ส.อ.ท.คาดม็อบการเมืองชุมนุมใหญ่ฉุดเชื่อมั่น
สภาอุตฯ หวั่น ชุมนุมใหญ่ 2 ฝ่ายรุนแรง กระทบความเชื่อมั่น เตรียมประชุม กกร. หาแนวทางช่วยเหลือผู้ประกอบการ เผย เอกชน กังวลสถานการณ์การเมืองในประเทศ อัตราแลกเปลี่ยน ฉุดเชื่อมั่น
นายพยุงศักดิ์ ชาติสุทธิผล ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) เปิดเผยว่า ขณะนี้ผลกระทบทางเศรษฐกิจที่เกิดขึ้นท่ามกลางสถานการณ์ทางการเมือง พบเศรษฐกิจอ่อนแอลงต่อเนื่อง ซึ่งหากการเมืองยืดเยื้อต่อไป เชื่อว่าเมื่อไทยเข้าสู่ประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน (AEC) ในปี 2558 จะส่งผลให้ประเทศไทยไม่เกิดความน่าลงทุน ในส่วนอัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจในปีนี้ คาดว่าอาจจะไม่ถึงร้อยละ 3 ขณะที่การส่งออก ก็อาจจะไม่ถึงเป้าที่วางไว้ที่ร้อยละ 5 ได้ เนื่องจาก บางอุตสาหกรรมมีข้อจำกัด แม้หลายอุตสาหกรรมที่มีฐานตลาดสามารถขยายตัวได้ แต่ในการอุปโภคบริโภคในประเทศจะลดลง ปริมาณการผลิตจะลดลง และอาจส่งผลให้มีต้นทุนสูงขึ้น
นอกจากนี้ นายพยุงศักดิ์ กล่าวยอมรับว่า มีความกังวลถึงการชุมนุมครั้งใหญ่ ที่ทางกลุ่มผู้ชุมนุมทั้งสองฝ่าย จะนัดชุมนุม เนื่องจากจะทำให้ปัญหาวนเวียนไม่สามารถแก้ไขได้ โดยหากมีสถานการณ์ความรุนแรงเกิดขึ้น อาจกระทบต่อดัชนีความเชื่อมั่นอุตสาหกรรม ในเดือนมีนาคม ที่อาจลดลงน้อยกว่าระดับ 80 และลดลงต่อเนื่อง ทั้งนี้ ในการประชุมคณะกรรมการร่วม 3 สถาบันภาคเอกชน (กกร.) ในวันที่ 8 เมษายน คาดว่าจะมีการหารือเรื่องด้านเศรษฐกิจเพื่อช่วยเหลือและดูแลผู้ประกอบการ ซึ่งเชื่อว่าปัญหาเศรษฐกิจที่เกิดขึ้น สามารถแก้ปัญหาได้ แต่ปัจจัยหลักมาจากการเมืองจึงจำเป็นต้องแก้ไขเรื่องปัญหาทางการเมืองก่อน ให้มีการเจรจาพูดคุย ส่วนการค้าชายแดนภาพรวมดีขึ้น แต่ไม่มากพอ แม้เศรษฐกิจทั่วโลกจะดีขึ้นแต่ไทยเองได้เผชิญปัญหา เนื่องจากไม่มีใครคำนึงถึงความเสียหาย
ทั้งนี้ ปัจจัยที่ส่งผลกระทบต่อการประกอบกิจการอุตสาหกรรม ในเดือนกุมภาพันธ์ 2557 พบว่า ผู้ประกอบการมีความกังวลเพิ่มขึ้นในปัจจัยสถานการณ์การเมืองภายในประเทศและอัตราแลกเปลี่ยน ส่วนปัจจัยที่มีความกังวลลดลง ได้แก่ ราคาน้ำมันและสภาวะเศรษฐกิจโลก ขณะที่อัตราดอกเบี้ยเงินกู้ อยู่ในระดับทรงตัวจากเดือนก่อนหน้า ทั้งนี้ข้อเสนอแนะของผู้ประกอบการที่มีต่อภาครัฐ ได้แก่ ให้ภาครัฐเร่งแก้ไขปัญหาความขัดแย้งทางการเมือง เพื่อหาทางออกให้กับประเทศ พร้อมส่งเสริมผู้ประกอบการ SMEs ให้เข้าถึงแหล่งเงินทุนได้ง่ายขึ้น เพื่อช่วยแก้ไขปัญหาสภาพคล่อง ผลักดันการค้าชายแดนให้ขยายตัวต่อเนื่อง เพื่อสร้างโอกาสทางการค้าและการลงทุน รวมถึง แก้ไขปัญหาการขาดแคลนแรงงานฝีมือและแรงงานไร้ฝีมือ และแก้ปัญหาราคาปริมาณและคุณภาพวัตถุดิบสินค้าเกษตร ตั้งแต่ต้นน้ำจนถึงปลายน้ำอย่างเป็นระบบ
นอกจากนี้ นายพยุงศักดิ์ กล่าวเพิ่มเติมว่า เชื่อว่า ภาคอุตสาหกรรมในอีก 3 เดือนข้างหน้า ยังมองไม่เห็นถึงอนาคต หากความขัดแย้งทางการเมืองยังไม่ได้ข้อยุติ ซึ่งดัชนีความเชื่อมั่นฯ คาดการณ์ 3 เดือนข้างหน้า อยู่ที่ระดับ 98.4 ลดลงจากระดับ 100.0 ในเดือนมกราคม ซึ่งค่าดัชนีความเชื่อมั่นคาดการณ์ที่ลดลงเกิดจากองค์ประกอบ ยอดคำสั่งซื้อโดยรวม ยอดขายโดยรวม ปริมาณการผลิต ต้นทุนประกอบการและผลประกอบการ