ใช้ "เฟซบุ๊ก" สร้างโอกาสธุรกิจ บทเรียนของคนตัวเล็กในโลกใบใหญ่
เรื่อง ความอินเทรนด์ไม่มีใครเกินคนไทย ไม่น่าแปลกใจที่ "กรุงเทพมหานคร" ได้กลายเป็นเมืองหลวงของยักษ์โซเชียลเน็ตเวิร์กดัง "เฟซบุ๊ก" ด้วยฐานผู้ใช้งานกว่า 24 ล้านคน
หมายความว่า ถ้าใช้ "เฟซบุ๊ก" ให้ถูกทางจะเข้าถึงผู้บริโภค 1 ใน 3 ของทั้งประเทศได้ ดังนั้นผู้ประกอบการ ไม่ว่าจะระดับเล็กหรือยักษ์ใหญ่จึงไม่ควรมองข้ามการต่อยอดการใช้งานจากเครือ ข่ายสังคมออนไลน์แห่งนี้
สำหรับ "เฟซบุ๊ก" ด้วยความนิยมของคนไทยระดับนี้ย่อมไม่ธรรมดา จึงถึงเวลาแล้วที่จะประกาศการรุกตลาดในประเทศไทยอย่างเป็นทางการ"แอร์โรว์ กัว" หัวหน้ากลุ่มธุรกิจเอสเอ็มบี กลุ่มประเทศจีนแผ่นดินใหญ่ และเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ เฟซบุ๊ก ระบุว่าฐานผู้ใช้งานเฟซบุ๊กทั่วโลกมีทั้งหมด 1,200 ล้านคน ขณะที่สัดส่วนรายได้ของเฟซบุ๊กมาจากการโฆษณาผ่านช่องทางโทรศัพท์มือถือ 52% และมีฐานผู้ใช้งานที่เป็นธุรกิจเอสเอ็มบี (ธุรกิจขนาดกลางและย่อม) ประมาณ 25 ล้านคนทั่วโลก ซึ่งในจำนวนนี้มีประมาณ 1 ล้านราย โฆษณาผ่านเฟซบุ๊ก
แม้ขณะนี้การทำตลาดในประเทศไทยจะดำเนินการผ่าน สำนักงานที่ประเทศสิงคโปร์ เพื่อรอดูกระแสตอบรับจากการทำตลาดก่อนตัดสินใจวางแผนเปิดสาขา แต่ประเทศไทยถือเป็นตลาดที่มีความสำคัญของเฟซบุ๊กในภูมิภาคเอเชีย โดยข้อมูล ณ ธ.ค. 2556 ผู้ใช้งานต่อเดือน 24 ล้านคน มีผู้ใช้งานต่อวัน 16 ล้านคน มีจำนวนผู้ใช้งานเฟซบุ๊กผ่านอุปกรณ์เคลื่อนที่ 21 ล้านคนต่อเดือน มีจำนวนผู้ใช้งานเฟซบุ๊กผ่านอุปกรณ์เคลื่อนที่ 13 ล้านคนต่อวันมากกว่านั้น กรุงเทพฯยังเป็นเมืองที่มีผู้ใช้ "อินสตาแกรม" เป็นอันดับ 2 ของโลกด้วย
"99% ของภาคธุรกิจในไทยเป็นเอสเอ็มบี หรือคิดเป็น 2.9 ล้านราย ซึ่งมีไม่น้อยที่เป็นผู้ใช้เฟซบุ๊กด้วย แต่ยังมีอีกมากที่ยังไม่ได้ใช้งาน ชี้ให้เห็นว่าเรายังมีโอกาสทางธุรกิจอีกเป็นอย่างมากสำหรับตลาดประเทศไทย ซึ่งเป้าหมายของเราคือดึงเอสเอ็มบีทั้งหมดในไทยให้เข้ามาใช้เฟซบุ๊ก โดยทำให้เขาทราบว่าจะใช้เฟซบุ๊กอย่างไรให้เกิดประสิทธิภาพสูงสุด โดยจะเข้าไปช่วยเอสเอ็มบีไทยให้ประสบความสำเร็จในการใช้เฟซบุ๊กช่วยทำ ธุรกิจ"
เครื่องมือคุมต้นทุนโฆษณา
"เฟซบุ๊ก" เป็นเครื่องมือการตลาดที่ใช้ได้ฟรี ง่าย และเข้าถึงลูกค้าได้เป็นจำนวนมาก และด้วยจำนวนคนไทยที่มีโทรศัพท์มือถือมากกว่า 95.5 ล้านเครื่อง ทำให้เป็นช่องทางการตลาดที่สำคัญ ข้อดีของ "เฟซบุ๊ก" สำหรับเอสเอ็มบี คือ ผู้ประกอบการสามารถควบคุมค่าใช้จ่ายในการทำโฆษณาได้ทั้งหมด
โดยค่าโฆษณาเริ่มต้นที่เพียง 150 บาทเท่านั้น นอกจากนี้บรรดา "เอสเอ็มบี" ยังสามารถใช้ "เฟซบุ๊ก" เข้าถึงหน้านิวส์ฟีดของกลุ่มลูกค้าเป้าหมายเพื่อกระตุ้นความต้องการซื้อได้ ต่างจากการใช้เสิร์ชเอ็นจิ้นในการโฆษณาที่เน้นจับกลุ่มลูกค้าที่มีความต้อง การซื้ออยู่แล้ว แต่ต้องการค้นหาข้อมูลสินค้าเพิ่มเติม เครื่องมือสร้างแบรนด์มีตัวอย่างที่น่าสนใจของ "เอสเอ็มบี" หน้าใหม่ในประเทศไทยที่สร้างแบรนด์ผ่านเฟซบุ๊ก
"เจมี่ โรแลนด์ โจนส์" กรรมการผู้จัดการ บริษัท พีชชี่ วิลเลจ จำกัด เล่าถึงที่มาของการสร้างแบรนด์ผลิตภัณฑ์อาหารสำหรับเด็กอ่อน "Peachy Baby Food" ว่า เริ่มต้นธุรกิจเมื่อ 2 ปีก่อน หลังจากเห็นโอกาสในตลาดที่ยังไม่ค่อยมีทางเลือกในกลุ่มผลิตภัณฑ์อาหารเด็ก แต่ด่านแรกที่ต้องฝ่าไปให้ได้คือ แบรนด์ยักษ์ใหญ่จากสหรัฐอเมริกาหรือแถบยุโรป ซึ่งมีพลังทางการตลาดมหาศาล เพราะอยู่ในตลาดนี้มาก่อน แต่ตนเห็นช่องว่างเรื่องเรื่องความมั่นใจว่าสินค้าปลอดภัย เป็นสิ่งที่ลูกค้ากลุ่มนี้ให้ความสำคัญจึงตัดสินใจใช้เฟซบุ๊กในการทำตลาด
"เรา คิดว่าถ้าเราใช้สื่อโซเชียลเน็ตเวิร์กน่าจะแข่งกับแบรนด์ใหญ่ ๆ ได้ เพราะจะมีพื้นที่ให้ลูกค้าฟังเรื่องราวของเรา เช่น มีการเล่าเหตุการณ์ตอนที่ลูกเราทานอาหารเสริม, ตอนที่ได้ อย., หรือให้ชาวสวนที่เป็นผู้จัดหาวัตถุดิบให้เราเป็นผู้เล่าเรื่อง
สิ่ง เหล่านี้จะทำให้ลูกค้าเข้าใจแบรนด์ของเรามากขึ้น และการเปิดหน้าเฟซบุ๊กยังทำให้เราได้รับฟีดแบ็กจากลูกค้าโดยตรง เพราะมีการคุยโต้ตอบกันได้ ซึ่งเรื่องนี้สำคัญมาก เพราะนำมาใช้พัฒนาสินค้าต่อไปได้"
ปัจจุบัน Peachy Baby Food มีจำนวนแฟนเพจประมาณ 65,000 คน กว่า 90% เป็นกลุ่มลูกค้าเป้าหมาย คือ พ่อแม่อายุ 25-40 ปี ที่มีลูกอายุ 6 เดือนถึง 2 ขวบ เป็นพ่อแม่กลุ่มที่พูดคุยกันเรื่องนมแม่และอาหารเด็ก แต่บริษัทจะไม่วางขายสินค้าบน "เฟซบุ๊ก" เพราะมองว่าเฟซบุ๊กเป็นช่องทางสร้างแบรนด์มากกว่า จึงวางขายตามห้างสรรพสินค้า, โมเดิร์นเทรด ตามปกติ
"เราใช้งบประมาณ การทำตลาดกว่า 40% ไปกับการทำตลาดบนเฟซบุ๊ก เพราะมองว่าถ้าเพจเฟซบุ๊กของเรามีฟีดแบ็กดี มีฐานแฟนเพจเยอะ จะทำให้ลูกค้าเชื่อมั่นในแบรนด์มากขึ้น สิ่งสำคัญคือต้องรู้ก่อนว่าแบรนด์เราเป็นอย่างไร ลูกค้าเป็นแบบไหน สนใจเรื่องอะไร เราจะให้ข้อมูลที่ช่วยเขาได้อย่างไร ถ้าเรานำเสนอข้อมูลอะไรก็ตามที่เป็นประโยชน์กับเขา สุดท้ายเขาก็จะนำข้อมูลนั้นไปแชร์ต่อให้เราเอง เราก็แค่ติดแบรนด์ของเราไปกับเนื้อหานั้น ๆ เท่านั้น"
ต่อยอดจากฟีดแบ็ก
"ศิ วัจน์ จารุกิจไพศาล" กรรมการผู้จัดการ บริษัท สไตล์เวิร์ค คอมเพนี จำกัดเจ้าของแบรนด์เสื้อผ้าแฟชั่นสำหรับผู้หญิง "Sleeping Pills" เริ่มทำธุรกิจผ่านอีคอมเมิร์ซเมื่อ 5 ปีที่แล้ว และเลือกใช้เฟซบุ๊ก เป็นสื่อในการทำตลาด เนื่องจากมองว่าบริษัทตนเองเป็นแบรนด์ใหม่ที่ไม่มีใครรู้จัก ขณะที่เฟซบุ๊ก ไม่ว่าจะเป็นแบรนด์เล็กหรือแบรนด์ใหญ่ก็มีรูปร่างหน้าตาของเพจลักษณะเดียว กันหมด ทำให้แบรนด์หน้าใหม่มีภาพลักษณ์ไม่ต่างกับแบรนด์ดัง ๆมากนัก จึงน่าจะเหมาะในการทำตลาด
"สินค้า เสื้อผ้าแฟชั่นไม่ใช่สิ่งใหม่ในตลาด แต่การที่เราลงโฆษณาในเฟซบุ๊กทำให้กลุ่มลูกค้าของเราเห็นศักยภาพของแบรนด์ Sleeping Pills ผมมองว่า การทำตลาดผ่านหน้าเฟซบุ๊กมีความได้เปรียบกว่าโฆษณาผ่านรูปแบบการโฆษณาอื่น หรือในเว็บไซต์อีคอมเมิร์ซ ตรงที่ทำให้เราได้ฟีดแบ็กนำไปปรับปรุงธุรกิจต่อได้ และยังเป็นช่องทางให้โปรโมตสินค้าใหม่ โดยให้ลูกค้าได้สอบถามข้อมูลได้
พื้นที่ให้ข้อมูลมากกว่ายอดขาย
สิ่งที่ 2 แบรนด์นี้เหมือนกันคือ ไม่ขายของผ่านเฟซบุ๊ก โดยเจ้าของแบรนด์ "Sleeping Pills" มองว่า มันมีเส้นแบ่งความต่างระหว่างผู้ประกอบการทั่วไปที่ขายสินค้าผ่านเฟซบุ๊ก กับการสร้างแบรนด์โดยที่ใช้เฟซบุ๊กเป็นช่องทางให้ข้อมูล ซึ่งความรู้สึกที่คนเข้าเพจได้รับจากเฟซบุ๊ก 2 แบบนี้จะมีความแตกต่างกัน ประกอบกับ "ราคา" สินค้าของ Sleeping Pills อยู่ในระดับ 2,000-13,000 บาท จึงควรใช้เฟซบุ๊กเป็นช่องทางแนะนำแล้วให้ลูกค้าไปลองสัมผัสสินค้าจริงที่วาง ขายตามห้างสรรพสินค้าดีกว่า โดยยอดขายแทบทั้งหมดมาจากช่องทางออฟไลน์ แต่เชื่อว่ากลุ่มลูกค้าส่วนใหญ่ดูข้อมูลในเฟซบุ๊กก่อนตัดสินใจมาซื้อ
"การ ลงโฆษณาในเฟซบุ๊กไม่ยาก เพียงแต่คุณต้องเข้าใจก่อนว่า เฟซบุ๊กทำงานอย่างไร เชื่อมผู้คนอย่างไร และเข้าถึงลูกค้าจากช่องทางไหนบ้าง นอกจากนี้เป้าหมายของการโฆษณาก็เป็นเรื่องสำคัญ ไม่ใช่ว่าโพสต์หนึ่งอย่างตอบโจทย์ทุกเรื่อง แต่ต้องคิดว่าต้องการทำเพื่ออะไร เช่น ให้ลูกค้าเห็นสินค้าชุดใหม่ หรือเชื่อมโยงเจ้าของแบรนด์เข้ากับแบรนด์ตนเอง เป็นต้น ส่วนการทำโฆษณาให้ตรงกลุ่มเป้าหมายเป็นเรื่องสำคัญ โดยปีที่ผ่านมาเรานำข้อมูลที่ได้จากหน้าอินไซด์ของเฟซบุ๊กมาวางแผนการลง โฆษณา ทำให้เข้าถึงลูกค้าได้ตรงกลุ่มขึ้น และตรงเวลาที่ใช้งานเฟซบุ๊กยิ่งกว่าเดิม ทำให้ยอดขายเพิ่มขึ้นถึง 20%"
โพสต์ให้เวิร์ก
นอก จากนี้ "ผู้บริหาร" เฟซบุ๊กยังมีคำแนะนำเพิ่มเติมด้วย มีด้วยกัน 5 ข้อ คือ 1.ต้องให้ความสำคัญกับรูปประกอบที่ต้องเห็นสินค้าชัดเจน และสวยงามดึงดูดใจ 2.การอัพเดตเนื้อหาบนเพจต้องให้สอดคล้องกับภาพลักษณ์ของแบรนด์ 3.ต้องจัดกิจกรรมเชื่อมโยงถึงแฟนเพจ อาทิ การโหวตหรือตั้งคำถามเพื่อให้ได้รับฟีดแบ็กจากลูกค้า 4.ควรโพสต์ข้อมูลใหม่อย่างสม่ำเสมอในช่วงเวลาที่เหมาะสม
โดยเน้นให้รับกับช่วงเวลาที่กลุ่มลูกค้าเป้าหมายชอบเข้ามาเล่นเฟซบุ๊กพอดี และ สุดท้ายคือการวางแผนการโพสต์ให้เหมาะสม ผสมผสานทั้งเนื้อหาประเภทข้อความ ภาพ และวิดีโอเข้าด้วยกัน นอกจากนี้สิ่งที่สำคัญมากอีกเรื่องก็คือ "คุณภาพของแฟนเพจ" นั่นคือกลุ่มแฟนเพจบนหน้าเฟซบุ๊กต้องตรงกับกลุ่มเป้าหมายที่ผู้ประกอบการต้องการสื่อสารด้วย
รู้กลเม็ดเคล็ดลับ และประสบการณ์จากกรณีศึกษาที่ประสบความสำเร็จมาแล้ว แค่นี้การใช้ "เฟซบุ๊ก" ต่อยอดหรือสร้างธุรกิจใหม่ ๆ ก็ไม่น่าจะเป็นสิ่งที่ยากเกินไปนัก