จับตาสัญญาณอันตราย! ตัดโอที-จ่ายเงินเดือนช้า นักธุรกิจชี้โรงงาน"กลาง-ย่อย"กระทบแล้ว
นายสมชาย พรรัตนเจริญ นายกสมาคมค้าส่งค้าปลีกไทย เปิดเผยว่า ขณะนี้ร้านค้าย่อย (โชห่วย) ทั่วประเทศ เริ่มได้รับผลกระทบจากการที่โรงงานผลิตสินค้าระดับล่างและโรงงานขนาดกลางและย่อย (เอสเอ็มอี) ลดเวลาทำงานจากปกติ (โอที) ลดสวัสดิการของพนักงาน และจ่ายเงินเดือนล่าช้า เพื่อลดภาระผู้ประกอบการและลดความเสี่ยงทางธุรกิจ หลังเริ่มได้รับผลกระทบจากภาวะเศรษฐกิจไทยที่ซบเซา และการส่งออกยังไม่ฟื้นตัวอย่างที่คาดการณ์ไว้ ซึ่งเป็นการซ้ำเติมยอดขายของร้านค้าโชห่วยให้ลดลงอีก จากที่กำลังได้รับผลกระทบอยู่แล้ว จากกรณีรัฐบาลจ่ายชำระเงินค่าจำนำข้าวให้ชาวนาล่าช้าและยอดเงินที่ได้รับยังค่อนข้างน้อย และความเดือดร้อนของเกษตรกรกับสินค้าราคาเกษตรตกลง โดยเฉพาะข้าวฤดูกาลใหม่นาปรัง 2557 ราคารับซื้อต่ำเหลือแค่ตันละ 5,000 บาท เทียบช่วงเดียวกันปีก่อนขายอย่างต่ำๆ ก็เกินตันละ 7,000-8,000 บาท และราคายางพารายังต่ำลงต่อเนื่อง รวมถึงปัญหาจากภัยแล้ง ที่ยังไม่ชัดเจนว่าจะกระทบต่อผลผลิตที่เสียหายไปเท่าไหร่
"กังวลว่ากำลังซื้อจากกลุ่มผู้ใช้แรงงานระดับล่างลดลง หรือเกิดการตกงาน ร้านค้าริมถนนจะได้รับผลกระทบเป็นด่านแรก เหมือนร้านค้าเล็กๆ ในต่างจังหวัด เริ่มเจอปัญหายอดขายลดลง ทำให้ต้องลดการสั่งซื้อสินค้าจากค้าส่ง ซึ่งยี่ปั๊วซาปั๊วอย่างเรา ก็ต้องลดการสั่งซื้อสินค้าจากผู้ผลิตสินค้า ทำให้โรงงานก็ต้องลดเวลาทำงาน จ่ายเงินล่าช้า ยังไม่รวมปัญหาการเลิกจ้างและบัณฑิตใหม่ตกงาน เงินรายได้ที่จะหมุนเวียนในระบบ 3-4 รอบเพื่อขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทยก็หายไป เห็นได้จากการปรับลดตัวเลขคาดการณ์ทางเศรษฐกิจของหน่วยงานต่างๆ" นายสมชายกล่าว
นายสมชายกล่าวว่า สัญญาณเตือนภัยต่อระบบเศรษฐกิจที่ไม่ดีนัก คือ การแข่งขันจัดแคมเปญส่งเสริมการขาย จัดรายการลด แลก แจก หรือแถมกันรุนแรงในขณะนี้ เพื่อเป็นการรักษาลูกค้าและพยุงรายได้บริษัท จึงอยากให้ปัญหาการเมืองจบลง เพราะเป็นต้นเหตุของปัญหาอื่นๆ โดยเฉพาะการบริโภคลดลง การท่องเที่ยวน้อยกว่าปกติ เงินฝืดเพราะคนระมัดระวังการใช้จ่ายกลัวรายได้อนาคตลดลงและตกงาน ตอนนี้ที่ดูว่าการค้าปลีกค้าส่งยังเดินได้ แต่ไม่ได้ขายได้ขายดีในทุกพื้นที่
น.ส.ผ่องพรรณ เจียรวิริยะพันธ์ อธิบดีกรมพัฒนาธุรกิจการค้า กล่าวว่า จากการลงพื้นที่ตรวจสอบภาวะการประกอบการของผู้ประกอบการธุรกิจ พบว่าภาคบริการในต่างจังหวัดมีการหดตัวบ้างแล้ว ซึ่งปัจจุบันสัดส่วน 70-80% เป็นธุรกิจต่างจังหวัด และส่วนใหญ่ยังใช้แรงงานในการผลิตอยู่จำนวนมาก หากได้รับผลกระทบย่อมกระทบต่อเศรษฐกิจไทยทั้งระบบ ซึ่งกรมกำลังเฝ้าติดตามและเตรียมหาแนวทางช่วยเหลือธุรกิจที่มีปัญหา โดยธุรกิจที่น่าห่วงคือธุรกิจที่ใช้แรงงานมาก เช่น การผลิตสิ่งทอ เครื่องเรือน เป็นต้น