ครึ่งทางงานสัปดาห์หนังสือ แห่เข้าชมทะลุล้านคน เผยแนวหนังสือรุ่นใหม่มาแรง ชี้การเมืองไม่กระทบ
สมาคมผู้จัดพิมพ์ฯปลื้ม งานสัปดาห์หนังสือฯคนทะลักตั้งแต่วันแรก ชี้ปัจจัยลบเศรษฐกิจและการเมืองไม่ส่งผลกระทบ มั่นใจคนไทยยังคงรักการอ่าน
นายจรัญ หอมเทียนทอง นายกสมาคมผู้จัดพิมพ์และผู้จำหน่ายหนังสือแห่งประเทศไทย (PUBAT) ให้สัมภาษณ์ถึงภาพรวมครึ่งทางของ “สัปดาห์หนังสือแห่งชาติครั้งที่ 12 และสัปดาห์หนังสือนานาชาติครั้งที่ 42” ที่จัดขึ้นตั้งแต่วันศุกร์ที่ 28 มีนาคม – วันจันทร์ที่ 7 เมษายน 2557 ณ ศูนย์การประชุมแห่งชาติสิริกิติ์ว่าประสบความสำเร็จเกินความคาดหมาย เพราะช่วงแรกนั้นทางสมาคมผู้จัดพิมพ์ฯ คาดว่าจากสถานการณ์บ้านเมืองที่อ่อนไหวและสภาวะเศรษฐกิจที่อยู่ในช่วงขาลง ผู้บริโภคน่าจะต้องการเก็บเงินสดไว้มากกว่าจับจ่ายใช้สอย ทว่าจาก 6 วันที่ผ่านมา ผู้เข้าชมงานอยู่ที่หลักล้านคนแล้ว และยอดขายจากสำนักพิมพ์ต่างๆก็ถือว่าดีกว่าที่คาดคิดไว้ค่อนข้างมาก โดยเฉพาะเมื่อเทียบกับสภาวะวงการหนังสือในช่วงไตรมาสที่ผ่านมาซึ่งอยู่ในสภาพซบเซา
“ยอดขายหนังสือเพิ่มขึ้นตามสัดส่วนของผู้ร่วมงาน ซึ่งความสำเร็จครั้งนี้เกิดขึ้นเพราะความร่วมมือของทุกสำนักพิมพ์ เนื่องจากสภาวะเศรษฐกิจที่ซบเซาในช่วงที่ผ่านมาทำให้สำนักพิมพ์ต่างๆเกรงว่าสัปดาห์หนังสือฯครั้งนี้จะไม่ประสบความสำเร็จ จึงทุ่มเทคัดเลือกหนังสือเพื่อตีพิมพ์อย่างเต็มที่ และสร้างเครือข่ายของทั้งสำนักพิมพ์และนักเขียนผ่านช่องทางโซเชียลมีเดีย เป็นความพยายามสร้างงานที่ดีที่สุดและสร้างความรู้สึกอยากอ่านมากที่สุดให้แก่ผู้อ่าน เมื่อน้ำทุกสายมารวมกันจึงกลายเป็นแม่น้ำได้”
ซึ่งแนวหนังสือที่มาแรงในสัปดาห์หนังสือฯครั้งนี้นั้น เป็นแนวหนังสือที่คนรุ่นใหม่นิยมอ่าน อาทิ แนวการ์ตูนที่มีลายเส้นที่มีเอกลักษณ์ นิยายแนวไลท์ โนเวล หนังสือบันทึกประสบการณ์ด้านต่างๆทั้งการใช้ชีวิต การเดินทางของคนรุ่นใหม่ ซึ่งส่วนหนึ่งนั้นนอกจากจะเป็นเพราะเนื้อหาและรูปแบบการนำเสนอโดดเด่นแล้ว ทางสำนักพิมพ์และผู้เขียนยังอาศัยช่องทางโซเชียลมีเดีย อาทิ เฟสบุ๊ค อินสตาแกรม ยูทูป ในการประชาสัมพันธ์ ซึ่งเข้าถึงกลุ่มคนอ่านได้โดยตรงและทันที
“ที่ผ่านมาวงการหนังสือเคยกลัวว่าโซเชียลมีเดียจะทำให้คนอ่านหนังสือลดน้อยลง ปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้นในครั้งนี้จากหลายสำนักพิมพ์ สามารถพิสูจน์ได้ว่าโซเชียลมีเดียและหนังสือสามารถส่งเสริมกันได้ ในแง่ของการเผยแพร่ข่าวสารและสร้างความรุ้สึกอยากอ่านให้แก่ผู้อ่าน วิธีการสื่อสารระหว่างสำนักพิมพ์กับผู้อ่านด้วยโซเชียลมีเดียถือว่าได้ผลอย่างยิ่งในกลุ่มคนรุ่นใหม่ทั้งวัยรุ่นและวัยทำงาน ซึ่งตลาดหนังสือกลุ่มนี้เป็นกลุ่มที่น่าสนใจมากและมีแนวโน้มที่จะเติบโตขึ้นเรื่อยๆ
ปรากฏการณ์อื่นที่น่าสนใจในสัปดาห์หนังสือฯครั้งนี้นั้น นอกจากจะมีผู้เข้าร่วมงานมากกว่าที่คาดแล้ว ยังมีเรื่องที่เป็นนิมิตหมายที่ดีคือกลุ่มผู้เข้าร่วมงานมีอายุน้อยลง ซึ่งคนกลุ่มนี้เป็นความหวังของสังคมไทย แสดงว่าคนรุ่นใหม่มีความสนใจในหนังสือมากขึ้น” นายจรัญกล่าว