วิบากกรรมมาเลเซียแอร์ไลน์ส ลามกระทบเชื่อมั่นอาเซียน
ภารกิจการค้นหาเครื่องบินโบอิ้ง เที่ยวบินที่ MH370 ของสายการบินมาเลเซียแอร์ไลน์ส ที่หายสาบสูญไปอย่างลึกลับ ท่ามกลางความตกตะลึงของคนทั้งโลก จนกระทั่งวันนี้ยังไม่มีใครทราบชะตากรรมของผู้โดยสารและลูกเรือทั้ง 239 ชีวิต ขณะที่สื่อนานาชาติต่างเกาะติดสถานการณ์กันแบบชนิดนาทีต่อนาที รวมถึงในโลกไซเบอร์เองก็มีหลายฝ่ายวิเคราะห์ถึงสาเหตุความเป็นไปได้ของการหายไปของเครื่องบินลำนี้ ซึ่งเป็นที่ฉงนของชาวโลกยิ่งนัก ปมปริศนาการหายไปของเครื่องบินโดยสารลำนี้ไร้ที่มาที่ไปอย่างชัดเจน ต่างก็สันนิษฐานว่าอาจเกิดอุบัติเหตุกลางอากาศ หรือเหตุก่อการร้ายข้ามชาติ จนถึงปฏิบัติการจี้เครื่องบิน
หนังสือพิมพ์สเตรตไทม์ของมาเลเซียเปิดเผยว่ามีหลักฐาน 3 ชิ้นที่สำคัญ สามารถระบุชี้ชัดว่าเครื่องบินของสายการบินมาเลเซียแอร์ไลน์สสูญหายไป เพราะถูกยึดโดยคนที่มีความรู้ความเชี่ยวชาญเกี่ยวกับการทำงานของเครื่องบิน หลักฐานชิ้นแรก
คือเครื่องรับส่งเรดาร์ ซึ่งเป็นระบบสัญญาณที่บ่งชี้สถานะของเครื่องบินบนจอเรดาร์ โดยเที่ยวบินนี้ถูกปิดระบบโดยบุคคลที่อยู่บนเครื่องบินเวลาประมาณ 1 ชั่วโมงในระหว่างทำการบิน ต่อมาหลักฐานสำคัญชิ้นที่สองระบุว่าระบบการสื่อสารข้อมูลของสายการบินทั้ง 2 ระบบที่ใช้สำหรับส่งข้อความสั้นผ่านดาวเทียมหรือคลื่นวิทยุระบบวีเอชเอฟไปยังระบบเครือข่ายของสายการบินถูกปิดเช่นกัน ส่วนหลักฐานชิ้นสุดท้ายคือระบบนำทางการบินระบุว่าเรดาร์ของทางทหารไทยสามารถจับสัญญาณได้ว่าเครื่องบินกำลังมุ่งหน้าไปทางทิศตะวันตก หลังจากที่ระบบเครื่องรับส่งเรดาร์ถูกปิดไปชั่วขณะ
ก่อนหน้านี้มีการเปรียบเทียบเหตุการณ์การหายสาบสูญของเที่ยวบิน MH370 ของสายการบินมาเลเซียแอร์ไลน์ส กับกรณีอุบัติเหตุทางการบินของเครื่องบินแอร์บัส เอ330-200 ของสายการบินแอร์ฟรานซ์ ที่มีผู้โดยสารและลูกเรือ 228 ชีวิต เมื่อวันที่ 1 มิถุนายน 2552 ซึ่งเหตุครั้งนั้นเกิดขึ้นกลางมหาสมุทรแอตแลนติก โดยเริ่มเรื่องก็คล้ายคลึงกัน คือสัญญาณของเครื่องบินขาดการติดต่อและหายไปจากจอเรดาร์ ขณะกำลังบินมุ่งหน้าสู่กรุงปารีส ประเทศฝรั่งเศส มากไปกว่านั้น ทีมผู้เชี่ยวชาญที่ลงมือค้นหาต้องใช้เวลากว่า 2 ปี ถึงจะพบซากของเครื่องบินลำนี้อีกด้วย
เป็นไปได้ที่มาเลเซียแอร์ไลน์สอาจจะใช้เวลาไม่ถึงหนึ่งหรือสองปี หรืออาจจะมากกว่านั้นในการค้นหา แน่นอนว่าเหตุการณ์ครั้งนี้ต้องกระทบถึงความเชื่อมั่นต่อผู้เดินทางด้วยเครื่องบินอย่างแน่นอน โดยมีผลกระทบต่อความเชื่อมั่นในด้านการท่องเที่ยวและแบรนด์ของมาเลเซียแอร์ไลน์
สำนักข่าวรอยเตอร์สอ้างอิงข้อมูลจากบริษัทการท่องเที่ยวของมาเลเซียว่า หลังจากที่เกิดเหตุลี้ลับกับสายการบินมาเลเซียแอร์ไลน์ส ด้านความเชื่อมั่นกับผู้ใช้บริการดูเหมือนว่าจะไม่ได้รับผลกระทบมากนัก มีเพียงไม่กี่รายเท่านั้นที่เดินทางมาขอยกเลิกเที่ยวบินกับสายการบินมาเลเซียแอร์ไลน์ส และด้วยเหตุผลหลายประการ ไม่ว่าจะเป็นตัวเลือกทางการตลาดสายการบินโลว์คอสต์ ราคาถูกกว่าสายการบินฟูลคอสต์ทำให้ตัวเลือกของผู้โดยสารมีมากขึ้น
รายงานของเวิลด์แทรเวลและทัวริสม์คอนซิลระบุว่า ในปี 2555 ธุรกิจการท่องเที่ยวและการบินสร้างรายได้ให้กับประเทศเกินกว่าครึ่งของจีดีพีทั้งหมดของมาเลเซีย
ดังนั้นหากวิเคราะห์โยงกับเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น มาเลเซียอาจเสียรังวัดด้านความเชื่อมั่นในด้านความปลอดภัยในการเดินทางให้กับประเทศไทยและสิงคโปร์ ซึ่งทั้งสองก็ต่างพยายามสร้างตัวเองเป็นศูนย์กลางการบินภูมิภาคเอเชีย และศูนย์กลางด้านการท่องเที่ยว
ขณะที่อลิเซีย ซีล ผู้อำนวยการการสื่อสารด้านการตลาดของบริษัทไดนาสตี้ ทราเวล ซึ่งเป็นบริษัทท่องเที่ยวจากสิงคโปร์ แสดงมุมมองที่ต่างออกไปว่า "กว่า 80% ของธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับการเดินทาง เลือกที่จะปรับเปลี่ยนบริการให้ดียิ่งขึ้น" อีกทั้งยังเสนอแนะว่า "กาลเวลาจะช่วยเยียวยาเอาชนะทุกอย่างให้ดีขึ้น ซึ่งมาเลเซียต้องใช้ความพยายามอย่างมากในการกอบกู้ชื่อเสียงและความเชื่อมั่นกลับคืนมา"
ล่าสุดรัฐบาลมาเลเซียยังปฏิเสธที่จะแสดงความคิดเห็นเกี่ยวกับหลักฐานการยกเลิกจองของผู้โดยสารจำนวนมาก ซึ่งอาจสร้างความเสียหายต่อสายการบินสูงสุด อยู่ที่ร้อยละ 171 หรือ 1.17 พันล้านริงกิต ในปี 2556 โดยรัฐบาลมาเลเซียกล่าวเปิดเผยเพียงว่า ทางการมาเลเซียคาดหวังว่ากลุ่มนักท่องเที่ยวหรือผู้โดยสารที่เดินทางเข้ามาในประเทศจะมีจำนวนมากถึง 28 ล้านคน สูงกว่าเมื่อเปรียบเทียบปีที่ผ่านมา ที่ 9%
นายฟู ไท่ นึ่ง ผู้อำนวยการสมาคมมาเลเซียด้านการเดินทางและการท่องเที่ยว กล่าวเพิ่มเติมว่า "อาจจะมีเพียง 1 หรือ 2 ในจำนวนผู้เดินทางทั้งหมดที่ทำการยกเลิกไปแต่ธุรกิจการท่องเที่ยวของมาเลเซียยังต้องดำเนินต่อไป"
หากมองผลกระทบในเรื่องเศรษฐกิจแล้ว หลายฝ่ายต่างวิเคราะห์ไปถึงเรื่องการตกลงของราคาหุ้นมาเลเซียแอร์ไลน์
ในตลาดหลักทรัพย์กัวลาลัมเปอร์ หรือ KLSE จากการสำรวจข้อมูลพบว่าเหตุการณ์เครื่องบินสูญหายไม่ได้ส่งผลกระทบมากนักต่อการร่วงลงของราคาหุ้นสายการบินดังกล่าว เนื่องจากการร่วงลงของราคาหุ้นของมาเลเซียแอร์ไลน์สเริ่มเกิดขึ้นตั้งแต่วันที่ 24 กุมภาพันธ์ที่ผ่านมา และราคาหุ้นยังคงลดลงอย่างต่อเนื่อง หลังจากเที่ยวบิน MH370 หายไปเมื่อวันที่ 8 มีนาคม นักวิเคราะห์ต่างฟันธงเป็นเสียงเดียวกันว่าสายการบินแห่งชาติมาเลเซียประสบภาวะขาดทุนมาหลายปี ท่ามกลางการแข่งขันอย่างดุเดือดจากสายการบินราคาประหยัด
นอกจากนี้ยังมีการระบุว่าระบบบริหารจัดการไม่ดีและรัฐบาลแทรกแซง เป็นเหตุให้สายการบินมีผลประกอบการที่แย่ลงอาจกล่าวได้ว่าการร่วงลงของราคาหุ้นเป็นปัญหาที่เกิดขึ้นจากภายในเอง ไม่ว่าจะเป็นเรื่องสงครามราคาตั๋วเครื่องบินที่มีการแข่งขันอย่างดุเดือดกับสายการบินต้นทุนต่ำอย่างแอร์เอเชีย รวมไปถึงการทุจริต การล้วงลูกภายในบริษัทมาเลเซียแอร์ไลน์สที่เป็นรัฐวิสาหกิจจากรัฐบาลเอง
ทั้งนี้แม้ว่าจะมีกระแสข่าวออกมาเป็นระยะเกี่ยวกับการพบซากเครื่องบิน หรือกระทั่งทฤษฎีต่าง ๆ ที่เกี่ยวกับการสูญหายไปของเครื่องบิน แต่หากย้อนกลับไปดูต้นสายของเหตุแล้ว อาจจะเรียกได้ว่า มาเลเซียมีจุดบกพร่องทางการรักษาความปลอดภัย การประสานงานกับเพื่อนบ้านอาเซียนในด้านความมั่นคงของการข้ามชาติ ซึ่งจะกระทบแน่นอนต่อการเปิดประชาคมอาเซียน ตั้งแต่เรื่องการโจรกรรมพาสปอร์ต เรื่อยมาจนถึงการอนุญาตให้บุคคลอื่นที่ไม่เกี่ยวข้องเข้าไปในห้องนักบินบนเครื่อง ซึ่งแต่ละกระแสที่ออกมาล้วนกระทบต่อชื่อเสียงของมาเลเซียแอร์ไลน์สทั้งสิ้น มีเพียงแค่เวลาเท่านั้นที่จะเป็นเครื่องพิสูจน์ว่ามาเลเซียจะมีกระบวนการอย่างไรที่เรียกความเชื่อมั่นให้นักเดินทางกลับมาใช้ สายการบินแห่งชาติ ท่ามกลางการแข่งขันด้านการบินที่สูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง