"ยุโรป" แพร่เชื้อเงินฝืด หวั่นพ่นพิษเศรษฐกิจโลก

"ยุโรป" แพร่เชื้อเงินฝืด หวั่นพ่นพิษเศรษฐกิจโลก

"ยุโรป" แพร่เชื้อเงินฝืด หวั่นพ่นพิษเศรษฐกิจโลก
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

แม้จะเผชิญมรสุมทางเศรษฐกิจครั้งใหญ่ แต่ยูโรโซนยังคงเป็นผู้ส่งออกรายใหญ่ ผลิตสินค้าหลายชนิดออกขายทั่วโลก อาทิ รถยนต์หรูจากเยอรมัน ไวน์พรีเมี่ยมจากฝรั่งเศส อาหาร และเสื้อผ้าจากอิตาลี แต่สินค้าออกล่าสุดของยูโรโซนอย่าง "ภาวะเงินฝืด" มีแนวโน้มจะสร้างความเสียหายรอบใหม่ให้กับเศรษฐกิจโลก


จากรายงานของ มาร์เก็ตวอตช์ ระดับราคาเริ่มปักหัวลงให้แทบทุกประเทศของกลุ่มผู้ใช้เงินสกุลยูโร อัตราเงินเฟ้อในกรีซและไซปรัสติดลบอย่างต่อเนื่อง ส่วนโปรตุเกสกับสเปนก็อยู่ห่างจากภาวะดังกล่าวเพียงเส้นบางๆ เท่านั้น ด้านเยอรมนีกับฝรั่งเศสมีแนวโน้มขยับใกล้ภาวะนั้นมากขึ้น

แม้ที่ประชุมธนาคารกลางยุโรป (ECB) ในสัปดาห์ที่แล้วจะยังไม่มีมติเพิ่มเติมเพื่อรับมือเงินฝืด แต่ก็ไม่ใช่เป็นเพราะเห็นว่าปัญหานี้ไม่ร้ายแรง ทว่าเนื่องจากบอร์ดยังตกลงกันไม่ได้ถึงเครื่องมือและวิธีการ

สิ่งหนึ่งที่เป็นบทเรียนในช่วง 2 ทศวรรษที่ผ่านมาคือผลกระทบจากนโยบายการเงินของประเทศหนึ่งจะแผ่ขยายไปยัง ประเทศอื่นๆ โดยเฉพาะถ้าประเทศที่ใช้นโยบายมีขนาดเศรษฐกิจลำดับต้นๆ ของโลก ญี่ปุ่นเป็นตัวอย่างที่ชัดเจน ไม่กี่ทศวรรษก่อนระหว่างที่เศรษฐกิจญี่ปุ่นยังรุ่งเรือง เงินร้อนจากแดนปลาดิบผลักดันให้ราคาสินทรัพย์ทั่วโลกพุ่งทะยาน หรือกระแสเงินทุนจากมาตรการผ่อนคลายเชิงปริมาณของธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) กระตุ้นราคาสินทรัพย์ในประเทศตลาดเกิดใหม่ และฉุดให้ราคาหดหลังเฟดเริ่มถอนยา

ส่วนยูโรโซนแม้ไม่ได้ส่งออกเงินร้อน แต่ก็เริ่มส่งออกภาวะเงินฝืดไปทั่วโลก หลังวิกฤตหนี้สาธารณะเริ่มคลี่คลายบ้างแล้ว เงินฝืดกลับเป็นอุปสรรคชิ้นใหญ่ให้ผู้กำหนดนโยบายต้องกุมขมับ อัตราเงินเฟ้อของยูโรโซนเดือนกุมภาพันธ์ที่ผ่านมาอยู่ที่ 0.8% เทียบปีต่อปี ซึ่งต่ำกว่าเป้า 2% ของอีซีบีเกินครึ่ง และยังไม่มีแนวโน้มจะกระเตื้องขึ้นในอนาคตอันใกล้ เพราะดีมานด์ยังทรุด และถ้าพิจารณาตัวเลขเงินเฟ้อเทียบเดือนต่อเดือนจะน่าตกใจยิ่งกว่า เพราะพบว่าเดือนมกราคมระดับราคาลดลงในแทบทุกประเทศของยูโรโซน ยกเว้นสมาชิกน้องใหม่อย่างลัตเวีย เอสโตเนีย และสโลวะเกีย โดยหดลง 2.1% ในเดือนเดียว

การที่สินค้าราคาถูกลงน่าจะเป็นประโยชน์ต่อผู้บริโภค ซึ่งก็อาจจะเป็นเช่นนั้น ถ้าเศรษฐกิจยูโรโซนอยู่ในภาวะปกติ แต่เพราะสมาชิกยูโรโซนส่วนใหญ่ถูกรุมเร้าด้วยปัญหาหลายอย่าง ระดับราคาที่ลดลงกลับส่งผลเสีย

เนื่องจากประเทศยุโรปใต้ที่เศรษฐกิจยังทรงๆ ทรุดๆ มีสัดส่วนหนี้สินต่อจีดีพีสูงมาก ภาวะเงินฝืดจะทำให้มูลค่าที่แท้จริงของหนี้สูงขึ้น เพิ่มความยากลำบากให้กับรัฐบาลในการหาเงินมาชำระหนี้ อีกประการคือหลายประเทศพยายามเพิ่มศักยภาพในการแข่งขันโดยปรับลดค่าจ้างหรือ ลดคนงาน หวังหั่นต้นทุนการผลิตเพื่อให้สินค้าจากประเทศของตัวเองมีที่ยืนในตลาดโลก จาก 2 สถานการณ์ข้างต้นหมายความว่า ขณะที่มูลค่าที่แท้จริงของหนี้ขยับขึ้น แต่ความสามารถในการหาเงินมาชำระหนี้กลับลดลง เพราะประชาชนโดนหั่นค่าจ้างหรือให้ออกจากงาน ซึ่งพลอยทำให้รายได้ภาษีของรัฐร่วงตามไปเป็นลูกโซ่

ยิ่งไปกว่านั้น เมื่อสินค้ามีราคาถูกลง แทนที่ผู้บริโภคจะใช้จ่ายมากขึ้น กลับพากันปิดกระเป๋าเงินแน่น เพราะคาดว่าราคาจะลดลงอีกในอนาคต ผู้ผลิตจึงขายของได้น้อย ทำให้ต้องลดค่าจ้างหรือปลดคนงานเพิ่ม ยิ่งทำให้ครัวเรือนมีกำลังซื้อต่ำลง สินค้าก็ยิ่งขายไม่ออก วนเวียนเป็นวัฏจักรเลวร้าย คล้ายกับที่เคยเกิดขึ้นในญี่ปุ่น

ในยุคโลกาภิวัตน์ ที่ทุกอย่างเชื่อมถึงกันหมด ผลกระทบในประเทศหนึ่งจะส่งผ่านไปยังอีกประเทศอย่างรวดเร็ว จนถึงขณะนี้ อังกฤษที่เป็นคู่ค้าสำคัญของยูโรโซนเริ่มได้รับผลกระทบบ้างแล้ว เห็นได้จากอัตราเงินเฟ้อของแดนผู้ดีซึ่งเคยอยู่ในระดับสูงมานาน กลับลดลงเหลือ 1.9% ในเดือนมกราคมที่ผ่านมา ซึ่งต่ำกว่าเป้าของธนาคารกลาง และต่ำสุดในรอบกว่า 4 ปี

นอกจากนี้ อังกฤษยังเป็นหนึ่งในประเทศที่มีหนี้สินมากที่สุดในโลก จากบทวิเคราะห์ของบริษัทที่ปรึกษาแมคคินซีย์ หนี้ภาคธุรกิจ หนี้ครัวเรือน และหนี้สาธารณะของอังกฤษรวมกันมีสัดส่วนถึง 500% ของจีดีพี

ข้ามมาอีกฟากของแอตแลนติก อัตราเงินเฟ้อล่าสุดของสหรัฐอยู่ที่ 1.6% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน ซึ่งยังไม่น่ากังวล แต่ถ้าดูตัวเลขเทียบเดือนต่อเดือน จะพบว่าเดือนมกราคมเงินเฟ้อขยับขึ้นเพียง 0.1% เท่านั้น ส่วนญี่ปุ่น อัตราเงินเฟ้อเดือนมกราคมอยู่ที่ 1.4% ซึ่งยังอยู่ห่างไกลจากเป้าหมาย 2% ทั้งๆ ที่รัฐบาลและธนาคารกลางอัดฉีดเงินมหาศาลเข้าสู่ระบบภายใต้นโยบาย "อาเบะโนมิกส์"

ดังนั้น หากเกิดภาวะเงินฝืด ภาครัฐและเอกชนของแดนผู้ดีจะเจอหางเลขอย่างทั่วหน้า

แม้ว่าปัญหาเสถียรภาพด้านราคายังไม่น่าไว้วางใจในหลายประเทศพัฒนาแล้ว แต่ธนาคารกลางของประเทศเหล่านั้นกลับลดยากระตุ้นเศรษฐกิจเพื่อกลับสู่สภาวะปกติโดยเร็ว อาทิ การผ่อนเกียร์คิวอีของเฟด และเมื่อมาตรการดังกล่าวยุติลงทั้งหมด

เป้าหมายต่อไปของเฟดคาดว่าจะเป็นการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยระยะสั้น เช่นเดียวกับธนาคารกลางอังกฤษที่ส่งสัญญาณว่าอาจเริ่มปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยเป็นครั้งแรกนับจากปี 2550 ในปีหน้า

วิกฤตหนี้สาธารณะในยูโรโซนซึ่งสะเทือนไปทั่วโลกยังไม่สิ้นสุดลง และมีแนวโน้มว่าปัญหาเงินฝืดจะกลายเป็นอีกหนึ่งวิกฤตซ้อนเข้ามา ซึ่งอาจพ่นพิษในระดับความรุนแรงไม่ต่างกัน ถ้ายังไม่มีมาตรการรับมือที่เป็นรูปธรรมคลอดออกมาในเร็วๆ นี้

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook