ชิลชิล เดือนละสี่ซ้าห้าหมื่น! ′รถพุ่มพวง′ มาแล้ว ขวัญใจมวลชนคนหมู่บ้าน

ชิลชิล เดือนละสี่ซ้าห้าหมื่น! ′รถพุ่มพวง′ มาแล้ว ขวัญใจมวลชนคนหมู่บ้าน

ชิลชิล เดือนละสี่ซ้าห้าหมื่น! ′รถพุ่มพวง′ มาแล้ว ขวัญใจมวลชนคนหมู่บ้าน
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

เดี๋ยวนี้มีแต่ "คนขาย" มากกว่า "คนซื้อ"!

เสียงบ่นจากคนรอบข้างถึงสถานการณ์การค้าการขายในบ้านเรา ที่พ่อค้าแม่ค้าผุดกันเป็นดอกเห็ดหน้าฝน โดยเฉพาะบริเวณหน้าห้างสรรพสินค้า หน้าอาคารสำนักงานใหญ่ๆ ไม่ต้องเอ่ยถึงแผงค้าในช้อปปิ้งเซ็นเตอร์ทั้งหลายที่ดูเหมือน...คนซื้อไม่ค่อยมี มีแต่คนมาเดินตากแอร์

ยุคเศรษฐกิจในกระเป๋าฝืดเคือง มนุษย์เงินเดือน ชนชั้นกลาง ไปจนถึงระดับล่างๆ จึงต้องเขียมกันจนตัวลีบ

แต่มีผู้ค้าอีกประเภท ที่นับแต่อดีตจนถึงปัจจุบันยังคงมีลูกค้าตลอดไม่เสื่อมคลาย และไม่ต้องวิตกว่าคอนวีเนียนสโตร์หรือซุปเปอร์สโตร์จะมาแย่งชิงลูกค้าไปได้เหมือนสภาพที่เกิดกับร้านโชห่วยแถวบ้าน

"รถพุ่มพวง"เอ่ยชื่อนี้อาจไม่เป็นที่รู้จัก แต่ถ้าบอกว่า "รถกับข้าว" น่าจะอ๋อ...สถานะของ "รถพุ่มพวง" จะว่าไปไม่ต่างจากธุรกิจขายตรง เข้าถึงทุกตรอกซอกซอย ทุกหมู่บ้าน วันไหนมีสินค้าพิเศษอะไรก็จะประกาศให้ทราบโดยถ้วนทั่วผ่านทางเครื่องขยายเสียงที่ติดตั้งอยู่ด้านบนของรถ ซึ่งไม่ได้มีเพียง "รถกระบะ" แม้แต่ "มอเตอร์ไซค์" ก็สามารถดัดแปลงเป็นรถขายกับข้าวได้อย่างน่าทึ่ง

ที่สำคัญคือ ถ้าลูกค้าอยากได้สินค้าเพิ่มเติมเป็นพิเศษก็สามารถแจ้งความประสงค์ไว้ วันต่อมาพ่อค้าก็จะนำสินค้าตามที่ออร์เดอร์ล่วงหน้ามาส่งให้ตามเวลาเป๊ะ

"รถพุ่มพวง" จึงเป็นขวัญใจของคนในซอยในหมู่บ้าน เพราะไม่ต้องเสียเวลาเดินไปถึงตลาด ก็สามารถหาซื้อผักสด-ผลไม้ได้

ว่าแต่มนุษย์รถพุ่มพวงเหล่านี้มาจากไหน อย่างไรกัน "มติชนประชาชื่น" โฉบไปจับเข่าคุยมาให้รู้จักกัน 2 เจ้า

เจ้าแรกเป็นแม่ค้าที่คร่ำหวอดในวงการนี้มานานถึง 10 ปี

ประทม ปรีเอี่ยม อายุ 46 ปี แม่ค้ารถพุ่มพวง ซึ่งมีสถานที่จอดขายประจำในซอยรามคำแหง 65 (ซอยมหาดไทย) เล่าให้ฟังว่า ก่อนที่จะมาประกอบอาชีพนี้ ทำนามาก่อน ส่วนสาเหตุที่ว่าทำไมถึงได้เปลี่ยนอาชีพทำนามาทำอาชีพนี้ ก็เพราะเห็นว่าการทำนานั้นนับวันมีแต่จะเพิ่มหนี้สิน เนื่องจากต้องใช้ต้นทุนค่อนข้างสูง เมื่อมีญาติแนะนำจึงตัดสินใจที่จะมาประกอบอาชีพนี้

สำหรับการลงทุน นอกจากรถกระบะแล้วก็มีทุนที่ใช้ในการซื้อของมาขายในแต่ละวัน โดยจะไปเลือกซื้อของที่ตลาดสุชาติย่านรังสิต ซึ่งอยู่ใกล้ที่พัก ตั้งแต่เที่ยงคืน เพื่อให้ทันจัดของขึ้นรถและไปขายได้ทันเวลาตี 5

สินค้าที่นำมาขายให้กับผู้บริโภคนั้นส่วนใหญ่จะเป็นของสด เช่น หมู ไก่ ปลา ผัก ฯลฯ มีของแห้งบางส่วน เช่น ผงชูรส ฯลฯ แต่มีของที่เหลือในแต่ละวันมากพอสมควร สินค้าที่ขายดีก็ได้แก่ปลากับหมู โดยผู้บริโภคส่วนใหญ่จะเป็นลูกค้าประจำ เช่น แม่บ้าน คนงานที่เริ่มงานในตอนเช้า รวมถึงแม่ค้าร้านอาหารตามสั่ง ขายถึงแค่เที่ยงวันก็กลับบ้านพักผ่อนได้

"ปกติแล้วค่าใช้จ่ายตกเฉลี่ยวันละ 15,000 บาท ซึ่งแม้จะดูมาก แต่สามารถคืนทุนได้ในวันเดียว หักค่าน้ำมันรถแล้ว มีกำไรจากการขายเฉลี่ยประมาณวันละ 1,500 บาท โดยสินค้าแต่ละอย่างนั้นได้กำไรตกประมาณชิ้นละ 10-15 บาท" ส่วนที่เลือกมาขายแถวๆ ซอยมหาดไทย เพราะเมื่อก่อนเคยพักอยู่รามคำแหง 39 จึงพอทราบว่าจะมีกลุ่มลูกค้าแถวไหน กลุ่มใด

ประทมบอกว่า ประกอบอาชีพนี้มาได้ 10 ปีแล้ว โดยจะหยุดทุกวันอาทิตย์ และว่าการเกิดขึ้นของร้านสะดวกซื้อไม่ค่อยส่งผลกระทบสักเท่าใด แม้ว่าสินค้าหลายๆ อย่าง เช่น น้ำปลา น้ำมัน ฯลฯ จะขายได้น้อยลง แต่ก็จะเลือกหาของสดมาขาย โดยจะเน้นผักสด-ผลไม้ตามฤดูกาล

มาคุยกับพ่อค้ารถพุ่มพวงกันบ้าง ธงชัย อำพลพงศ์ ขับรถพุ่มพวงเดินสายอยู่ในย่านประชาชื่น ประชานิเวศน์ งามวงศ์วาน

ธงชัยเล่าให้ฟังว่า ก่อนหน้าจะมาทำงานเป็นพ่อค้าตลาดสดเคลื่อนที่ ประกอบอาชีพอื่นมาไม่น้อย ไม่ว่าจะเป็นขับรถแท็กซี่ ขายข้าวแกง เป็นต้น กระทั่งมาลงตัวที่รถพุ่มพวง โดยเริ่มจากขายผลไม้อย่างเดียวก่อน แล้วจึงขยับมาขายสินค้ามากอย่างขึ้น ทั้งผัก ผลไม้ ปลาทู ฯลฯ

"เมื่อก่อนเปิดร้านอาหาร ต้องใช้เงินลงทุนมาก ต้องจ้างคนอีก และถ้าทำร้านอาหารแต่ไม่มีที่จอดรถก็อยู่ยาก มาทำอาชีพนี้สะดวกกว่ามาก ลงทุนแค่รถกระบะ และสามารถย้ายทำเลไปได้เรื่อยๆ โดยเราขายไม่เอากำไรมากก็พออยู่ได้ เริ่มจากขายผลไม้ ซึ่งผลไม้ที่เลือกก็จะเน้นผลไม้ที่เก็บได้หลายวัน อย่างกล้วย ทับทิม ฯลฯ แล้วก็มีของแห้ง เช่น หอม กระเทียม ปลาร้า ส่วนกับข้าวจะไม่ขาย เพราะมีคนอื่นขายอยู่แล้ว ขายกับข้าวมันจุกจิก ถ้าเป็นผลไม้ ลูกค้าจะเลือกเอง"

ถามถึงรายได้ พ่อค้าบอกว่า ถือว่ารายได้ดีกว่าอาชีพก่อนๆ ที่เคยทำมา ที่สำคัญคือ มีเงินสดเข้าบ้านทุกวัน

"ถือว่ารายได้ดีครับ คืออยู่ที่วันละประมาณ 1,000 บาท โดยต้องมีต้นทุนที่ใช้ในการซื้อสินค้าต่อวันประมาณ 7,000 บาท ถัวเฉลี่ยซื้อของใช้อย่างอื่นด้วย ก็อยู่ในราว 8,000 บาท

"...พออยู่ได้ไหม พออยู่ได้ครับ โดยในการขายนั้นเราจะไม่ได้เอากำไรมากมายนัก เช่น หากรับสินค้ามาในราคา 20 บาท ก็จะขายในราคา 25 บาท และในการค้าขายนั้น ในหนึ่งวันก็สามารถคืนทุนและได้กำไรเลยในวันนั้น"

ธงชัยบอกและว่า ไม่ใช่ว่าจะสามารถเข้าไปขายได้ทุกหมู่บ้าน บางหมู่บ้านไม่เปิดให้เข้า อย่างถ้าแบ่งลูกค้าง่ายๆ ออกเป็น 2 กลุ่ม คือ กลุ่มคนรวย และกลุ่มชนชั้นกลาง หมู่บ้านที่จะเปิดให้เข้าไปขายได้จะเป็นระดับชนชั้นกลาง จะเป็นกลุ่มแม่บ้านที่ออกมาซื้อเพราะไม่ต้องเดินทางไปหาซื้อถึงนอกหมู่บ้าน ขณะที่หมู่บ้านคนรวยจะไม่ค่อยอนุญาตให้เข้า เพราะมันจะดูวุ่นวายบ้าง กลัวของหายบ้าง

ส่วนที่มาของการค้าขายนั้น เริ่มจากมีคนที่รู้จักที่เคยทำอาชีพนี้มาก่อนแนะนำ เรื่องคู่ค้าก็ไม่เป็นปัญหา ธงชัยบอกว่า บนเส้นทางวิ่งขายอาหารสดนั้นพ่อค้าที่ทำอาชีพเดียวกันมีแค่ 7-8 คัน เป็นรถที่แวะเวียนมาขายอยู่ โดยมากจะรู้จักกันหมด แต่ใครจะขายได้มากน้อยกว่ากันนั้นอยู่ที่ความคุ้นหน้าคุ้นตาของลูกค้าด้วย ส่วนใหญ่จะซื้อกับรถที่เคยซื้อกันประจำมากกว่า เพราะเชื่อใจได้ว่าไม่หลอกเอาสินค้าไม่ดีมาขายให้

ถือเป็นอาชีพอีกทางเลือกหนึ่งสำหรับผู้รักงานบริการที่ไม่ต้องการความวุ่นวายจากลูกค้ามากนัก เพราะเป็นการขายของที่ผู้บริโภคจะเป็นฝ่ายเลือกสินค้าเอง

ผู้ขายแค่มุ่งหน้าขับรถไปหาลูกค้าเพียงเท่านั้นเอง

อัลบั้มภาพ 7 ภาพ

อัลบั้มภาพ 7 ภาพ ของ ชิลชิล เดือนละสี่ซ้าห้าหมื่น! ′รถพุ่มพวง′ มาแล้ว ขวัญใจมวลชนคนหมู่บ้าน

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook