ธปท.เรียกแบงก์พาณิชย์ดูแลการขายสินเชื่อพ่วงประกัน-ขายประกันทางโทรศัพท์

ธปท.เรียกแบงก์พาณิชย์ดูแลการขายสินเชื่อพ่วงประกัน-ขายประกันทางโทรศัพท์

ธปท.เรียกแบงก์พาณิชย์ดูแลการขายสินเชื่อพ่วงประกัน-ขายประกันทางโทรศัพท์
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

ธปท. เรียกแบงก์พาณิชย์ดูแลการขายสินเชื่อพ่วงประกันและขายประกันทางโทรศัพท์ อย่ารบกวนผู้บริโภคมากเกินไป

นางสาลินี วังตาล ผู้ช่วยผู้ว่าการสายกำกับสถาบันการเงิน ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) กล่าวว่า ธปท. ได้รับเรื่องร้องเรียนกรณีการขายสินเชื่อพ่วงประกันของธนาคารพาณิชย์ จึงเชิญผู้บริหารธนาคารเข้าหารือพร้อมกับเจ้าหน้าที่สำนักงานคณะกรรมการกำกับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัย(คปภ.) เพื่อดูแลผู้บริโภคมากขึ้น โดย

1.กำชับธนาคารพาณิชย์ห้ามบังคับขายสินเชื่อพ่วงประกัน และให้สิทธิกับลูกค้าในการตัดสินใจเลือกบริษัทประกันด้วยตนเอง

2.ให้ใช้ข้อความที่เข้าใจง่ายในการเสนอสินเชื่อและประกันกับลูกค้า เพราะที่ผ่านมามีรายละเอียดและความซับซ้อนที่อาจทำให้ลูกค้ามีความเข้าใจที่สับสน

3.ให้สาขาธนาคารพาณิชย์ดูแลลูกค้าหลังการซื้อประกัน เพราะถือเป็นนายหน้าที่เป็นตัวแทนของลูกค้า หลังพบกรณีมีข้อร้องเรียนว่าไม่ได้รับความสะดวกในการรับค่าสินไหมทดแทน

นอกจากนี้ยังสั่งกำชับให้ธนาคารพาณิชย์อย่านำข้อมูลของลูกค้าไปใช้หรือให้กับบริษัทในเครือ เพื่อขายผลิตภัณฑ์การเงินทางโทรศัพท์ โดยไม่ได้รับการยินยอมจากลูกค้า เพราะอาจมีความผิด หากร่าง พ.ร.บ.คุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล มีผลบังคับใช้ โดยจะมีทั้งโทษจำและปรับ ซึ่งขณะนี้ พ.ร.บ.คุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล อยู่ระหว่างการเตรียมนำเข้าการพิจารณาของสภาผู้แทนราษฎร ขณะเดียวกันผู้บริโภคมีสิทธิที่จะยกเลิกการเปิดเผยข้อมูลให้กับธนาคารหากพบว่ามีการรบกวนมากจนเกินไป

“ที่ผ่านมาผู้บริโภคมีการเซ็นยินยอมการเปิดเผยข้อมูลกับแบงก์พาณิชย์ในการขอสินเชื่อต่างๆ แต่ไม่ทราบว่าข้อมูลจะถูกนำไปให้กับบริษัทในเครือของธนาคาร ดังนั้น ธนาคารต้องอธิบายให้ลูกค้าเข้าใจด้วย ซึ่งลูกค้ามีสิทธิที่จะยกเลิกการเปิดเผยข้อมูลได้" นางสาลินี กล่าว

ขณะเดียวกันหากเจ้าหน้าที่ธนาคารมาเสนอขายประกันทางโทรศัพท์ ประชาชนสามารถตอบปฏิเสธการขายได้ ซึ่งข้อมูลเหล่านี้จะถูกส่งไปยังศูนย์รวมข้อมูลของธนาคารแต่ละแห่ง เพื่อไม่ให้มีการมาเสนอขายซ้ำซ้อนอีก นอกจากนี้ยังกำชับธนาคารพาณิชย์ไม่ให้มีการขายผลิตภัณฑ์เงินฝากและประกันทางโทรศัพท์มากเกินไปจนเป็นการรบกวนผู้บริโภค

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook