เผยกล้วยทอดไทยติดลมบน ขายดียุโรป-มะกัน-ญี่ปุ่น เจ้าของนักศึกษาจบใหม่
ระหว่าง วันที่ 26-28 มีนาคม สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ(สวทช.) กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี(วท.) ร่วมกับกรมการพัฒนาชุมชน กระทรวงมหาดไทย จัดประชุมเชิงปฏิบัติการพัฒนาศักยภาพกลุ่มผู้ผลิตชุมชนด้านการควบคุมคุณภาพผลิตภัณฑ์ โดยนำองค์ความรู้และเทคโนโลยีถ่ายทอดสู่ผู้เข้าร่วมประชุม จากกลุ่มอาหารโอท็อปทั่วประเทศ 164 คน
เพื่อยกระดับสินค้า 1 ตำบล 1 ผลิตภัณฑ์ ขึ้นเป็นสินค้าระดับบนไปสู่ตลาดสากล อย่างเป็นระบบ ภายใต้แผนการดำเนินงาน ที่สอดคล้องรองรับการเปิดตลาด ประชาคมอาเซี่ยน(เออีซี) ในปี 2558 โดยคาดหวัง ยกระดับและจำหน่ายสินค้าโอท็อปให้ได้ 95,000 ล้านบาท ภายในปีนี้ และ 100,000 ล้านบาท ภายในปี 2558
ผศ.บัณฑิต อินณวงศ์ ผู้จัดการศูนย์วิจัยอุตสาหกรรมการเกษตรร่วมกับเครือข่ายพันธมิตร คณะวิศวกรรมศาสตร์และเทคโนโลยีอุตสาหกรรม มหาวิทยาลัยศิลปากร บอกว่า สินค้าโอท็อป เป็นกลุ่มการค้าที่จัดการเรื่องผลิตภัณฑ์ต้นน้ำได้ดี แต่ที่ยังไปถึงดวงดาวไม่ได้สักทีเป็นเพราะการจัดการคุณภาพ ยังไม่ดีพอ เวลานี้ ทางศูนย์วิจัยอุตสาหกรรมการเกษตร ร่วมกับเครือข่ายพันธมิตร เราได้รับทุนจาก สวทช. สำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย(สกว.) สำนักงานคณะกรรมการวิจัยแห่งชาติ(วช.) ให้เข้าไปช่วยเหลือ แนะนำ ช่วยทำวิจัยแบบครบวงจรสำหรับวิสาหกิจชุมชน หรือบุคคล ที่ต้องการสร้างและยกระดับผลิตภัณฑ์ของตัวเอง และในชุมชนให้เข้าไปอยู่ในระดับแถวหน้า ให้มีความมั่นคง และเติบโตได้ด้วยตัวเองในที่สุด เวลานี้มี สินค้า สามารถเข้าสู่ชั้นแนวหน้าในตลาดบนมากแล้วประมาณ 250 แห่งด้วยกัน ในจำนวนนี้เป็น วิสาหกิจชุมชน นักศึกษาจบใหม่ มากถึง 20% ด้วยกัน
"ในจำนวน 250 ชนิด สินค้า ที่ติดตลาดบนไปแล้วเวลานี้ ที่ ผู้ร่วมงานให้ความสนใจอย่างมาก เช่น กล้วยทอด ที่ทอดมาจากชุมชนเล็กๆแห่งหนึ่งในประเทศไทย หลังจากนั้นนำกล้วยที่ทอดเสร็จไปปรุงรส เป็นรสชาติต่างๆมีการควบคุมขั้นตอนการผลิตให้ได้มาตรฐาน ที่สำคัญ กล้วยทอดดังกล่าวมีบรรจุภัณฑ์ ที่สวยงาม จากกล้วยทอดเบรกแตก 50 กรัม ที่ขายอยู่ตามท้องตลาดทั่วไปราว 10 บาท เพิ่มเป็น 40 บาท หรือ 1 เหรียญ กว่าๆ ในซุปเปอร์มาเก็ต ในอเมริกา ซึ่งเวลานี้ขายดีมากทั้งในอเมริกา ยุโรปและญี่ปุ่น เจ้าของผลิตภัณฑ์ตัวนี้เป็นนักศึกษาจบใหม่คนหนึ่ง ที่ชอบกินกล้วยทอด และอยากมีธุรกิจเป็นของตัวเองเท่านั้น"
นายบุญอนันต์ ศักดิ์บุญญารัตน์ นักเทคโนโลยีอาหาร ของศูนย์วิจัยฯ กล่าวว่า การพัฒนา เพิ่มมูลค่า อาหารจากอาหารพื้นบ้านธรรมดา ให้กลายเป็นที่ยอมรับในตลาดชั้นบน และตลาดโลก ทำได้ แต่ต้องมีการวิจัย ทำการตลาดแบบครบวงจร สร้างเรื่องราว ของอาหารชนิดนั้นๆ ซึ่งศักยภาพอาหารในประเทศไทยนั้นทำได้ทุกอย่างอยู่แล้ว อยู่ที่จะมีใครคิดทำ มองเห็นช่องทางหรือไม่ ทั้งนี้ ศูนย์วิจัยฯยินดีที่จะให้คำปรึกษาฟรีแก่ทุกคน ทุกหน่วยงาน โทร.034-252-409