กรุงเทพฯครองแชมป์กู้เงิน นนทบุรี-ปากน้ำรวยเงินออม

กรุงเทพฯครองแชมป์กู้เงิน นนทบุรี-ปากน้ำรวยเงินออม

กรุงเทพฯครองแชมป์กู้เงิน นนทบุรี-ปากน้ำรวยเงินออม
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

ธปท.เปิด ข้อมูลเงินฝากเผย 5 อันดับแรก กรุงเทพฯ นนทบุรี สมุทรปราการ ชลบุรี ปทุมธานี ขณะที่แม่ฮ่องสอนฝากน้อยสุด ส่วนนนทบุรีครองแชมป์มีเงินออมสูงสุด ชี้มีเงินฝากมากกว่าสินเชื่อถึง 2.27 แสนล้านบาท

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า จากข้อมูลของธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) เกี่ยวกับตัวเลขเงินฝากและเงินให้สินเชื่อของธนาคารพาณิชย์จำแนกตามจังหวัดทั้ง 77 จังหวัดทั่วประเทศ โดยเป็นเงินรับฝากทุกประเภททั้งของสถาบันการเงินที่รับฝากจากประชาชน และสถาบันการเงินอื่น ๆ

ข้อมูล ณ สิ้นเดือน ก.พ. 57 พบว่าเงินฝากรวมทั้งระบบอยู่ที่ 11.256 ล้านล้านบาท จากช่วงเดียวกันปีก่อนซึ่งอยู่ที่ 10.202 ล้านล้านบาท หรือเพิ่มขึ้นประมาณ 10.3% 

หากจำแนกเป็นรายจังหวัดพบว่า 5 อันดับแรกที่มีจำนวนเงินฝากมากที่สุด ได้แก่ กรุงเทพมหานคร ที่มีเงินฝากถึง 6.92 ล้านล้านบาท เพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันปีก่อน 6.46 แสนล้านบาท หรือเพิ่มขึ้น 10.3% และจังหวัดที่มีเงินฝากอันดับต่อไป ได้แก่ นนทบุรี 382,072 ล้านบาท, สมุทรปราการ 381,098 ล้านบาท, ชลบุรี 354,676 ล้านบาท, ปทุมธานี 265,168 ล้านบาท และเชียงใหม่ 194,394 ล้านบาท 

สำหรับจังหวัดที่มีเงินฝากน้อยที่สุด 5 อันดับแรก ได้แก่ จังหวัดแม่ฮ่องสอน มีเงินฝากเพียง 4,601 ล้านบาท อันดับต่อมาคือบึงกาฬ 4,838 ล้านบาท, อำนาจเจริญ 5,825 ล้านบาท, หนองบัวลำภู 7,477 ล้านบาท และน่าน 8,215 ล้านบาท

 

ขณะเดียวกัน "กรุงเทพฯ" ก็เป็นจังหวัดที่มีการกู้สินเชื่อสูงสุดถึง 8.35 ล้านล้านบาท ถือเป็นจังหวัดที่มีหนี้สูงสุด ทำให้การออมติดลบ 1.43 ล้านล้านบาท โดยจังหวัดที่มีเงินฝากน้อยกว่าสินเชื่อสูงสุด 5 อันดับแรก คือกรุงเทพฯ ตามมาด้วย "ภูเก็ต" มียอดเงินฝาก 114,449 ล้านบาท ยอดสินเชื่อ 187,689 ล้านบาท ทำให้การออมติดลบ 73,240 ล้านบาท รองลงมาคือขอนแก่น -49,640 ล้านบาท, อุบลราชธานี -28,378 ล้านบาท และอุดรธานี -25,926 ล้านบาท 

ส่วนจังหวัดที่มีเงินฝากมากกว่าเงินกู้มากสุด 5 อันดับแรก ได้แก่ "นนทบุรี" มีเงินฝากมากกว่าสินเชื่ออยู่ที่ 2.27 แสนล้านบาท หมายความว่าเป็นจังหวัดที่ประชาชนมีการออมเงินในรูปแบบเงินฝากมากที่สุดของประเทศ ตามมาด้วยสมุทรปราการ โดยมีเงินฝากมากกว่าสินเชื่ออยู่ที่ 1.81 แสนล้านบาท รองลงมาคือปทุมธานี เงินฝากมากกว่าสินเชื่อ 1.14 แสนล้านบาท, ชลบุรี 50,692 ล้านบาท และนครปฐม 44,972 ล้านบาท 

นางรุ่ง มัลลิกะมาส โฆษกธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) กล่าวว่า หากดูอัตราการออมต่อรายได้หลังหักภาษีของภาคครัวเรือนไทยในช่วง 10 ปีที่ผ่านมา จะเห็นว่าเปลี่ยนแปลงไม่มาก อยู่ที่ประมาณ 8% ของรายได้ คือถ้าครอบครัวมีรายได้หลังหักภาษี 100 บาท บริโภคประมาณ 92 บาท เหลือออม 8 บาท ดังนั้น พฤติกรรมการออมในภาพรวม ถือว่าไม่ได้เปลี่ยนแปลงไปมากนัก แต่รูปแบบการออมน่าจะมีการเปลี่ยนแปลงโดยปัจจุบันช่องทางการออมที่หลากหลายรูปแบบมากกว่าในอดีต ทำให้ประชาชนมีทางเลือกมากขึ้น เช่น การซื้อพันธบัตร (หุ้นกู้) ออมผ่านกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ 

ทำประกันชีวิต และซื้อสินทรัพย์อื่น ๆ เช่น ทองคำ อสังหาริมทรัพย์ ดังนั้น การออมของประชาชนไม่ควรพิจารณาจากตัวเลขเงินฝากเพียงอย่างเดียว นอกจากนี้ ในช่วงที่อัตราดอกเบี้ยเงินฝากอยู่ในระดับค่อนข้างต่ำ ผู้ออมมีแนวโน้มที่จะโยกย้ายเงินออมบางส่วนไปหาผลตอบแทนที่สูงกว่าเงินฝาก

โฆษก ธปท.กล่าวว่า จากข้อมูลจังหวัดที่มีเงินออมมากที่สุด ได้แก่กรุงเทพมหานคร เพราะกรุงเทพฯเป็นเขตเศรษฐกิจสำคัญของประเทศ ดังนั้น ปริมาณเงินฝากทั้งของประชาชนและภาคธุรกิจในเขตกรุงเทพฯค่อนข้างมาก แต่เมื่อเทียบกับเงินให้สินเชื่อ พบว่ากรุงเทพฯมีเงินฝากติดลบมากที่สุดเช่นกัน

นายกฤษณ์ จันทโนทก ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการใหญ่ สายงานธุรกิจเงินฝาก การลงทุนประกันภัยและธนบดี ธนาคารกรุงศรีอยุธยา กล่าวว่า จากกระแสการกระจายความเจริญสู่ต่างจังหวัดแรงขึ้นอย่างต่อเนื่องตลอดช่วงกว่า 10 ปีที่ผ่านมา โดยเฉพาะจังหวัดในเขตปริมณฑลและแถบภาคตะวันออกมีพื้นที่ใกล้กับกรุงเทพฯ อีกทั้งยังมีนิคมอุตสาหกรรมค่อนข้างมาก ทำให้ความมั่งคั่งในต่างจังหวัดเพิ่มขึ้น สะท้อนผ่านตัวเลขการฝากเงินที่ทยอยเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง ขณะที่ตลาดในกรุงเทพฯเริ่มอิ่มตัว หนี้ครัวเรือนก็สูง ถ้าเทียบกับต่างจังหวัด จึงเป็นสาเหตุหลักที่หลายแบงก์เริ่มออกไปขยายงานในต่างจังหวัดมากขึ้น

ขณะที่นายชัยณรงค์ เอื้อสิทธิชัย ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการใหญ่ ผู้บริหารกลุ่ม กลุ่มกลยุทธ์เครือข่ายและผลิตภัณฑ์รายย่อย ธนาคารกรุงไทย กล่าวว่า ปัจจัยการออมผ่านเงินฝากของลูกค้าจะไม่ค่อยแตกต่างกันมากนัก ลูกค้าจะดู 2 เรื่องหลัก คือปัจจัยอัตราผลตอบแทนที่ได้รับสอดคล้องไปกับระยะเวลาการฝากสั้น-ยาว ซึ่งผู้บริโภคมักจะตัดสินใจตามแนวโน้มภาวะเศรษฐกิจเป็นหลัก และปัจจัยเรื่องแนวโน้มความต้องการใช้เงินในอนาคตจะทำให้ผู้บริโภคตัดสินใจว่าควรจะเลือกฝากเงินประเภทไหน เป็นระยะเวลาเท่าใด และมากหรือน้อย 

สำหรับพฤติกรรมการออมของลูกค้าในแต่ละพื้นที่นั้น นายชัยณรงค์อธิบายว่า ขึ้นอยู่กับหลายปัจจัย เช่น รายได้ ค่าใช้จ่ายและพื้นที่ เป็นต้น ยกตัวอย่างกรณีกรุงเทพฯ แม้ว่าผู้บริโภคจะมีฐานรายได้โดยเฉลี่ยสูงกว่าต่างจังหวัด แต่สัดส่วนการออมอาจจะไม่ได้สูงมากนัก เพราะด้วยปัจจัยค่าครองชีพที่สูง ประกอบกับพฤติกรรมผู้บริโภคเน้นการจับจ่ายใช้สอย

 

 

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook