"อาเซียน" ค่าแรงพุ่ง ถึงยุคใช้เทคโนโลยีลดต้นทุน

"อาเซียน" ค่าแรงพุ่ง ถึงยุคใช้เทคโนโลยีลดต้นทุน

"อาเซียน" ค่าแรงพุ่ง ถึงยุคใช้เทคโนโลยีลดต้นทุน
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

ในสายตาของนักลงทุนทั่วโลก โดยเฉพาะจากประเทศฝั่งตะวันตกและเอเชียตะวันออกแล้ว ภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ เป็นอีกหนึ่งภูมิภาคที่มีความน่าสนใจไม่น้อยกว่าที่อื่น ทั้งในแง่ของกำลังซื้อ จนกระทั่งเรื่องค่าแรง


สำหรับค่าแรง ดูเหมือนว่าจะเป็นคล้ายดาบสองคมสำหรับรัฐบาลในอาเซียนคือ หากรัฐบาลประกาศขึ้นค่าแรงขั้นต่ำ ก็จะมีปัญหาเรื่องการลงทุนในอุตสาหกรรมที่ใช้แรงงานเข้มข้น และหากรัฐบาลปล่อยปละละเลยเกี่ยวกับประเด็นเรื่องค่าแรง ก็อาจจะประสบปัญหาเหมือนกัมพูชา ที่มีการเรียกร้องให้รัฐบาลขึ้นค่าแรง

ที่ผ่านมา หอการค้าญี่ปุ่นได้ทำแบบสำรวจแนวโน้มทางเศรษฐกิจของบริษัทร่วมทุนญี่ปุ่นในประเทศไทย สรุปได้ว่า ส่วนใหญ่ นักลงทุนญี่ปุ่นต้องการที่จะขยายสายพานการผลิตไปยังประเทศเพื่อนบ้าน โดยเฉพาะในลุ่มน้ำโขง และอินโดนีเซียมากยิ่งขึ้น

นอกเหนือจากประเด็นเรื่องน้ำท่วมและการเมืองในไทยแล้ว เรื่องค่าแรงยังถูกบรรจุอยู่ในเรื่องที่นักลงทุนญี่ปุ่นพิจารณาอีกด้วย พร้อมกับเร่งให้ไทยพัฒนาสู่ประเทศการผลิตเทคโนโลยีระดับสูงอีกด้วย

รศ.ดร.สุจริต คูณธนกุลวงศ์ นายกสมาคมส่งเสริมเทคโนโลยีไทย-ญี่ปุ่น เคยกล่าวกับผู้สื่อข่าว "ประชาชาติธุรกิจ" ในงานแถลงข่าวเรื่อง 3 สมาคม ไทย-ญี่ปุ่น จับมือสร้างเครือข่าย เพื่อรองรับการขยายตัวอุตสาหกรรมไทยสู่อาเซียน ที่สมาคมส่งเสริมเทคโนโลยีว่า ค่าแรงของไทยที่สูงขึ้น และไม่สอดคล้องกับศักยภาพของแรงงาน หากว่าค่าแรงงานสูง แต่ศักยภาพของแรงงานเป็นแรงงานที่มีฝีมือ นักลงทุนก็ยินดีที่จะจ้าง แต่ในไทยแรงงานไร้ฝีมือยังมีอยู่มาก และไม่สอดคล้องต่อค่าแรงที่สืบเนื่องมาจากนโยบายรัฐ

ไม่ใช่เพียงแค่ในไทยที่มีการขึ้นค่าแรง แต่หากเป็นทั้งอาเซียน

สำนักข่าวโคเรีย เฮเรลด์ รายงานว่า ค่าแรงที่ขึ้นอย่างเฉียบพลันในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ส่งผลกระทบต่อนักลงทุนจากเกาหลีใต้ ที่เป็นอีกประเทศหนึ่งที่มีการลงทุนในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ในลำดับต้นๆ รองจากญี่ปุ่น และจีน

ค่าแรงงานในกัมพูชาที่เพิ่มขึ้นเกือบสองเท่าของค่าแรงเดิมในช่วงไม่กี่เดือนที่ผ่านมา ส่วนในเมืองสำคัญๆ ของเวียดนามและอินโดนีเซียค่าแรงเพิ่มขึ้นประมาณ 14.9% และ 22% ตามลำดับ

ผลสำรวจขององค์การการค้าญี่ปุ่น เมื่อเร็ว ๆ นี้ระบุว่า บริษัทญี่ปุ่นต่างคาดการณ์ว่าค่าแรงในกัมพูชา และ สปป.ลาว จะเพิ่มขึ้นประมาณ 7% และในประเทศอินโดนีเซีย เวียดนาม และอินโดนีเซีย คาดว่าจะเพิ่มขึ้นประมาณ 10-20%

นอกจากนี้ ค่าแรงที่แพงขึ้นในจีนยังเป็นปัจจัยหลักสำคัญทำให้นักลงทุนต้องย้ายฐานการผลิตมาสู่เอเชียตะวันออกเฉียงใต้ แต่ในปัจจุบันกลุ่มประเทศอาเซียนกลับกำลังสูญเสียความได้เปรียบเรื่องค่าแรง อาทิ มาเลเซีย และไทย โดยบรรดาบริษัทสัญชาติเกาหลีที่จะต้องจ่ายค่าแรงประมาณ 231,000-257,400 บาทต่อปี ซึ่งใกล้กับระดับค่าแรงในจีน ที่อยู่ประมาณปีละ 264,000 บาท

เป็นไปได้ว่าบริษัทจากเกาหลีใต้ที่ผลิตแบรนด์ระดับโลกอย่าง ซัมซุง หรือแอลจี สู่ตลาดโลก อาจจะย้ายฐานบางส่วนไปยังประเทศที่มีค่าแรงถูกอย่าง สปป.ลาว หรือกระทั่งย้ายฐานออกจากภูมิภาคไปยังประเทศศรีลังกา หรือแม้แต่ไปยังแอฟริกา

แต่บางบริษัทอาจมีแนวโน้มที่จะไม่ย้ายฐานการผลิตไปไหน หากรัฐบาลมีการเตรียมการดีในการเพิ่มการสนับสนุนการลงทุนและออกมาตรการด้านภาษี

ทั้งนี้ หากมองในระยะสั้น อาเซียนจะสามารถเป็นฐานการผลิตให้กับประเทศนักลงทุนใหญ่ๆ อย่างเกาหลีใต้ และญี่ปุ่น ที่ต้องการหนีค่าแรงสูงและการออกระเบียบกฎเกณฑ์ต่างๆ ที่รัดกุมมากขึ้นจากจีน

แต่ในระยะยาวค่าแรงในอาเซียนก็ต้องพุ่งขึ้นเช่นกัน ดังนั้น การนำเข้านวัตกรรมและเทคโนโลยีเพื่อใช้ลดต้นทุนการผลิตก็ไม่สามารถหลีกเลี่ยงได้ ที่สำคัญรัฐบาลในอาเซียนต้องให้สิทธิประโยชน์เพื่อดึงดูดการเข้ามาลงทุนพร้อมเทคโนโลยีระดับสูงจากนักลงทุนทั่วโลกด้วย

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook