เอ็นพีแอลพุ่ง แบงก์เพิ่มทีมทวงหนี้ หวั่นโดนชักดาบ-ตรวจเครดิตยิบ

เอ็นพีแอลพุ่ง แบงก์เพิ่มทีมทวงหนี้ หวั่นโดนชักดาบ-ตรวจเครดิตยิบ

เอ็นพีแอลพุ่ง แบงก์เพิ่มทีมทวงหนี้ หวั่นโดนชักดาบ-ตรวจเครดิตยิบ
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

แบงก์-น็อนแบงก์ พาเหรดเพิ่มทีมทวงหนี้-จ้างบริษัทตามหนี้ ลุยสกัดลูกค้าชักดาบ เศรษฐกิจทรุดไตรมาสแรกหนี้เสียพุ่งเฉียด 1.5 หมื่นล้านบาท โตทะลุ 5% จากสิ้นปีก่อน ค่าย "กรุงศรีฯ" เร่งจ้างมือฉมังตามหนี้เพิ่ม 150 คน เข้มงวดอนุมัติสินเชื่อ เจาะเครดิตลูกหนี้ถี่ยิบ ฟาก "เจเอ็มที" ส้มหล่นซื้อหนี้มาบริหารฟันกำไรอื้อ

ผู้สื่อข่าว "ประชาชาติธุรกิจ" สำรวจการเพิ่มขึ้นของหนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ (NPL) ของธนาคารพาณิชย์จำนวน 11 แห่ง พบว่าสิ้นไตรมาสแรกปีนี้ มียอดเอ็นพีแอลรวม 292,392 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 14,518 ล้านบาท หรือ 5.2.2% จากสิ้นปี 2556 ที่มีเอ็นพีแอลรวม 277,875 ล้านบาท โดยธนาคารที่มียอดเอ็นพีแอลเพิ่มขึ้นสูงสุด 3 อันดับแรก คือธนาคารเกียรตินาคิน เอ็นพีแอลเพิ่มขึ้น 13.72% ตามด้วยธนาคารซีไอเอ็มบี ไทยเพิ่ม 12.24% และธนาคารกรุงไทยเพิ่ม 10%

นายฐากร ปิยะพันธ์ กรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท อยุธยา แคปปิตอล เซอร์วิสเซส จำกัด หรือกรุงศรี คอนซูมเมอร์ เปิดเผย "ประชาชาติธุรกิจ" ว่า เริ่มเห็นคุณภาพของลูกหนี้มีการปรับตัวลดลง ตั้งแต่กลุ่มเริ่มผิดนัดชำระหนี้ (ค้างชำระตั้งแต่ 30 วัน แต่ไม่เกิน 90 วัน) กลุ่มเป็นเอ็นพีแอลแล้ว (ค้างชำระตั้งแต่ 90 วัน แต่ไม่เกิน 180 วัน) กลุ่มหนี้ตกตะกอน (ค้างชำระเกิน 180 วันขึ้นไป) ถือเป็นการเพิ่ม ขึ้นในทุกหมวด ตามภาวะเศรษฐกิจที่ชะลอตัว โดยเริ่มเห็นการก่อตัวตั้งแต่ช่วงไตรมาส 3/2556 และปรากฏชัดในช่วงไตรมาส 4/2556 จนถึงปัจจุบัน และยังเห็นแนวโน้มเพิ่มขึ้นถึงสิ้นปี 2557

ดังนั้น ในช่วงที่ผ่านมาบริษัทจึงจำเป็นต้องเพิ่มความเข้มงวดในการบริหารจัดการหนี้ ตั้งแต่ต้นน้ำจนถึงปลายน้ำ คือจะเริ่มตั้งแต่รูปแบบการอนุมัติสินเชื่อที่เข้มงวดมากขึ้น ซึ่งจะมีการเช็กข้อมูลเครดิตจากเครดิตบูโรอย่างละเอียด จากเดิมที่ตรวจสอบข้อมูลย้อนหลังเพียง 6-12 เดือน เพิ่มเป็น 24-36 เดือน รวมถึงปรับลดภาระหนี้ต่อรายได้จากเกณฑ์ขั้นพื้นฐานลง ทำให้ยอดการปฏิเสธสินเชื่อปรับตัวเพิ่มขึ้นมาอยู่ที่ 55-65% จากเดิมอยู่ที่ประมาณ 50%

สำหรับที่เป็นลูกหนี้แล้ว ก็จะถูกเช็กเครดิตถี่มากขึ้น เพื่อให้ทราบถึงประวัติการชำระหนี้ และติดตามพฤติกรรมทางการเงินด้านอื่น ๆ เช่น ไม่เคยใช้บัตรกดเงินสดก็เริ่มใช้ การขอเพิ่มวงเงินบัตรเพื่อวัตถุประสงค์อะไร ซึ่งเป็นการสอบถามข้อมูลอย่างละเอียดขึ้น

ส่วนลูกหนี้เพิ่มความเข้ม งวดในการบริหารจัดการหนี้อย่างมีนัยสำคัญ โดยเมื่อต้นปีนี้ ได้สั่งเพิ่มทีมงานในฝ่ายติดตามทวงหนี้เกือบ 150 คน และได้ขอความร่วมมือกับบริษัทรับจ้างติดตามทวงหนี้ภายนอก (เอาต์ซอร์ซ) ซึ่งเป็นพันธมิตรทั้ง 15 บริษัท ในการเพิ่มกำลังคนในการเข้ามาดูแลลูกหนี้ของบริษัทโดยเฉพาะอีก 20% เพื่อรองรับสถานการณ์ความไม่แน่นอนของเศรษฐกิจ

"เดิมตั้งเป้าเพิ่ม ทีมติดตามทวงหนี้ 150 คนครอบคลุมถึงสิ้นปี 2557 แต่แค่ไตรมาสแรกก็เพิ่มขึ้นเกือบถึงเป้าหมายแล้ว ไม่เกิน พ.ค.คงได้เต็มกำลังคน ถ้านับรวมกับช่วงไตรมาส 4 ที่ผ่านมา ในตอนนี้เราเพิ่มคนใหม่เข้ามาแล้วเกือบ 200 คน รวมแล้วมีกำลังทีมติดตามหนี้กว่า 1,000 คนแล้ว และยังสามารถดูแลลูกหนี้อย่างใกล้ชิดมากขึ้น จากเดิมที่ดูแลค่อนข้างหลายราย ซึ่งการเพิ่มกำลังคนติดตามหนี้ เราทำทั่วประเทศ ไม่ใช่เฉพาะแค่ในเขตกรุงเทพฯเท่านั้น เพราะภาพใหญ่ของเศรษฐกิจไม่ดี โดยต่างจังหวัด บริษัทก็เข้าไปเจรจากับบริษัทติดตามหนี้ท้องถิ่นเพิ่มมากขึ้นด้วย" นายฐากรกล่าว 

สำหรับการปฏิบัติตัวที่ถูกต้องของลูกหนี้ จะต้องคำนึงถึงเครดิตของตัวเองให้มาก อย่าเข้าใจว่าการขาดชำระหนี้ 1-2 ครั้ง ไม่ทำให้ประวัติเครดิตทางการเงินของตนเองเสียหาย เพราะหากมีความจำเป็นต้องกู้ยืมเพื่อนำไปใช้จ่ายในยามจำเป็น อาจมีความเสี่ยงต่อการไม่อนุมัติสินเชื่อได้ ดังนั้น จึงควรชำระหนี้อย่างตรงเวลา และหากมีปัญหาทางการเงินต้องปรึกษาสถาบันการเงินทันที

นายวรภัค ธันยาวงษ์ กรรมการผู้จัดการใหญ่ ธนาคารกรุงไทย กล่าวว่า ปีนี้ธนาคารจะให้ความสำคัญกับระบบติดตามทวงหนี้เพิ่มขึ้น โดยมีทั้งเพิ่มทีมติดตามทวงหนี้ เพิ่มคุณภาพในการติดตามหนี้ และกระจายงานไปอย่างครอบคลุม เช่น ทีมตรวจสอบความถูกต้องผ่านข้อมูลเบอร์โทรศัพท์ เดิมเบอร์โทรศัพท์ของลูกค้าที่ให้ไว้สามารถติดต่อเจ้าตัวได้จริงเพียง 30% แต่ธนาคารกำลังปรับปรุงให้สามารถติดต่อได้จริงเพิ่มขึ้นเป็น 70-80% 

"สิ่งเหล่านี้เชื่อว่าจะทำให้เอ็นพีแอลของธนาคาร ปรับตัวลดลงได้ภายใน 2 ปีข้างหน้านี้ ซึ่งปีนี้เราไม่สามารถทำอะไรที่บุ่มบ่ามได้ เพราะผลกระทบจากการเมืองที่ยืดเยื้อ โครงการจำนำข้าวได้ส่งผลเสียต่อภาคธุรกิจทั้งในเขตกรุงเทพฯและต่างจังหวัด ทำให้เราต้องระมัดระวังในการปรับตัวมากขึ้น โดยเฉพาะการเข้าไปบุกตลาดเอสเอ็มอีและรายย่อยซึ่งเป็นเป้าหมายหลักของเรา ทำให้ปีนี้เราต้องเพิ่มคุณภาพการติดตามหนี้เป็นพิเศษ"

สอดคล้องกับ นายเวทย์ นุชเจริญ รองกรรมการผู้จัดการใหญ่อาวุโส ธนาคารกรุงไทย กล่าวว่า เนื่องจากภาวะเศรษฐกิจค่อนข้างซบเซา ทำให้กลายเป็นตัวเร่งคุณภาพหนี้ให้แย่ลงมากขึ้น การบริหารจัดการหนี้ถือเป็นหัวใจหลักในการดำเนินงานในปีนี้ และตั้งแต่ต้นวันที่ 1 เม.ย.ที่ผ่านมา

ธนาคารได้ร่วมกับบริษัทบัตร กรุงไทย หรือเคทีซี (บริษัทลูก) ทำการติดตามทวงหนี้สินเชื่อรายย่อยที่มีหลักประกันและไม่มีหลักประกัน เช่นสินเชื่อบุคคลและสินเชื่อบ้านมากขึ้น ซึ่งธนาคารให้ความสำคัญกับลูกค้ารายย่อยมากเป็นพิเศษ เนื่องจากเป็นกลุ่มที่สร้างรายได้แก่ธนาคารมากถึง 70%

ขณะที่นายปิยะ พงษ์อัชฌา ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บมจ.เจเอ็มที เน็ทเวอร์คเซอร์วิสเซ็ส ผู้ประกอบการธุรกิจติดตามหนี้รายใหญ่ของไทย กล่าวว่า ผลการติดตามทวงหนี้ในช่วงไตรมาสแรกเติบโตได้ค่อนข้างดี บริษัทจึงได้ปรับเพิ่มเป้าหมายในการรับซื้อหนี้เสียเพิ่มขึ้นเป็น 13,000 ล้านบาท จากเดิมวางไว้ที่ 10,000 ล้านบาทและได้ตั้งเป้าการเติบโตของกำไรสุทธิเพิ่มขึ้น 80% จากปีก่อน เนื่องจากมีหนี้ที่ตัดต้นทุนหมดแล้วและสามารถรับรู้รายได้ได้ทั้ง 100% เป็นจำนวนมาก

สำหรับสัดส่วนลูกหนี้ในพอร์ตสินเชื่อที่บริษัทรับซื้อ มาบริหารตามหนี้ ส่วนใหญ่ 80% เป็นสินเชื่อส่วนบุคคล มีวงเงินสินเชื่อต่อรายเฉลี่ยอยู่ที่ประมาณ 15,000-20,000 บาท ส่วน 20% จะเป็นสินเชื่อรถยนต์ มีวงเงินต่อรายเฉลี่ยประมาณ 300,000 บาท โดยลูกหนี้ส่วนใหญ่จะเป็นพนักงานบริษัท โรงงาน ซึ่งในช่วงที่ภาวะเศรษฐกิจไม่ดี ยอมรับว่ามูลหนี้เฉลี่ยต่อรายปรับตัวสูงขึ้นบ้างเล็กน้อย

นายปิยะยัง กล่าวถึงกลุ่มลูกหนี้ที่ยังพอมีกำลังผ่อนชำระหนี้ บริษัทจะวางแผนการเงินร่วมกับลูกหนี้ โดยพิจารณาตามฐานข้อมูลในส่วนของรายได้และรายจ่าย เพื่อทำโปรแกรมใน การผ่อนชำระหนี้ตามความสามารถ หรือหากมีปัญหาก็มีโปรแกรมพักหนี้ให้ จนกว่าลูกหนี้จะมีกำลังผ่อน หรือการลดยอดวงเงินค้างชำระสูงสุด 60% ของมูลหนี้ทั้งหมด โดยทุกโปรแกรมจะไม่คิดอัตราดอกเบี้ย

นอกจากนี้ บริษัทยังมีโปรแกรมลดวงเงินชำระหนี้ 60% ซึ่งจะทำให้ลูกหนี้ผ่อนจ่ายเพียง 40% เท่านั้น โปรแกรมนี้จะสิ้นสุดในสิ้นเดือน เม.ย.นี้ แต่ขณะนี้กำลังพิจารณาขยายเวลาโปรแกรมนี้ไปอีก 1 เดือน เพราะเข้าใกล้ช่วงเปิดเทอม

"เราเน้นเจรจากับลูกหนี้ ทำให้ที่ผ่านมามีลูกหนี้ที่มีเจตนาเบี้ยวหนี้ไม่ถึง 10% เพราะเราจะเข้าไปรวบรวมหนี้ให้เป็นก้อนเดียวจากหลายสถาบันการเงิน แถมยังคิดโปรแกรมการชำระหนี้ตามกำลังของลูกค้า คือจ่ายแบบขั้นบันได และยังลดหนี้ให้ด้วย ส่วนใหญ่ลูกหนี้จึงยังจ่ายเป็นปกติ อีกทั้งการจ่ายหนี้ยังสามารถจ่ายได้ที่เคาน์เตอร์เซอร์วิสด้วย" นายปิยะกล่าว 

แหล่งข่าวจากธนาคารกสิกรไทยกล่าวยอมรับว่า การติดตามทวงถามหนี้ในช่วงที่ผ่านมาเข้มข้นมาก ทั้งตามเร็วขึ้นและเพิ่มความถี่มากขึ้น ธนาคารได้เพิ่มทีมภายในเพื่อติดตามทวงหนี้เพิ่ม 10% หรือประมาณ 40 คน จากปัจจุบันมีทีมงาน 400 คน ขณะเดียวกันยังได้ร่วมมือกับบริษัทภายนอกมากขึ้น ซึ่งหนี้ส่วนใหญ่จะเป็นหนี้สินเชื่อรายย่อยทั้งที่มีหลักทรัพย์ค้ำประกันและ ไม่มีหลักทรัพย์ค้ำประกัน

โดยขั้นตอนเริ่มจากทีมติดตามหนี้ภายใน ธนาคารจะส่งข้อความ (SMS) บอกลูกหนี้ก่อนระยะครบดีล 3 วัน หากครบกำหนดแล้วลูกหนี้ยังไม่ชำระค่างวดเพียง 1 วัน ทีมงานจะโทรศัพท์หาลูกค้าโดยทันที แต่หากเกิดเอ็นพีแอลแล้วจะเป็นหน้าที่ของบริษัทภายนอกในการติดตามทวงหนี้

"ส่วน ใหญ่ตอนนี้ยังติดตามหนี้ได้ แต่ก็เริ่มเห็นการบ่ายเบี่ยงมากขึ้นแล้ว เพราะภาพรวมเศรษฐกิจชะลอจริง ๆ ทั่วประเทศ ปีนี้ก็น่าจะเห็นภาพหนี้ที่เพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ แม้ตอนนี้แบงก์ไทยจะมีระบบการบริหารจัดการที่ดีขึ้น แต่ก็ได้แต่หวังว่าปัญหาการเมืองที่ยืดเยื้อจะจบลง เพื่อให้เศรษฐกิจไทยเดินหน้าต่อไปได้"

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook