เปิดลิ้นชักความคิด "ป๋าเต็ด" "ประสบการณ์...ดาวน์โหลดไม่ได้"
"มัน ใหญ่ มาก" "(Big Mountain Music Festival)" เทศกาลดนตรีโดยคนไทย ที่ริเริ่มจัดขึ้นตั้งแต่ปี 2552 จนถึงปัจจุบัน ต้องถือเป็นแบรนด์ที่แข็งแกร่ง และเป็นที่รู้จักกันอย่างแพร่หลาย โดยเฉพาะในกลุ่ม "คนรุ่นใหม่" ที่มีบริษัท "เกเร" ในเครือ "จีเอ็มเอ็ม แกรมมี่" เป็นผู้อยู่เบื้องหลังความสำเร็จ
ย้อนกลับไป เป้าหมายในการก่อตั้งบริษัท เกเร จำกัด ของแกรมมี่นั้นก็เพื่อต้องการสร้างตลาด "มิวสิกเฟสติวัล" ทำให้ผลงานช่วงแรกจึงเป็นการผลิตมิวสิกเฟสติวัลเป็นหลัก แต่จากความสำเร็จของ "มัน ใหญ่ มาก" ทำให้บริษัทกลับมาประเมินศักยภาพของตัวเอง ก่อนจะเริ่มขยายสู่การจัดคอนเสิร์ตและเทศกาลดนตรีต่าง ๆ เพิ่มเติม อาทิ มันไก่มาก บอดี้สแลม พาราด็อกซ์ ฯลฯ
จนเมื่อปีที่แล้วก็ได้ทดลองจัดคอนเสิร์ตต่างประเทศเป็นครั้งแรกกับโปรเจ็กต์ "มินิคอนเสิร์ตเปิดโกดัง"
เมื่อทุกอย่างเป็นรูปเป็นร่างขึ้น เป้าหมายของเกเรจึงไม่ได้หยุดแค่การสร้างมิวสิกเฟสติวัลอีกต่อไป แต่เดินหน้าสู่ธุรกิจอีเวนต์และโชว์บิซเต็มรูปแบบ ภายใต้การนำทัพของ"เจ้าพ่อเด็กแนว" อย่าง "ยุทธนา บุญอ้อม" กรรมการผู้จัดการ บริษัท เกเร จำกัด
ล่าสุด "ประชาชาติธุรกิจ" มีโอกาสสัมภาษณ์พิเศษถึงทิศทางธุรกิจจากนี้ เขาเล่าว่า โชว์บิซ อีเวนต์ เป็นธุรกิจบันเทิงที่มีแนวโน้มเติบโตสูงและต่อเนื่อง เพราะคอนเสิร์ตในประเทศ (โลคอลคอนเสิร์ต) ที่มีขนาดใหญ่ยังกระจุกตัวอยู่แค่กรุงเทพฯเท่านั้น มีเพียงมิวสิกเฟสติวัลที่กระจายออกไปจัดในต่างจังหวัด ทำให้ธุรกิจนี้มีโอกาสโต ขณะเดียวกันก็เป็นธุรกิจที่ไม่ได้รับผลกระทบจากไลฟ์สไตล์ที่เปลี่ยนไปของผู้บริโภคตามการพัฒนาของเทคโนโลยี
นั่นเพราะ "โชว์บิซ คือ ประสบการณ์" ซึ่งผู้บริโภคไม่สามารถดาวน์โหลดประสบการณ์การชมโชว์บิซได้ สิ่งที่จะดาวน์โหลดได้ก็เพียงเทปบันทึกการแสดง ซึ่งอรรถรสในการชมแตกต่างกัน
ในทางกลับกัน ด้วยเทคโนโลยีที่ถูกพัฒนาขึ้น โดยเฉพาะโซเชียลมีเดียที่ทำให้ผู้บริโภครู้จักศิลปินทั่วโลกได้เร็วขึ้น ส่งผลดีต่อธุรกิจ เพราะทำให้เครื่องมือการสื่อสาร รวมถึงค่าโปรโมตคอนเสิร์ตถูกลง และทำให้เกิดการบาลานซ์ทางด้านงบประมาณในธุรกิจนี้มากขึ้น
แม้ปัจจัยดังกล่าวจะทำให้แนวโน้มธุรกิจโชว์บิซดูสดใส แต่ "ยุทธนา" ชี้ว่า ในความสดใสนี้ก็ไม่ได้หมายถึงผลกำไรที่ได้มาง่าย ๆ เช่นกัน
ในส่วนของ "เกเร" แผนธุรกิจครึ่งปีหลังเตรียมเปิดโปรเจ็กต์ใหม่ที่จะมาในรูปแบบ "ทัวร์คอนเสิร์ต" เบื้องต้นคาดว่าจะจัดให้ครบ 40 จังหวัด เริ่มประมาณเดือนสิงหาคมหรือกันยายนนี้ ส่วนรายละเอียดต่าง ๆ ทั้งศิลปินและคอนเซ็ปต์งานยังไม่สามารถให้รายละเอียดได้
"ความตั้งใจในการจัดทัวร์คอนเสิร์ต คือ เปลี่ยนความเชื่อที่ว่า คอนเสิร์ตดี ๆ ต้องดูที่กรุงเทพฯเท่านั้น ครั้งนี้ต้องการสร้างมาตรฐานเดียวกันว่า การจัดคอนเสิร์ตที่ดีต้องดีเหมือนกันทั่วประเทศ"
ดังนั้นเอง รูปแบบทัวร์คอนเสิร์ตครั้งนี้จึงเรียกว่า "จัดใหญ่" เวที แสง สี เสียง ส่งตรงมาจากต่างประเทศ โดยขนาดของเวที จำนวนผู้ชม ตลอดจนราคาบัตรเข้าชมจะถูกวางในมาตรฐานเดียว
นอกจากนี้ ยังเตรียมจัดคอนเสิร์ตต่างประเทศแบบเต็มตัว ซึ่งคาดว่าจะได้เห็นในเดือนตุลาคมนี้ แต่ยังไม่สามารถเปิดเผยชื่อศิลปินได้เพราะอยู่ระหว่างเซ็นสัญญา
"ถ้าทุกอย่างเป็นไปตามแผนที่วางไว้ ปีต่อไป ๆ เราจะเริ่มจัดคอนเสิร์ต-อีเวนต์จากต่างประเทศที่ใหญ่ขึ้นเรื่อย ๆ อาจจะเป็นมิวสิกเฟสติวัลระดับโลกก็ได้"
แผนงานดังกล่าวทำให้ปีนี้ถือเป็นการขยายตัวครั้งใหญ่ของเกเร โดยจะมีโชว์บิซทั้งคอนเสิร์ตในประเทศและต่างประเทศ ได้แก่ G16 ต่อด้วยคอนเสิร์ตต่างประเทศในเดือนตุลาคม โปรเจ็กต์โกดัง และมหกรรมดนตรี มัน ใหญ่ มาก โดยปีนี้จัดขึ้นวันที่ 6-7 ธันวาคม 2557 ในธีม "งานเดียวรักษาได้ทุกโรค"
แน่นอนว่าปัจจัยความสำเร็จของงานโชว์บิซ นอกจากโปรดักชั่นดีแล้ว แผนการตลาดก็สำคัญไม่แพ้กัน โดยเฉพาะการขายบัตรคอนเสิร์ต ที่แผนการขายบัตรต้องถูกวางไว้ตั้งแต่เริ่มต้น
บิ๊กบอสเกเรยกตัวอย่าง "G16" คอนเสิร์ตใหญ่ของจีนี่ เรคคอร์ดส ที่จะจัดขึ้นในวันที่ 10 พฤษภาคมนี้ ซึ่งสามารถขายหมดใน 2 ชั่วโมง มาจากหลายปัจจัย ตั้งแต่ศิลปิน "จีนี่ เรคคอร์ดส" ซึ่งมีฐานแฟนเพลงที่ใหญ่อยู่แล้ว สะท้อนจากแฟนเพจบนเฟซบุ๊กของศิลปินแต่ละวง ประกอบกับศิลปินของค่ายจีนี่ฯส่วนใหญ่เป็นระดับแนวหน้าเกือบทั้งหมด ดังนั้นเมื่อมีการรวมศิลปินเข้าด้วยกันจึงเกิดเป็นพลัง หลังจากนั้นจึงค่อย ๆ ปล่อยแผนการตลาดให้สอดรับกับไลฟ์สไตล์กลุ่มเป้าหมายในกลุ่มวัยรุ่น ตามด้วยวางแผนโปรโมตรูปแบบใหม่ที่แตกต่างไปจากเดิม
"รูปแบบเดิม ๆ คือ พอประกาศว่าจะจัดคอนเสิร์ตก็จะขายบัตรทันที ซึ่งเราไม่ได้ทำแบบนั้น แต่เริ่มโปรโมตคอนเสิร์ต 1 เดือนก่อนจะเริ่มขายบัตร รวมถึงตั้งราคาบัตรให้ยั่วใจกลุ่มเป้าหมาย หวังกระตุ้นให้เกิดการซื้อในเวลาอันรวดเร็ว"
นอกจากนี้ ยังรวมถึงกลยุทธ์การตั้ง "ราคา" ที่กระชากใจด้วยราคาบัตร 1,600 บาท และลด 50% จากราคาปกติ หรือ 800 บาทเมื่อซื้อบัตรวันแรก
"บริษัทปล่อยเพลงพิเศษออกมาก่อน 1 วันก่อนขายบัตร สร้างความผูกพันระหว่างศิลปินกับผู้ชมก่อน เรียกว่าพอเห็นปุ๊บก็ต้องรีบไปซื้อบัตร"
เขาย้ำว่า แผนการตลาดครั้งนี้ ถ้าขาดปัจจัยใดปัจจัยหนึ่งอาจจะไม่ประสบความสำเร็จ ซึ่งผลลัพธ์ที่เกิดขึ้นถือว่ามากกว่าที่คาดการณ์ไว้
ส่วนจะนำ "โมเดลการตลาด" ครั้งนี้ไปใช้สำหรับการขายบัตรในอนาคตหรือไม่นั้น เขาแจงว่าขึ้นอยู่กับกลุ่มเป้าหมายด้วย เพราะสำหรับ G16 มีกลุ่มเป้าหมายอยู่ในโซเชียลมีเดีย ทำให้วิธีนี้ได้ผล บวกกับราคาบัตรที่จูงใจ เพราะกลุ่มนี้มีกำลังซื้อจำกัด แต่ถ้าเป็นอีกกลุ่มเป้าหมายหนึ่งก็อาจทำแบบนี้ไม่ได้
วันนี้เขาพยายามทดลองโมเดลใหม่ ๆ อยู่ตลอดเวลา พยายามทำสิ่งที่หลากหลาย และฉีกรูปแบบไปจากคอนเสิร์ตเดิม ๆ
"วันนี้มีอีกหลายอย่างที่ยังไม่ได้ทำ เพราะบางโปรเจ็กต์ที่เกิดขึ้นก็ไม่ได้คิดล่วงหน้านาน ดังนั้น อนาคตยังตอบไม่ได้ว่ายังจะมีโปรเจ็กต์ใหม่ ๆ อะไรเกิดขึ้นอีกบ้างแต่ยังอยากทำสิ่งใหม่ ๆ อยู่เสมอ"
เขาเล่าว่า การวางแผนคอนเสิร์ตหรือโปรเจ็กต์ต่าง ๆ ของบริษัทนั้นจะวางปีต่อปี
หลักการทำงานของเกเร คือ เมื่อคิดงานอะไรได้ก็จะเก็บใส่ลิ้นชักความคิดไว้ก่อน แล้วค่อย ๆ หาช่วงเวลาที่เหมาะสมที่จะหยิบมันขึ้นมาใช้ เพราะบางไอเดียใหม่เกินไปกับช่วงเวลานั้น ต้องรอพฤติกรรมผู้บริโภคให้เปลี่ยนไปถึงจุดจุดนั้นก่อน
"สิ่งที่ต้องทำคือ เก็บงานไว้ก่อน และรอจนกว่าผู้ชมจะเข้าใจ"
เขาทิ้งท้ายว่า ในเชิงธุรกิจ อยากให้เกเรเป็นบริษัทบันเทิงที่ประสบความสำเร็จ สร้างงานครีเอทีฟที่น่าสนใจได้ ส่วนในมุมมองผู้ชม อยากให้จดจำภาพของเกเรเป็นบริษัทที่สามารถ "สร้างแรงบันดาลใจ"ให้ทุกคนได้ เชื่อว่าเป็นเป้าหมายที่ไม่ไกลเกินเอื้อม
คลิกที่นี่เพื่อรับชมภาพขนาดใหญ่
อัลบั้มภาพ 50 ภาพ