มนุษย์เงินเดือนขอคืนภาษีพุ่ง20% "อธิบดีสรรพากร" มึน!รายได้จัดเก็บหาย9พันล้าน
สรรพากรเผยมนุษย์เงินเดือนแห่ขอคืนภาษีพุ่งกว่า 20% อธิบดีแจงจ่ายเงินคืนแล้วกว่า 2 หมื่นล้าน ยอมรับเป็นผลจากปรับโครงสร้างภาษีบุคคลธรรมดาใหม่ คาดส่งผลรายได้หายไปกว่า 9 พันล้าน ด้านปลัดคลังเต้นรายได้ 3 กรมครึ่งปีแรกวูบ 2 หมื่นล้าน เตรียมจ้างที่ปรึกษาด้านภาษีวิเคราะห์ช่องโหว่อุดรูรั่ว
นายสุทธิชัย สังขมณี อธิบดีกรมสรรพากร เปิดเผย "ประชาชาติธุรกิจ" ว่า ผลจากการปรับโครงสร้างภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาที่เริ่มใช้ในปีภาษี 2556 ที่ลดอัตราภาษีขั้นสูงสุดลงจาก 37% เหลือ 35% และปรับขั้นเงินได้จาก 5 ขั้นเป็น 7 ขั้น ทำให้ผู้เสียภาษีมีภาระภาษีลดลง ส่งผลให้ปีนี้มีการขอคืนภาษีเพิ่มขึ้นถึงกว่า 20% จากตัวเลขการยื่นแบบ ณ วันที่ 29 มี.ค.ที่ผ่านมา อย่างไรก็ดี กรมสรรพากรต้องรอสรุปตัวเลขการยื่นแบบอีกครั้ง เนื่องจากกรมสรรพากรได้ขยายเวลาผู้ที่ยื่นแบบทางอินเทอร์เน็ตไปถึงวันที่ 8 เม.ย.
"การยื่นชำระภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาปีนี้เพิ่มขึ้นอีก แต่การขอคืนปีนี้มีสัดส่วนมากกว่าที่เก็บเข้ามา เพราะผู้เสียภาษีเสียอัตราน้อยลง คนที่มีรายได้ถึงเกณฑ์ข้างล่างกับตรงกลางจะได้คืนเยอะ คือได้คืนไปตั้ง 50% ตอนนี้ยอดคืนอยู่ที่กว่า 20,000 ล้านบาทแล้ว" นายสุทธิชัยกล่าว
ทั้งนี้ ข้อมูลการยื่นแบบ ภ.ง.ด. 90 และ ภ.ง.ด. 91 ปีภาษี 2556 ตั้งแต่วันที่ 1 ม.ค.-29 มี.ค. 2557 มีการยื่นแบบแล้วทั้งสิ้นกว่า 8.21 ล้านฉบับ ในจำนวนนี้มีการขอคืนภาษีกว่า 3 ล้านฉบับ มียอดภาษีที่ชำระพร้อมแบบแค่กว่า 7,900 ล้านบาท เทียบกับปีภาษี 2555 ที่ตัวเลขยื่นแบบ ณ วันที่ 30 มี.ค. 2556 มียื่นทั้งสิ้นกว่า 8.31 ล้านฉบับ ขอคืนภาษีกว่า 2.49 ล้านฉบับ มียอดภาษีที่ชำระพร้อมแบบกว่า 1.29 หมื่นล้านบาท
แหล่งข่าวจากกรมสรรพากรเปิดเผยว่า การลดอัตราภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาทำให้การขอคืนภาษีเพิ่มสูงขึ้นมาก โดยส่วนหนึ่งเกิดจากการออกกฎหมายมีผลบังคับใช้ช่วงปลายปี 2556 แล้ว ทำให้ช่วงก่อนหน้านั้นนายจ้างยังคงหักภาษี ณ ที่จ่ายตามโครงสร้างภาษีเดิม ส่งผลให้เมื่ออัตราใหม่มีผลบังคับใช้แล้ว ทางกรมสรรพากรจึงต้องจ่ายคืนภาษีที่หักไว้มากกว่าปกติ โดยคาดว่าผลจากการปรับโครงสร้างภาษีดังกล่าว น่าจะทำให้การเก็บรายได้ภาษีเงินได้บุคคลธรรมดารอบนี้ต่ำกว่าเป้ามากกว่า 9,000 ล้านบาท
แหล่งข่าวกล่าวเพิ่มเติมว่า ก่อนสิ้นปี2557 นี้ กรมสรรพากรจะต้องเสนอขยายเวลามาตรการลดภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา ที่มีการเพิ่มขั้นอัตราเงินได้สุทธิจาก 5 ขั้นเป็น 7 ขั้น และลดอัตราเก็บสูงสุดจาก 37% เหลือ 35% เนื่องจากมาตรการเดิมมีอายุแค่ 1 ปีภาษี คือ ปี 2556 เพราะก่อนหน้านี้จะเสนอแก้ไขประมวลรัษฎากรเป็นการถาวร แต่เนื่องจากมีการยุบสภาเสียก่อน จึงเสนอชั่วคราวแค่ 1 ปี ซึ่งหากไม่มีการต่ออายุมาตรการนี้ จะทำให้ต้องกลับไปจัดเก็บตามโครงสร้างเดิมที่ 5 ขั้น และภาระภาษีของผู้เสียภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาจะกลับไปสูงเหมือนเดิม
นอกจากนี้ เมื่อวันที่ 31 มี.ค.ที่ผ่านมา นายรังสรรค์ ศรีวรศาสตร์ ปลัดกระทรวงการคลัง ได้ประชุมผู้บริหารระดับสูงและอธิบดีทุกกรม หารือถึงสถานการณ์แนวโน้มการจัดเก็บรายได้ภาษีช่วงครึ่งหลังของปีงบประมาณ 2557 (เม.ย.-ก.ย.) ที่อาจจะต่ำกว่าเป้าหมายถึง 38,000 ล้านบาท โดยมอบหมายให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องไปเพิ่มประสิทธิภาพการจัดเก็บภาษีให้เต็มศักยภาพ หลังจาก 6 เดือนแรก รายได้ของ 3 กรมภาษีต่ำกว่าเป้าหมายไปกว่า 20,000 ล้านบาท
"พร้อมกับจะมีการว่าจ้างบริษัทที่ปรึกษาอย่างแมคเคนซี่, ไพร้ซวอเตอร์เฮาส์คูเปอร์สหรือบริษัทเคพีเอ็มจี มาช่วยวิเคราะห์ช่องโหว่การเก็บภาษีของไทยว่ามีช่องตรงไหนบ้าง และดูว่ามีช่องโหว่ด้านกฎหมายหรือเปล่า โดยภายใน 3 เดือนจะสรุปว่าจะจ้างใคร" นายรังสรรค์กล่าว