รัฐงัดวิธีพยุงราคาข้าวนาปรัง สต๊อกเพิ่มของบฯกลางจ่ายดอกเบี้ย
กขช.ถก มาตรการช่วยเหลือข้าวนาปรังราคาดิ่งเหว เหลือตันละ 7,000 บาท จับตาบังคับโรงสีผู้ส่งออกเก็บสต๊อกเพิ่ม-ซื้อข้าวเปลือกราคานำตลาด ขอใช้ "งบฯกลาง" จ่ายชดเชยดอกเบี้ย เงินจำนำข้าวที่ยังค้างชาวนาอีกแสนล้านบาทยังวังเวง คลังไร้ทางออก
ชาวนากำลังตกที่นั่งลำบากยิ่งขึ้น เมื่อเงินจำนำข้าวที่ได้จากเงินยืมทดรองราชการจำนวน 20,000 ล้านบาทจะหมดลงในสัปดาห์นี้ แต่ยังมียอดค้างจ่ายเงินจำนำข้าวให้กับชาวนาไม่ต่ำกว่า 100,000 ล้านบาท ในขณะที่เงินจากการระบายข้าวของกระทรวงพาณิชย์ก็ไม่สามารถนำมาจ่ายเงินจำนำข้าวให้กับชาวนาได้ เนื่องจากติดเงื่อนไขของคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) บังคับให้กรมการค้าต่างประเทศ ในฐานะผู้ยืมจะต้องขายข้ายในสต๊อกรัฐบาลแล้วนำเงินมาคืนให้กับกระทรวงการคลังจนครบ 20,000 ล้านบาทภายในวันที่ 31 พฤษภาคมนี้
กขช.ประชุมพยุงราคาข้าว
ผู้สื่อข่าว "ประชาชาติธุรกิจ" รายงานเข้ามาว่า การบังคับคืนเงิน 20,000 ล้านบาท มีผลทำให้ กระทรวงพาณิชย์ต้องกลับมาเร่งดำเนินการเพื่อระบายข้าวในสต๊อกรัฐบาลออกสู่ตลาดให้มากที่สุดทั้งในและนอกประเทศในช่วง2 เดือนที่ผ่านมามากกว่า 1 ล้านตัน
โดยมาตการที่ต้องเร่งการระบายข้าวดังกล่าวส่งผลกระทบทำให้ราคาข้าวในตลาดตกต่ำลงมาเป็นประวัติการณ์ โดยข้าวขาว 100% ชั้น 2 ราคาอยู่ที่ 1,180 บาท-1,200 บาท (100 กก.) ส่วนข้าวขาว 5% ราคาเหลืออยู่เพียง 1,130-1,150 บาทเท่านั้น ส่งผลกระทบต่อเนื่องให้ราคาข้าวเปลือกที่ชาวนาขายได้จะตกประมาณ 7,000-7,400 บาท/ตัน
ผลของราคาข้าวที่ตกลงมา ทำให้รัฐบาลจะเรียกประชุมคณะกรรมการนโยบายข้าวแห่งชาติ (กขช.) ในวันที่ 10 เมษายนที่จะถึงนี้ โดยจะพิจารณามาตรการช่วยเหลือข้าวนาปรัง 2557 จำนวน 4 มาตรการคือ 1) การสนับสนุนสภาพคล่องให้กับผู้ประกอบการค้าข้าว ด้วยการให้ผู้ประกอบการรับซื้อข้าวเปลือกจากชาวนาใน "ราคานำตลาด" แล้วรัฐบาลจะชดเชย "ส่วนต่าง" ดอกเบี้ยผ่านธนาคารพาณิชย์ในอัตราร้อยละ 3 เป็นเวลา 3 เดือน
ขอเงินชดเชยค่าดอกเบี้ย
2) การจัดตลาดนัดข้าวเปลือก 3) การผลักดันการส่งออกข้าวในช่วงต้นฤดูและการหาตลาดใหม่ และ 4) การเพิ่มปริมาณสต๊อกข้าวของผู้ส่งออกภายใต้ พ.ร.บ.การค้าข้าว 2489 จากที่เดิมกำหนดไว้ให้ดำรงสต๊อกข้าวไว้ไม่น้อยกว่า 500 ตันเป็น 1,000 ตัน โดยปริมาณสต๊อกข้าวที่ต้องเก็บเพิ่มขึ้นนี้ รัฐบาลจะชดเชยอัตราดอกเบี้ยให้กับผู้ประกอบการร้อยละ 3 ของมูลค่าข้าวที่เก็บรักษาไว้เช่นกัน
รายงานข่าวจากธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) แจ้งเข้ามาว่า ในการประชุม กขช.สัปดาห์นี้ จะมีการหารือถึงการขอ "งบฯกลาง" ของรัฐบาลมาช่วยค่าใช้จ่ายดอกเบี้ยในการสต๊อกข้าวของผู้ส่งออก-โรงสีข้าว ซึ่งเป็น 1 ใน 4 มาตรการที่กำหนดไว้ช่วยเหลือราคาข้าวนาปรังที่กำลังตกต่ำลง โดยคาดว่าจะใช้งบฯกลางไม่มากนัก
"รัฐบาลจะช่วยค่าใช้จ่ายที่เป็นภาระดอกเบี้ยแก่ผู้ส่งออกและโรงสีที่สต๊อกข้าว โดยการสต๊อกข้าวจะมีช่วงเวลาจำกัด เช่น 6 เดือน และกำหนดว่าต้องสต๊อกขั้นต่ำ 500 ตัน ส่วนขั้นสูงจะขึ้นอยู่กับการส่งออก ซึ่งอาจกำหนดเป็นเปอร์เซ็นต์ของปริมาณข้าวที่จะส่งออก โดยจะให้ทางกรมการค้าภายใน (คน.) เป็นหน่วยงานเบิกจ่ายงบฯกลางไปจ่ายให้ผู้ประกอบการ" แหล่งข่าวกล่าว
นอกจากนี้ยังมีการหารือกันถึงข้อเสนอของผู้ส่งออกข้าว ที่ต้องการให้กรมการค้าต่างประเทศหยุดระบายข้าวในลักษณะที่ต้องทำ MOU เนื่องจากมองว่าปริมาณข้าวจะมาก และราคาจะต่ำกว่าราคาตลาด
กลุ่มโรงสีรอความชัดเจน
ในขณะที่กลุ่มผู้ประกอบการโรงสีข้าวก็กำลังจับตามองการประชุม กขช.ครั้งนี้ เนื่องจากก่อนหน้านี้มีการหารือในคณะอนุกรรมการรักษาเสถียรภาพราคาข้าว ถึงแนวทางการซื้อข้าวเปลือกในราคานำตลาด อาทิ ราคาตลาด 7,300 บาท/ตัน ให้โรงสีรับซื้อ 7,400 บาท/ตัน โดยรัฐบาลจะชดเชยอัตราดอกเบี้ยให้ "เรากำลังรอความชัดเจนจากมาตรการนี้อยู่เช่นกัน แต่ในทางปฏิบัติคงยาก ต้องขอดูรายละเอียดการชดเชยอัตราดอกเบี้ยก่อน เพราะข้าวเปลือกกำลังราคาตก จากการเร่งระบายข้าวในสต๊อกรัฐบาล แล้วอยู่ ๆ จะให้เราออกมาซื้อข้าวในราคานำตลาด สวนทางกับราคาที่ตกลง" ผู้ประกอบการโรงสีให้ความเห็น
ธกส.แจงเงินเหลือ 1.3 พันล้าน
สำหรับการจ่ายเงินจำนำข้าวให้กับชาวนาตามเงินยืมทดรองราชการจำนวน 20,000 ล้านบาทนั้น แหล่งข่าวในธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) กล่าวว่า การจ่ายเงินน่าจะครบเต็มวงเงินภายในสัปดาห์นี้ หลังจากตัวเลข ณ วันที่ 4 เมษายน 2557 เหลือวงเงินอยู่ประมาณ 1,300 ล้านบาทเศษ โดยสาเหตุที่มีการจ่ายเงินจำนำข้าวล่าช้าไปจากเดิมที่คาดว่าจะจ่ายหมดตั้งแต่สิ้นเดือนมีนาคม เกิดจากการติดต่อเกษตรกรบางราย มาทำสัญญาไม่ได้ในทันทีที่สาขาแจ้งไป
ขณะที่เงินจากกองทุนช่วยเหลือชาวนา ที่อนุมัติจัดสรรไปแล้ว 1,000 ล้านบาท ณ วันที่ 4 เมษายน ได้มีการจ่ายไปแล้ว 480 ล้านบาท จากยอดเงินช่วยเหลือในกองทุนทั้งหมด 1,441 ล้านบาท
ใบประทวนค้างเบิก 1 แสนล้าน
ส่วนเงินจำนำข้าวตามใบประทวนที่ค้างจ่ายอยู่อีก 100,000 ล้านบาทนั้น แหล่งข่าวในธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) กล่าวว่า หน่วยงานที่เกี่ยวข้องกำลังหารือว่า หากกระทรวงการคลังไม่สามารถจัดหาเงินกู้มาให้ได้ก็คงต้องรอ รัฐบาลใหม่ ที่มีอำนาจเต็มเข้ามาอนุมัติ และในช่วงระหว่างนี้จะมีเงินจากกองทุนช่วยเหลือชาวนา กับเงินจากการระบายข้าว (หัก 20,000 ล้านบาทตามเงื่อนไขของ กกต.ออกแล้ว) สำหรับนำมาจ่ายให้ชาวนาเท่านั้น
ล่าสุดมีรายงานข่าวเข้ามาเพิ่มเติมว่า ในการประชุมคณะกรรมการนโยบายข้าวแห่งชาติ (กขช.) วันที่ 10 เมษายนนี้ ธ.ก.ส.จะเสนอให้กรมการค้าต่างประเทศ (คต.) กันเงินระบายข้าวส่วนหนึ่งประมาณเดือนละ 1,000 ล้านบาท เพื่อนำมาให้กับ ธ.ก.ส.สำหรับจ่ายเงินจำนำข้าวให้กับชาวนานอกเหนือไปจากจ่ายคืนให้กับกระทรวงการคลัง (20,000 ล้านบาท) ด้วย