รวยจริง!อึ้งนายกฯ ยิ่งลักษณ์ มีทรัพย์สินมากกว่าคนทั่วไป 9,000 เท่า

รวยจริง!อึ้งนายกฯ ยิ่งลักษณ์ มีทรัพย์สินมากกว่าคนทั่วไป 9,000 เท่า

รวยจริง!อึ้งนายกฯ ยิ่งลักษณ์ มีทรัพย์สินมากกว่าคนทั่วไป 9,000 เท่า
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

สถาบันอนาคตไทยฯ เผยผลศึกษา ‘8 ข้อเท็จจริง ความเหลื่อมล้ำในไทย’ พบเกิดช่องว่างรายได้คนรวย-จนสูง 21 เท่า ความเหลื่อมล้ำด้านมั่นคั่งไทยรั้งท้ายอันดับโลก นายกฯ มีทรัพย์สินสูงกว่าคนทั่วไป 9 พันเท่า ‘ดร.เศรษฐพุฒิ’ แนะเร่งสร้างความเท่าเทียมทางโอกาส เข้าถึงสิทธิสวัสดิการสังคม หวังยกระดับรายได้ แทนโครงการประชานิยม

วันที่ 4 เมษายน 2557 มูลนิธิสถาบันอนาคตไทยศึกษา จัดแถลงข่าวผลการศึกษา ‘8 ข้อเท็จจริง ความเหลื่อมล้ำในไทย’ ณ มูลนิธิสถาบันอนาคตไทยศึกษา ชั้น 23 อาคารดิ ออฟฟิศเศส แอท เซ็นทรัลเวิลด์

โดยผลการศึกษา พบว่า

ข้อเท็จจริงที่ 1 ปัญหาความเหลื่อมล้ำของไทยไม่ได้ดีขึ้นเลยจากเมื่อ 3 ทศวรรษที่ผ่านมา พิสูจน์ได้จากเดิมครอบครัวที่จนที่สุด 10% มีรายได้เฉลี่ย 1,429 บาท/เดือน ครอบครัวที่รวยที่สุด 10% มีรายได้เฉลี่ย 28,808 บาท/เดือน ผ่านมา 25 ปี รายได้ของครอบครัวที่รวยที่สุดโตขึ้นกว่า 3 เท่า ในขณะที่ครอบครัวที่จนที่สุดโตไม่ถึง 3 เท่า นั่นแสดงว่า กลุ่มที่มีรายได้น้อยไล่ตามกลุ่มรายได้สูงไม่ทัน ทำให้ปัจจุบันเกิดช่องว่างสูงถึง 21 เท่า จากที่เคยต่างกัน 20 เท่า เมื่อ 25 ปีก่อน

ข้อเท็จจริงที่ 2 ครอบครัวส่วนใหญ่ในหมู่บ้านที่จนที่สุด คือ ครอบครัวที่มีคนชราเป็นหัวหน้าครอบครัว มิใช่ชาวนาหรือเกษตรกรที่เข้าใจกัน ซึ่งคนชราที่มีอยู่ราว 40% นั้นมีรายได้หลักจากเงินที่ลูกหลานส่งมาให้ ส่วนใหญ่เป็นพื้นที่ภาคอีสาน ส่วนกลุ่มใหญ่ที่สุดของครอบครัวรวยที่สุด 10% เป็นครอบครัวที่ประกอบอาชีพเฉพาะทาง เช่น หมอ วิศวกร คิดเป็น 40% ของครอบครัวในกลุ่มนี้ ส่วนอีก 12% เป็นเจ้าของธุรกิจ อีกทั้ง ราว 9% ของกลุ่มครอบครัวที่ร่ำรวยเป็นเกษตรกรภาคใต้ แสดงว่าการเป็นเกษตรกรไม่จำเป็นต้องยากจนเสมอไป

ข้อเท็จจริงที่ 3 เกือบครึ่งของครอบครัวไทยมีรายได้น้อยกว่า 15,000 บาท/เดือน รายได้เฉลี่ยทั้งประเทศอยู่ที่ 23,000 บาท/เดือน ซึ่งตัวเลขนี้เป็นเพียงครอบครัวไม่ถึง 30% ที่มีรายได้สูงกว่า และคนส่วนมากราว 2 ใน 3 มีรายได้น้อยกว่านี้

ข้อเท็จจริงที่ 4 ความเหลื่อมล้ำที่แท้จริงแย่กว่าที่รายงานทั่วไปอย่างน้อย 25% จากข้อมูลการสำรวจภาวะเศรษฐกิจและสังคมของครัวเรือน สำนักงานสถิติแห่งชาติ อยู่ที่ประมาณ 6.4 ล้านล้านบาท แต่สำนักงานคณะกรรมการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ มีการประมาณการเช่นกัน พบอยู่ที่ประมาณ 7.3 ล้านล้านบาท ซึ่งต่างจากที่สำรวจเกือบ 1 ล้านล้านบาท หรือหายไปราว 14% ของรายได้ครัวเรือนที่ได้จากการสำรวจ โดยการที่ข้อมูลรายได้ที่สำรวจมาไม่ครบแล้วขาดรายได้ของครอบครัวที่มีฐานะนั้น แสดงว่าความเหลื่อมล้ำของจริงต้องสูงกว่าที่รายงานอยู่ในปัจจุบัน

ถ้านำรายได้เกือบ 1 ล้านล้านบาท กลับมารวมเข้าไปในกลุ่มที่รวยที่สุด 20% ความแตกต่างกับกลุ่มที่จนที่สุด 20% จะเพิ่มจาก 11 เท่า เป็น 14 เท่า หรือกว่า 25% โดยจะมีผลให้การจัดอันดับความเหลื่อมล้ำของไทยจากเดิมอยู่ที่อันดับ 121 ตกลงไปอยู่ที่ 135 จากทั้งหมด 157 ประเทศ ใกล้เคียงสวาซิแลนด์และเอลซัลวาดอร์

ข้อเท็จจริงที่ 5 ความเหลื่อมล้ำด้านความมั่งคั่งไทยอยู่เกือบอันดับสุดท้ายของโลก โดยไทยอยู่อันดับ 162 จาก 174 ประเทศ ใกล้เคียงกับเวเนซูเอลาและอินโดนีเซีย ขณะที่ประเทศในอาเซียนอย่างเวียดนามอยู่ในอันดับที่ 34 และมาเลเซีย อันดับที่ 159 ส่วนญี่ปุ่นนั้นนับเป็นประเทศในเอเชียที่มีความเหลื่อมล้ำน้อยที่สุด อันดับที่ 11

ข้อเท็จจริงที่ 6 ทรัพย์สินเฉลี่ยของครอบครัวสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร (ส.ส.) แต่ละครอบครัวรวยกว่าอีก 99.999% ของครอบครัวไทย โดยทั้งหมด 500 คน ที่ได้รับเลือกตั้งมาเมื่อปี 2554 นั้น มีทรัพย์สินเฉลี่ย 81 ล้านบาท มากกว่ามูลค่าทรัพย์สินของ 99.999% ของครอบครัวไทย ซึ่งถ้านำทรัพย์สินของส.ส.ทั้งหมดมารวมกันจะมีมูลค่าประมาณ 4 หมื่นล้านบาท ซึ่งมากพอ ๆ กับทรัพย์สินของเกือบ 2 ล้านครอบครัวรวมกัน

เมื่อดูข้อมูลเฉพาะผู้นำประเทศอย่างนายกรัฐมนตรีของไทย 'น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร' มีมูลค่าทรัพย์สินสูงกว่าคนที่มีมูลค่าทรัพย์สินสุทธิกึ่งกลางเกือบ 9,000 เท่า ซึ่งสูงมากเมื่อเทียบกับประเทศอื่น ๆ เช่น อินเดีย (2,000 เท่า) ฟิลิปปินส์ (650 เท่า) อังกฤษ (50 เท่า) และออสเตรเลีย (9 เท่า)

ข้อเท็จจริงที่ 7 นอกจากรายได้และทรัพย์สินยังมีความเหลื่อมล้ำในมิติอื่น ๆ เช่น การเข้าถึงการศึกษา สาธารณสุขที่มีคุณภาพ โดยพบว่า นอกจากกลุ่มคนที่รวยที่สุดจะมีรายได้และทรัพย์สินสูงกว่ากลุ่มคนที่จนที่สุดแล้ว ลูกหลานของครอบครัวดังกล่าวยังได้ศึกษาในโรงเรียนที่ดีกว่าด้วย กระทั่งมีโอกาสได้เรียนต่อถึงระดับปริญญาตรี แม้แต่การศึกษาขั้นพื้นฐานที่ควรได้รับอย่างเท่าเทียมกัน เด็กในครอบครัวที่รวยยังสอบผ่านการทดสอบระดับนานาชาติ (PISA) มากกว่าเด็กในครอบครัวที่จนที่สุด

ข้อเท็จจริงที่ 8 ความเหลื่อมล้ำที่สำคัญที่สุดที่ควรแก้คือความเหลื่อมล้ำด้านโอกาส ซึ่งคงเป็นไปไม่ได้ที่จะทำให้ทุกคนมีรายได้เท่ากัน แต่สิ่งที่ทำได้คือการให้โอกาสที่เท่าเทียมกันในการเข้าถึงบริการของรัฐ โดยเฉพาะการศึกษาและสาธารณสุขที่มีคุณภาพ จึงจะสามารถยกระดับให้ทุกคนมีรายได้ขั้นสูงขึ้นได้

ดร.เศรษฐพุฒิ สุทธิวาทนฤพุฒิ ประธานกรรมการบริหารสถาบันอนาคตไทยศึกษา กล่าวว่า จากข้อมูลผลการศึกษาดังกล่าวสิ่งที่ต้องทำทันทีจำเป็นต้องแก้ไขความเหลื่อมล้ำให้ทุกคนได้รับโอกาสที่เท่าเทียมกัน เพราะหากจะแก้ไขความเหลื่อมล้ำทางรายได้และทรัพย์สินให้ได้นั้นต้องใช้ระยะเวลายาวนาน

“ความเหลื่อมล้ำด้านโอกาสสามารถสร้างความขัดแย้งต่าง ๆ ขึ้น ซึ่งหลายคนอาจจะรับได้ที่ชีวิตเกิดมาไม่เหมือนกัน แต่สิ่งที่จะทำให้หลายคนรับไม่ได้ คือ โอกาสที่ไม่เท่าเทียมกัน” ประธานฯ สถาบันอนาคตไทยศึกษา กล่าว และเปรียบว่าเหมือนกับคนวิ่งแข่ง ทุกคนจะรับได้กับกติกาแพ้ชนะ แต่หากมีจุดเริ่มการแข่งขันไม่เท่ากันหรือไม่ได้รับโอกาสเข้าร่วมแข่งขัน สิ่งนี้จะรับไม่ได้และสร้างความขัดแย้งให้สูงขึ้น

ดร.เศรษฐพุฒิ กล่าวด้วยว่า ในช่วงนี้ที่มีหลายคนรู้สึกว่ามีการนำเงินภาษีไปใช้ในโครงการประชานิยมที่ไม่เหมาะสม เรียกง่าย ๆ ว่านำเงินกลุ่มหนึ่งไปให้อีกกลุ่มหนึ่ง ซึ่งการมุ่งเน้นความเหลื่อมล้ำด้านรายได้จะทำให้มีคนได้และเสีย แต่หากหันมามุ่งเน้นความเหลื่อมล้ำด้านโอกาส ให้ทุกคนเข้าถึงสิทธิสวัสดิการสังคมที่เท่าเทียมกัน ทุกคนจะมีสิทธิมากขึ้น 

 

ขอบคุณข้อมูลจาก สำนักข่าวอิศรา http://www.isranews.org

ติดตามอ่านต่อได้ที่  http://www.isranews.org/isranews-news/item/28409-future1.html

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook