สหกรณ์ประจวบฯลุยเลี้ยงกุ้ง ปราบ EMS โดยไม่ใช้สารเคมี

สหกรณ์ประจวบฯลุยเลี้ยงกุ้ง ปราบ EMS โดยไม่ใช้สารเคมี

สหกรณ์ประจวบฯลุยเลี้ยงกุ้ง ปราบ EMS โดยไม่ใช้สารเคมี
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

สหกรณ์ผู้เลี้ยงกุ้งลุ่มน้ำสามร้อยยอด-ปราณบุรีปราบโรคตายด่วนสำเร็จ เลี้ยงด้วยระบบ FLOG และไม่ใช้สารเคมี อัตรารอดสูงถึง 80-85% "เดชา บรรลือเดช" นำสมาชิกประเดิมเลี้ยงแล้ว

นายเดชา บรรลือเดช ประธานกรรมการดำเนินการสหกรณ์ผู้เลี้ยงกุ้งลุ่มน้ำสามร้อยยอด-ปราณบุรี จำกัด เปิดเผย "ประชาชาติธุรกิจ" ว่า จากการดำเนินการเลี้ยงกุ้งขาวแวนนาไมโดยไม่ใช้สารเคมีมา 2 ครอป กุ้งมีอัตรารอด 80-85% ซึ่งเท่ากับอัตรารอดก่อนการเกิดโรคตายด่วน (อีเอ็มเอส) เมื่อ 2 ปีก่อน ทำให้เกิดความมั่นใจมากขึ้น ล่าสุดได้นำสมาชิกสหกรณ์ผู้เลี้ยงกุ้งลุ่มน้ำสามร้อยยอด-ปราณบุรีประมาณ 20% จากสมาชิกทั้งหมด 270 ราย ประเดิมเลี้ยงกุ้งขาวโดยไม่ใช้สารเคมีแล้ว เพื่อจะได้ถ่ายทอดให้สมาชิกที่เหลือเลี้ยงต่อไป โดยจะมีนักวิชาการสหกรณ์ไปช่วยดูแลเรื่องนอเพลียส อาหารกุ้ง คุณภาพน้ำ ระบบตรวจสุขภาพลูกกุ้งที่จะนำมาเลี้ยงเพื่อให้รอดมากที่สุด

เดิมทางสหกรณ์เลี้ยงกุ้งชีวภาพ สร้างแพลงก์ตอนสัตว์ สัตว์หน้าดิน นำขี้กุ้งและเศษอาหารที่เหลือในบ่อกลับมาเป็นอาหารกุ้ง ก็ทำได้ระดับหนึ่ง แต่เมื่อมีโรคตายด่วนระบาด จึงจำเป็นต้องทำระบบ FLOG คือ จุลินทรีย์หรือแบคทีเรียดีที่ไปต้านเชื้อแบคทีเรียวิบริโอ้ เพื่อให้มีภูมิคุ้มกันกับลูกกุ้งเหมือนเด็กแรกเกิดที่ดูดนมแม่ โดยทำสารแขวนลอยพลางแสงและทำให้ค่าพีเอช น้ำนิ่ง พร้อมกับใช้จุลินทรีย์ที่เป็นประโยชน์ เช่น บาซิลลัส ที่จะเปลี่ยนของเสียเป็นแอมโมเนีย ใช้ไนโตรแฟกเตอร์เปลี่ยนแอมโมเนียเป็นไนไตรต์ และนวัตกรรมล่าสุดคือใช้ไนโตรโครโมนาทเปลี่ยนไนไตรต์เป็นไนเตรต ที่จะเอื้อต่อแพลงก์ตอน เป็นการสร้างอาหารธรรมชาติ ซึ่งผู้เลี้ยงบริษัทขนาดใหญ่ยังไม่สามารถทำได้ รวมทั้งทำค่าเป็นกรด-ด่างหรือพีเอชดินในบ่อที่ 6.5-7 ซึ่งจะช่วยให้ดินปล่อยแร่ธาตุให้แพลงก์ตอนพืช แพลงก์ตอนสัตว์ได้ดี

"ก็เอารำข้าวมาหมักผสมจุลินทรีย์บาซิลลัสเปลี่ยนของเสียเป็นแอมโมเนียข้างต้น จากเดิมใช้รำกับปลาป่นที่ไม่หมัก เป็นประโยชน์ต่อแพลงก์ตอนสัตว์กับสัตว์หน้าดินเท่านั้น ส่วนสารแขวนลอยเมื่อเป่าออกซิเจนใส่จะเป็นตะกอนสารแขวนลอย พอไม่เป่าจะรวมตัวเป็นวุ้นเป็นอาหารกุ้ง สำหรับระบบ FLOG จะควบคุมค่าพีเอช น้ำ แคลเซียม แมกนีเซียมในน้ำให้นิ่ง รวมทั้งออกซิเจน เพราะเดี๋ยวนี้ออกซิเจนตอนกลางวันต่ำ ตอนกลางคืนสูง ผิดจากธรรมชาติเดิมที่ออกซิเจนกลางวันสูง ตอนกลางคืนต่ำ"

สำหรับการอนุบาลลูกกุ้งก่อนปล่อยลงเลี้ยงในบ่อใหญ่นั้น นายเดชากล่าวว่า หลังจากมีการทำ "บิ๊กคลีนนิ่งเดย์" โรงเพาะฟักลูกกุ้งครั้งใหญ่ต้นปี 2556 ที่กรมประมงมีการตรวจสอบหลายโรค ทางสหกรณ์จะนำนอเพลียสมาทำระบบ FLOG โดยการชำหรืออนุบาลต่ออีก 25-30 วัน หากปล่อยทันทีจะมีปัญหา ต้องมีการคุมอัลคาไลน์ที่ 150-200 PPM นั่นคือ แคลเซียมและแมกนีเซียมต้องสูง 15 เท่าของ 1 ความเค็มหรือ PPT โพแทสเซียมคลอไรด์ต้องสูง 12 เท่าของ 1 PPT และออกซิเจนต้องสูง 4 PPM ขึ้นไป แต่ต้องไม่มากเกินไป มิเช่นนั้นจะกระทบต่อแพลงก์ตอนที่ใช้คาร์บอนไดออกไซด์

ปริมาณการปล่อยลูกกุ้งลงบ่อใหญ่ 5-6 หมื่นตัว/ไร่ ขนาด P12 หรือ 2.4 แสนตัว/บ่อใหญ่ขนาด 4 ไร่ อัตรารอด 80% ตกประมาณ 2 แสนกว่าตัว น้ำหนักที่ได้ 3.5-3.6 ตัน เลี้ยงประมาณ 3 เดือน ซึ่งการเลี้ยงไม่ใช้สารเคมี เลี้ยงด้วยระบบนี้จะลดต้นทุนอาหารกุ้งได้พอสมควร และการเลี้ยงโดยใช้สารเคมี มีแต่ทำให้กุ้งตายและเป็นหนี้ ดังนั้น หากสมาชิกของสหกรณ์ต้องเดินในแนวทางที่วางไว้ รายใดแอบใช้สารเคมีเลี้ยง ก็ต้องไปเลี้ยงเอง นายเดชากล่าวในตอนท้าย

 

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook