ป.ป.ช.ชงครม.เลิกโครงการจำนำมัน พบเปิดช่องทุจริตสูญเงินงบอื้อ สศช.หนุนแนะพาณิชย์ปรับใหม่

ป.ป.ช.ชงครม.เลิกโครงการจำนำมัน พบเปิดช่องทุจริตสูญเงินงบอื้อ สศช.หนุนแนะพาณิชย์ปรับใหม่

ป.ป.ช.ชงครม.เลิกโครงการจำนำมัน พบเปิดช่องทุจริตสูญเงินงบอื้อ สศช.หนุนแนะพาณิชย์ปรับใหม่
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

แหล่งข่าวจากทำเนียบรัฐบาลเปิดเผยว่า ในการประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) รักษาการ เมื่อวันที่ 18 มีนาคมที่ผ่านมา มีการพิจารณาข้อเสนอแนะของนายปานเทพ กล้าณรงค์ราญ ประธานกรรมการสำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) เรื่องมาตรการป้องกันการทุจริตในการดำเนินโครงการแทรกแซงตลาดมันสำปะหลัง ที่ส่งถึงครม.รักษาการตั้งแต่วันที่ 7 มกราคม 2557 แต่เพิ่งบรรจุวาระในการประชุม ครม.เมื่อวันที่ 18 มีนาคมที่ผ่านมา 

แหล่งข่าวกล่าวถึงเนื้อหาของข้อเสนอว่า ป.ป.ช.ได้รับเรื่องร้องเรียนการดำเนินโครงการแทรกแซงราคามันสำปะหลังปีการผลิต 2554/2555 และปีการผลิต 2555/2556 มีการเอื้อประโยชน์แก่ผู้ประกอบการ อีกทั้ง ป.ป.ช.ได้มอบให้มูลนิธิสถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทยศึกษาวิจัยเรื่องมาตรการแทรกแซงตลาดมันสำปะหลังเพื่อป้องกันการทุจริตพบว่าในช่วงทศวรรษที่ผ่านมาการดำเนินการยังไม่มีประสิทธิภาพ เกิดปัญหาการทุจริต เป็นการสูญเสียงบประมาณเป็นจำนวนมาก ป.ป.ช.จึงเสนอแนะให้ยกเลิกโครงการนี้เพราะเห็นว่าสร้างผลตอบแทนให้เกษตรกรในวงจำกัด แต่สร้างผลกำไรให้ผู้ประกอบการที่เข้าร่วมโครงการจำนวนมาก หากรัฐต้องการช่วยเหลือเกษตรกรอาจใช้การประกันราคาขั้นต่ำให้สูงกว่าต้นทุนการผลิตเพื่อให้เกษตรกรอยู่ได้ แต่ราคาขั้นต่ำไม่ควรตั้งสูงจนเกินไป เป็นต้น 

แหล่งข่าวกล่าวว่า สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) ได้เสนอความเห็นประกอบเพิ่มเติมในครม.ว่าควรมอบหมายให้กระทรวงพาณิชย์ในฐานะฝ่ายเลขานุการคณะกรรมการนโยบายมันสำปะหลังรับข้อเสนอของป.ป.ช.ไปพิจารณาอย่างละเอียด ประสานกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในการสร้างเสถียรภาพราคาและความเข้มแข็งให้อุตสาหกรรมมันสำปะหลังและการผลิตอย่างครบวงจรรวมทั้งวางระบบบริหารจัดการตั้งแต่การจัดทำทะเบียนข้อมูลเกษตรกรลานมัน และโรงแป้งมันที่ชัดเจนสามารถตรวจสอบได้ การป้องกันการลักลอบนำเข้ามันสำปะหลังจากประเทศเพื่อนบ้าน และการจัดการผลผลิตและราคาอย่างเป็นระบบเพื่อให้เกิดการพัฒนาอย่างยั่งยืนในระยะยาวและลดภาระงบประมาณของภาครัฐในการแก้ไขปัญหาราคาสินค้าเกษตรตกต่ำตลอดจนรองรับการแข่งขันกับต่างประเทศหลังเข้าสู่ประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน (เออีซี) ปี 2558 ที่จะไม่เอื้อต่อการแทรกแซงด้านราคาของภาครัฐอีกต่อไป

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook