คลังต่ออายุเว้นภาษีวิสาหกิจชุมชน ยืดยาวถึงปี"59เอสเอ็มอีรายได้ไม่ถึง1.8ล้านเฮ!
คลัง ต่ออายุมาตรการ "ยกเว้นภาษี" วิสาหกิจชุมชนที่มีรายได้ไม่เกิน 1.8 ล้านบาทต่อปี ได้ยกเว้นภาษีถึงปี 2559 อธิบดีสรรพากรยันหนุนเอสเอ็มอีต่อเนื่อง เดินหน้าชงรัฐบาลใหม่เพิ่มหักลดหย่อนค่าใช้จ่ายบุคคลอีก 6 หมื่นบาท โอดเก็บภาษี 5 เดือนพลาดเป้า 9 พันล้าน
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า กระทรวงการคลังได้ออกประกาศ กฎกระทรวง ฉบับที่ 303 (พ.ศ. 2557) ว่าด้วยการยกเว้นภาษีให้แก่วิสาหกิจชุมชน เฉพาะที่เป็นห้างหุ้นส่วนสามัญ หรือคณะบุคคลที่มีเงินได้พึงประเมินไม่เกิน 1.8 ล้านบาทต่อปี โดยเป็นขยายเวลามาตรการอีก 3 ปี ตั้งแต่วันที่ 1 ม.ค. 2557-31 ธ.ค. 2559 จากที่มาตรการได้เริ่มเมื่อปี 2552 และสิ้นสุดไปเมื่อ 31 ธ.ค. 2556 ที่ผ่านมา โดยนายกิตติรัตน์ ณ ระนอง ปฏิบัติหน้าที่รองนายกรัฐมนตรีและ รมว.คลัง ได้ลงนาม และประกาศลงราชกิจจานุเบกษา เมื่อวันที่ 12 มี.ค. 2557
อย่าง ไรก็ดี วิสาหกิจชุมชนจะต้องยื่นแบบแสดงรายการภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา ไม่เช่นนั้นจะมีโทษทางอาญา กรณีไม่ยื่นแบบภายในกำหนดจะปรับไม่เกิน 2,000 บาท แต่หากเจตนาไม่ยื่นแบบเพื่อเลี่ยงภาษีปรับไม่เกิน 5,000 บาท หรือจำคุกไม่เกิน 6 เดือน หรือทั้งจำทั้งปรับ ขณะเดียวกันยังต้องเสียเบี้ยปรับเงินเพิ่ม 2 เท่าของภาษีที่ต้องชำระ หรือยื่นตามกำหนดแต่ชำระไม่ครบ จะเสีย 1 เท่า
นายสุทธิชัย สังขมณี อธิบดีกรมสรรพากร เปิดเผย "ประชาชาติธุรกิจ" ว่า ผู้ประกอบการวิสาหกิจชุมชนที่จะได้รับสิทธิประโยชน์จากมาตรการยกเว้นภาษีดัง กล่าว จะต้องยื่นแบบรายการชำระภาษีสำหรับปีบัญชี 2556 ต้องยื่นภายในเดือน มี.ค.นี้ หากวิสาหกิจชุมชนรายใดมีรายได้ไม่เกิน 1.8 ล้านบาทต่อปี ก็จะได้รับการยกเว้นภาษี
"ผมมีนโยบายที่ต้องการสนับสนุนผู้ประกอบการ เอสเอ็มอีให้มากขึ้น เพราะหากผู้ประกอบการเหล่านี้แข็งแรง ก็จะช่วยเป็นกันชนรองรับการแข่งขันที่มีมากขึ้น ป้องกันการทะลักเข้ามาของสินค้าจากต่างประเทศได้"
นายสุทธิชัยกล่าว อีกว่า ตนยังเดินหน้ามาตรการเพิ่มวงเงินค่าใช้จ่ายเพื่อหักลดหย่อนภาษีเงินได้บุคคล ธรรมดาอีก 6 หมื่นบาท โดยต้องสำแดงใบเสร็จการซื้อสินค้าจากเอสเอ็มอี (จากเดิมหักได้ไม่เกิน 6 หมื่นบาท) ซึ่งมาตรการนี้จะช่วยเพิ่มยอดขายแก่ผู้ประกอบการเอสเอ็มอีได้ ซึ่งกรมได้เตรียมความพร้อมไว้แล้วเพื่อเสนอ รมว.คลัง และรัฐบาลชุดใหม่พิจารณาได้ทันที
"กลุ่มผู้ประกอบการเอสเอ็มอีที่จะ เข้าร่วม จะมีรายได้แค่ไหนก็ได้ ไม่จำเป็นต้องถึง 1.8 ล้านบาทต่อปี เพียงแต่ขอให้มีการจดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่ม (VAT) กับกรมสรรพากร"
สำหรับ ผลการจัดเก็บรายได้ภาษีของกรมสรรพากรในปีงบประมาณ 2557 ถึงสิ้นเดือน ก.พ. หรือช่วง 5 เดือนแรก อธิบดีกรมสรรพากรยอมรับว่า จัดเก็บต่ำกว่าประมาณการ 9,000 ล้านบาท หรือราว 1% สาเหตุหลักมาจาก VAT จากการนำเข้าที่กรมศุลกากรจัดเก็บแทนต่ำกว่าเป้าหมาย เนื่องจากสถานการณ์การเมืองที่ไม่สงบ ทำให้ผู้ประกอบการนำเข้าสินค้าไม่กล้าออกของ
ขณะที่บุคคลธรรมดามีการ ขอคืนภาษีมากขึ้น รวมถึงจำนวนรายที่ได้คืนภาษีก็มากขึ้นจากโครงสร้างภาษีใหม่ แต่เชื่อว่าส่วนนี้จะหมุนเวียนกลับมาในรูปของ VAT จากการจับจ่ายใช้สอย ซึ่งในช่วง 5 เดือนแรก VAT ที่เก็บจากการบริโภคในประเทศยังทำได้ตามเป้าหมาย