SCBหั่นGDP ปี 57เหลือ1.6% GDP Q1ขยายตัวเล็กน้อย
ไทยพาณิชย์ หั่น GDP ปี 57 เหลือโต 1.6% ส่งออก 4% เหตุการเมืองวุ่น ชี้ สูญเม็ดเงินแล้ว 8 แสนลบ. เชื่อ จีดีพี Q1 ขยายตัวได้เล็กน้อย แม้ ศก.นี้ชะลอลง ค่าเงินบาทอยู่ที่ 33 บาท/S
น.ส.สุทธาภา อมรวิวัฒน์ ผู้ช่วยผู้จัดการใหญ่ศูนย์วิจัยเศรษฐกิจและธุรกิจ (EIC) ธนาคารไทยพาณิชย์ จำกัด (มหาชน) เปิดเผยทิศทางเศรษฐกิจในปี 2557 ว่า จากสถานการณ์ทางการเมือง ที่ดำเนินมากกว่า 6 เดือน และมีแนวโน้มยืดเยื้ด จึงส่งผลลบต่อการลงทุนของภาครัฐ และความเชื่อมั่นภาคเอกชน โดยการรลงทุนภาครัฐหดตัวร้อยละ 6.6 และกระทบต่อการบริโภคภาคครัวเรือน หดตัวร้อยละ 0.5 เห็นได้จากปริมาณการซื้อรถยนต์ไตรมาสแรกของปีนี้ มีเพียง 70,000 คัน จากเดิมคาดว่าจะมีการซื้อรถยนต์ใหม่ 90,000 - 100,000 คัน และการลงทุนภาคเอกชนหดตัวร้อยละ 2.8 จึงส่งผลให้มูลค่าทางเศรษฐกิจลดลงไปแล้วกว่าร้อยละ 0.8 หรือคิดเป็นเม็ดเงินที่สูญไปกว่า 8 แสนล้านบาท ทำให้การเติบโตทางเศรษฐกิจไทยในปีนี้ จะขยายตัวได้เพียงร้อยละ 1.6 ลดลงจากเดิมที่เคยคาดการณ์ไว้ที่ร้อยละ 2.4
ขณะที่การส่งออก พบว่า ยังไม่ฟื้นตัวมากนัก โดยการส่งออกไทยในช่วงไตรมาสแรกของปีหดตัวร้อยละ 1 จากการหดตัวของการส่งออกรถยนต์ และส่วนประกอบไปยังตลาดหลัก รวมถึงสินค้าเกษตรสำคัญ เช่น ยางพารา และอาหารทะเล ทำให้ประเมินว่า การส่งออกปีนี้จะขยายตัวเพียงร้อยละ 4 ลดลงจากเดิมที่คาดการณ์ไว้ที่ร้อยละ 5 แต่ทั้งนี้ยังมีสัญญาณการฟื้นตัวจากการส่งออกสินค้าในหมวดอิเล็กทรอนิกส์ เครื่องใช้ไฟฟ้า และการส่งออกรถยนต์ ไปยังตลาดรอง ได้แก่ ซาอุดีอาระเบีย มาเลเซีย และฟิลิปปินส์
นอกจากนี้ น.ส.สุทธาภา ยังเปิดเผยว่าภาวะเศรษฐกิจที่ชะลอลง ทำให้มีโอกาสที่หนี้ครัวเรือนจะเพิ่มสูงขึ้น เนื่องจากรายได้ลดลงตามภาวะเศรษฐกิจ โดยเฉพาะรายย่อย และ เอสเอ็มอี แต่ทั้งนี้ คุณภาพสินเชื่อยังไม่อยู่ในเกณฑ์ที่น่ากังวล แม้ตัวเลขหนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ หรือ เอ็นพีแอล จะเพิ่มเล็กน้อย
ทั้งนี้ น.ส.สุทธาภา กล่าวว่า แม้เศรษฐกิจจะชะลอตัวลงแต่ยังไม่ถึงขั้นถดถอย โดยเชื่อว่าจีดีพีในไตรมาส 1 ปีนี้ ยังสามารถขยายตัวได้ไม่ถึงขั้นติดลบ แต่จะเติบโตเพียงเล็กน้อย และต้องจับตามองการไหลออกของเงินทุนอีกรอบ ในช่วงที่เหลือของปีนี้ เนื่องจากความไม่แน่นอนจากการเมืองในประเทศ และอัตราดอกเบี้ยนโยบายของไทยมีแนวโน้มปรับลดลง ส่วนทางกับประเทศเพื่อนบ้าน และอัตราดอกเบี้ยนโยบายของสหรัฐ ทำให้เกิดความเสี่ยงเงินทุนไหลออก ส่งผลเงินบาทอ่อนค่ามาอยู่ที่ 33 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐ ในสิ้นปีนี้