล้อม คอร์รัปชั่น หนี้เน่าก้อนโตของรัฐบาลท้องถิ่น และช่องว่างระหว่างคนรวยกับคนจนที่ทวีความรุนแรงขึ้นหลายปีที่ผ่านมา เป้าหมายการเติบโตเป็นศูนย์กลางของแผนขับเคลื่อนเศรษฐกิจที่กำหนดโดยรัฐบาลกลาง ซึ่งตลอด 25 ปี

ก่อนหน้านี้ จีนมีอัตราการขยายตัวของจีดีพีเกินเป้ามาโดยตลอด อาทิ ปีที่แล้วโต 7.7% จากที่ตั้งเป้าไว้ 7.5% ข้อมูลจากสแตนดาร์ดชาเตอร์ดชี้ว่าครั้งล่าสุดที่จีนโตต่ำกว่าเป้าคือปี 2532 แต่ปีนี้เศรษฐกิจที่เคยรุ่งโรจน์ของจีนเผชิญมรสุมหลายรูปแบบ เว่ย เหยา นักเศรษฐศาสตร์จากธนาคารโซซิเอเต้ เจนเนอรัล แจกแจงกับ วอลล์สตรีต เจอร์นัล ว่ามีตั้งแต่การชะลอตัวของภาคอสังหาริมทรัพย์ หนี้สินที่สูงลิ่วทั้งในภาครัฐและเอกชน รวมถึงค่าแรงที่ปรับตัวสูงขึ้นกดดันให้นักลงทุนต่างชาติทยอยย้ายฐานการผลิต ไปยังประเทศที่ต้นทุนต่ำกว่า อย่างบังกลาเทศ กัมพูชา หรือเวียดนาม

เว่ย เหยามองว่าเป็นเรื่องยากสำหรับรัฐบาลจีนที่จะกระตุ้นการเติบโตให้สูงถึงเป้า พร้อม ๆ ไปกับควบคุมดูแลความเสี่ยงในตลาดการเงิน ตลอดจนรักษาสภาพแวดล้อม "เรามองว่าเป็นภารกิจที่เป็นไปไม่ได้ ที่จะบรรลุเป้าทุกเรื่องตามที่นายกฯหลี่ เค่อเฉียงประกาศไว้ โดยไม่ลดเป้าการเติบโตลงมา หรือพูดอีกอย่างก็คือถ้าจีนต้องการเติบโตให้ได้ตามเป้า การก่อหนี้ก็ต้องเพิ่มขึ้นเป็นเงาตามตัว ซึ่งจะเป็นอุปสรรคต่อการปฏิรูปเชิงโครงสร้าง"

นับจากสี จิ้นผิงก้าวขึ้นกุมบังเหียนประเทศ ก็ประกาศจะปรับทิศทางการพัฒนา โดยหันมาใส่ใจกับคุณภาพมากกว่าปริมาณการเติบโต และวางแผนเปลี่ยนโครงสร้างเศรษฐกิจจีนจากปัจจุบันเน้นพึ่งพาการส่งออกและลงทุน มาเป็นการขับเคลื่อนด้วยการบริโภคภายในประเทศเป็นหลัก ซึ่งจะช่วยลดผลกระทบจากความผันผวนของเศรษฐกิจโลก อย่างที่จีนเคยประสบมาแล้วช่วงวิกฤตแฮมเบอร์เกอร์ 2551-2552

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook