SMEsไทยดอดตีพม่า เปิดแล้วศูนย์กระจายสินค้า "ย่างกุ้ง"

SMEsไทยดอดตีพม่า เปิดแล้วศูนย์กระจายสินค้า "ย่างกุ้ง"

SMEsไทยดอดตีพม่า เปิดแล้วศูนย์กระจายสินค้า "ย่างกุ้ง"
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

อัตรา การเติบโตทางเศรษฐกิจ และจำนวนนักท่องเที่ยวที่เพิ่มขึ้นแบบ 100% ทุกปี ทำให้เมียนมาร์เป็นประเทศที่เอสเอ็มอีไทยเล็งเป็นตลาดที่มีกำลังซื้อและเป็น โอกาสของเอสเอ็มอี

จากหลายปีที่ผ่านมาผู้ประกอบการขนาดกลาง ขนาดย่อมของไทย บุกพม่าเงียบ ๆ ไปเปิดตลาดมานาน ล่าสุดคือการขยับมาเปิดศูนย์กระจายสินค้าเมื่อ 18 มีนาคม 2557 ที่ผ่านมานี้เอง

โดย นายสมเกียรติ ผู้มีชัยวงศ์ ประธานชมรมไทย-พม่า และผู้ประสานงานศูนย์กระจายสินค้า กล่าวว่า ตนเองและกลุ่มผู้ประกอบการไปสำรวจตลาดพม่ามากว่า 3 ปี และตัดสินใจที่จะเปิดศูนย์แสดงสินค้าที่เมืองย่างกุ้ง ที่ประเทศพม่า โดยใช้วิธีการเช่าพื้นที่ชั้นหนึ่งของตึก BS Building และนำสินค้าของผู้ประกอบการกว่า 24 บริษัท กว่า 1,000 รายการไปจัดแสดง และเปิดอย่างเป็นทางการไปเมื่อ 18 มีนาคม 2557 ที่ผ่านมา

การเปิด ศูนย์ในครั้งนี้ ทางกลุ่มผู้ประกอบการได้ร่วมกับกรมส่งเสริมอุตสาหกรรม กระทรวงอุตสาหกรรม และสถานเอกอัครราชทูตพม่า ในการจัดทำป้ายประชาสัมพันธ์เป็นภาษาพม่า เพื่อโปรโมตโปรโมชั่นต่าง ๆ รวมถึงนำเสนอสินค้าแก่ลูกค้าชาวพม่า และประชาสัมพันธ์ผ่านนักธุรกิจไทยในพม่าด้วย

สำหรับ BS Building อยู่ติดกับห้างสรรพสินค้าใหญ่ Junction Square ที่มีอัตราการเข้าออกเฉลี่ย 10,000 คน/วัน และยังมีสถานที่สำหรับจัดอีเวนต์เพื่อโปรโมตสินค้า ประชาสัมพันธ์ โปรโมชั่น ซึ่งจะดึงดูดลูกค้าให้เข้ามาใช้จ่ายที่ BS Building อีกด้วย

ส่วนสินค้าที่เข้าไปแสดงยังศูนย์ดังกล่าวจะเน้น 2 กลุ่ม คือ การขายปลีก จากลูกค้าที่เดินเข้ามาช็อปปิ้ง ประมาณ 50% ขณะที่สินค้าออร์เดอร์มีการสั่งซื้อปริมาณมาก ๆ อีก 50% โดยตั้งเป้ายอดขายสิ้นปี 2557 อยู่ที่ 40 ล้านบาท

นายสมเกียรติกล่าว ต่อว่า เจ้าของสถานที่จะหักค่าเช่าพื้นที่เมื่อสรุปยอดขายแต่ละเดือน โดยจะคิดอัตราที่ 30% ของยอดขายแต่ละเจ้า ซึ่งมีมูลค่าตั้งแต่ 5,000-1,000,000 บาทสำหรับการเปิดศูนย์กระจายสินค้าที่ย่างกุ้งครั้งนี้ นับว่าเป็นศูนย์ที่ใช้นำร่องไปยังประเทศในแถบเออีซีอื่น ๆ ต่อไป

นายสมเกียรติ ผู้มีชัยวงศ์ กล่าวต่อว่า ปัจจุบันคลัสเตอร์ประเภทอาหารเพื่อสุขภาพ อาหารเกษตรแปรรูป คลัสเตอร์สินค้าไลฟ์สไตล์ได้เข้าไปเบิกร่องแล้ว และลำดับถัดไปจะนำคลัสเตอร์สินค้าเฟอร์นิเจอร์จากไม้ยางพารา และกลุ่มวัสดุก่อสร้าง ซึ่งมีศักยภาพไปจัดแสดงต่อเนื่อง เนื่องจากปัจจุบันเมียนมาร์มีการก่อสร้างอย่างต่อเนื่อง ทั้งอสังหาฯ ที่พัก รีสอร์ต โรงแรม รวมถึงร้านอาหารต่าง ๆ ทำให้มีความต้องการทั้งกระเบื้อง เซรามิกที่ใช้ประดับ หรือเป็นภาชนะในร้านอาหารเติบโตอย่างมาก

"ที่ดิน มีราคาสูงมาก การอาศัยอยู่บนคอนโดฯจึงน่าจะเป็นทางเลือกของคนที่นี่ ดังนั้นสินค้าที่เป็นเฟอร์นิเจอร์ที่ใช้พื้นที่น้อย กะทัดรัด มีดีไซน์อย่างของไทย มีโอกาส"

ทั้งนี้ นายสมเกียรติกล่าวแนะนำเอสเอ็มอีด้วยว่า สำหรับเอสเอ็มอีแล้วนั้น การค้าผ่านชายแดนเป็นวิธีที่ดีที่สุดในเวลานี้ โดยผ่านด่านแม่สอด จ.ตาก แล้วข้ามไปยังเมาะละแหม่ง และไปยังย่างกุ้ง ซึ่งมีค่าใช้จ่ายถูกกว่า 30 เปอร์เซ็นต์ และยุ่งยากน้อยกว่าอีกด้วย

"การค้าชายแดนระหว่างไทยกับพม่ายังมีความอะลุ่มอล่วยอยู่มาก และยังเป็นการประเมินด้วยสายตามากกว่าการประเมินแบบวิธีทางเรือ ที่ใช้เวลานานและอัตราภาษีที่คิดก็ไม่คงที่อีกด้วย แต่ทั้งนี้

ผู้ประกอบการเองก็ต้องเรียนรู้ และปรับตัวโดยเฉพาะอย่างยิ่งเรื่องแพ็กเกจจิ้งที่ควรจะมีความกะทัดรัด สามารถบรรจุได้จำนวนมากในหนึ่งลังจะยิ่งดี เพราะแม้จะราคาถูกกว่า แต่การที่ต้องพักสินค้าหลาย ๆ เมืองก็มีค่าใช้จ่ายในส่วนนี้หากขนจำนวนน้อย และสินค้ามูลค่าน้อย เกรงว่าจะไม่คุ้มกับค่าขนส่ง"

ส่วนสินค้าเด่นที่ต้องการนั้น นายสมเกียรติกล่าวว่า ตอนนี้สินค้าแทบทุกชนิดเป็นที่ต้องการทั้งอุปโภคบริโภค เนื่องจากการขยายตัวของเมือง และความต้องการจากกลุ่มนักท่องเที่ยว นักลงทุนที่เข้าไปพม่าเพิ่มขึ้นทุกปี และคาดว่าปี 2557 จะทะลุปีละ 3 ล้านคนอย่างแน่นอน

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook