ชาวสวนรุ่นใหม่ "ธมนต์กรณ์ แก้วขุ่น" ขายทุเรียนผ่านเฟซบุ๊ก
การตลาดเกษตรยุคโซเชียลมีเดียปีนี้ชาวจังหวัดตราดหาทุเรียนอร่อยคุณภาพดี รับประทานไม่ง่ายนัก เพราะของดีถูกส่งออกไปขายเมืองจีนจำนวนมาก เนื่องจากราคาทุเรียนดีต่อเนื่อง มีตั้งแต่กิโลกรัมละ 75-200 บาท
ล่าสุด "ธมนต์กรณ์ แก้วขุ่น" เจ้าของสวนทุเรียนทองบูรพา ตำบลประณีต อำเภอเขาสมิง จังหวัดตราด วัย 24 ปี จึงปิ๊งไอเดียขายทุเรียนผ่านเฟซบุ๊ก สำหรับคอทุเรียนที่ต้องการของอร่อยโดยเฉพาะ
เธอเล่าว่า ที่บ้านปลูกทุเรียนต้นฤดูส่งออกมานานกว่า 9 ปี โดยเฉพาะพันธุ์หมอนทองส่งออกเป็นรายได้หลักปีละ 50-70 ตัน รวมทั้งพันธุ์ชะนี พวงมณี และกระดุมอีกเล็กน้อย ซึ่งจะขายเหมารวมผ่านพ่อค้าคนกลางที่มาติดต่อเพื่อส่งออกไปเมืองจีน
ทั้งนี้ หลังจากเข้ามาช่วยธุรกิจที่บ้านเต็มตัวเมื่อ 3-4 ปีที่ผ่านมานี้ มาวันหนึ่งคิดว่าจะหารายได้เสริมจากทุเรียนพวงมณีที่ปลูกอยู่ 8 ต้น ผลผลิตประมาณ 1 ตันเศษ ซึ่งเป็นทุเรียนโบราณ ตัดแล้วไม่ต้องใช้สารเร่งสุก หาทานยาก รสชาติหวานหอมเหนียวนุ่ม โดยการจำหน่ายผ่านทางออนไลน์ ซึ่งปรากฏว่าผลตอบรับดีมาก
"จุดเริ่มต้นมาจากมีเพื่อนปรึกษาผ่านเฟซบุ๊กว่า อยากทานทุเรียนคุณภาพซึ่งหาทานยาก จึงส่งทุเรียนพวงมณีที่บ้านไปให้ชิม ซึ่งหลายคนติดใจในรสชาติและพากันบอกต่อในเฟซ และเริ่มมีคนสนใจสั่งซื้อทานและซื้อเป็นของฝากเพิ่มขึ้น"
ปัจจุบันมีลูกค้าทั้งในจังหวัดตราดและจังหวัดใกล้เคียง เช่น ระยอง ชลบุรี กรุงเทพฯ กระทั่งลูกค้าจากเชียงใหม่ เชียงรายเข้ามาซื้อ โดยจัดส่งให้ 2 แบบ คือ บริการขนส่งของเอกชนส่งถึงบ้าน และผ่านบริษัทขนส่งเดินรถโดยสารปรับอากาศตราด-กรุงเทพฯ โดยคิดค่าขนส่งรายจังหวัดตามพื้นที่แตกต่างกันไป เช่น ระยอง ชลบุรี 70-90 บาท เชียงราย 180-190 บาท ซึ่งลูกค้าจะเป็นผู้ออกค่าใช้จ่ายเอง
ทั้งนี้ ทุเรียนที่ลูกค้าจะได้รับคือ ทุเรียน 3-4 ลูก น้ำหนักรวม 9 กิโลกรัม บรรจุใส่กล่องกระดาษมีช่องระบายอากาศ ราคากล่องละ 1,000 บาท สามารถรับประทานได้ 3-5 วัน
พร้อมกันนี้ยังมีข้อแนะนำวิธีการเช็กทุเรียนสุกพร้อมแกะทานได้แนบไปด้วย หากทุเรียนมีปัญหาหรือเนื้อเละไม่สุกตามกำหนด สามารถโทร.กลับมาปรึกษาเพิ่มเติมได้ หรือลูกไหนไม่สุกให้ถ่ายรูปส่งมาเพื่อจะเปลี่ยนลูกใหม่ให้ลูกค้าทุกลูก
"ธมนต์กรณ์" มองว่า ปัจจุบันเกษตรกรสวนทุเรียนส่วนใหญ่ไม่ได้มองตลาด แต่จะเหมาขายให้กับพ่อค้าคนกลางเพราะความสะดวก ทำให้ไม่สามารถควบคุมคุณภาพทุเรียนได้ แต่วิธีการของเธอการันตีว่าสามารถรับรองคุณภาพทุเรียนได้ทุกลูก ปราศจากสารเร่ง 1,000% เห็นได้จากผลตอบรับของลูกค้าที่ดีมาตลอด
"วันนี้ทุเรียนหมดสวนอย่างรวดเร็ว ยอดจองทุเรียนผ่านเฟซบุ๊กมีมาก่อนที่ทุเรียนจะแก่และตัดได้ ประกอบกับพันธุ์พวงมณีมีผลผลิตน้อยจึงเหมาะกับการขายวิธีนี้ เพราะนอกจากรสชาติอร่อย หายากแล้ว น้ำหนักลูกจะเบาขนส่งสะดวก แต่หากมีจำนวนมากการขายผ่านออนไลน์ก็ต้องใช้เวลาบริหารจัดการมากเช่นกัน"
"ธมนต์กรณ์" เล่าว่า ประสบการณ์จากการขายทุเรียนผ่านเฟซบุ๊กในปีนี้ ทำให้เธอต้องคิดถึงปีต่อๆ ไปอีกหลายจุด เช่น ยอดออร์เดอร์ลูกค้าแต่ละรายจำนวน 5-6 กล่องขึ้นไป หรือการนำส่งแต่ละครั้งควรจะให้ได้ 10-20 กล่องขึ้นไป เพื่อความคุ้มค่าทั้งด้านค่าใช้จ่ายและเวลาการขนส่ง
นอกจากนี้ ยังให้บริการตอบคำถามลูกค้าผ่านทางโทรศัพท์ ซึ่งในระยะหลังนี้เริ่มมีเข้ามาเป็นจำนวนมาก การขายทุเรียนออนไลน์เป็นตัวอย่างของการทำตลาดเชิงรุก สามารถตอบโจย์ลูกค้าได้ตรงจุดในยุคโซเชียลมีเดียเฟื่องฟู