โลกเตรียมรับเทรนด์ใหม่ "นักเดินทางชาวจีน" รุ่นใหม่ลุยเที่ยวเอง ไม่ง้อทัวร์
ภาพคุ้นตาของกลุ่มทัวร์ชาวจีนนั่งกันมาเต็มรถทัวร์ ท่องเที่ยวยุโรป 20 เมืองภายใน 10 วัน กำลังถูกแทนที่ด้วยภาพ หนุ่มสาวชาวจีนวัยทำงาน ใช้สินค้าแบรนด์เนม วางแผนการท่องเที่ยวต่างประเทศ จองที่พัก และตั๋วเครื่องบินด้วยตัวเองผ่านระบบอินเตอร์เน็ต และจะใช้เวลาในการท่องเที่ยวแต่ละเมืองนานขึ้น แล้วแต่แรงจูงใจซึ่งมีความหลากหลาย
ปัจจุบันชาวจีนเป็นนักท่องเที่ยวกลุ่มใหญ่ที่สุด ในปี พ.ศ.2556 ชาวจีนท่องต่างแดนจำนวน 97.3 ล้านคน ยอดใช้จ่ายในต่างแดนเป็นเงิน 4.1 ล้านล้านบาท นักท่องเที่ยวชาวจีน นิยมซื้อสินค้าแบรนด์เนมที่สุด โดยคิดเป็นร้อยละ 80 ของนักท่องเที่ยวทั่วโลกที่ซื้อของแบรนด์เนม
สถิติดังกล่าว เกิดขึ้นจากชาวจีนที่มีหนังสือเดินทาง คิดเป็นร้อยละ 5 จากประชากรพันล้านคน หมายความว่ายังมีชาวจีน ที่จะออกมาเที่ยวต่างประเทศอีกไม่ขาดสาย แล้วธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับการท่องเที่ยว เตรียมตัวรับทรัพย์จากกระเป๋าตังค์ชาวจีนอย่างไร
เริ่มด้วยเรื่องวีซา มัลดีฟส์ยกเว้นวีซาให้นักท่องเที่ยวจีน ส่งผลให้ยอดนักท่องเที่ยวเพิ่มทันทีร้อยละ 45 ด้านสหรัฐฯ ปรับนโยบาย โดยให้ชาวจีนซึ่งได้รับวีซาเข้าสหรัฐฯ รับหนังสือเดินทางคืนได้ที่ธนาคารทุกสาขา ความรวดเร็วส่งผลให้ชาวจีนไปเที่ยวสหรัฐฯ เพิ่มอีกร้อยละ 22 แต่ความล่าช้าของการออกวีซาในยุโรป ได้ทำให้นักท่องเที่ยวจีน 1 ใน 4 ของนักท่องเที่ยวจีนปีที่แล้ว ยกเลิกการไปเที่ยวยุโรป
ด้านธุรกิจการบิน สนามบินสคิฟโฟล ประเทศเนเธอร์แลนด์ มอบของขวัญเนื่องในวันตรุษจีน แก่ผู้โดยสารขาเข้าชาวจีน มีบริการแอพพลิเคชั่นฟรี เพื่อบอกแหล่งช็อปปิ้งสินค้าแบรนด์เนม ทุกร้านรับเงินหยวน และบัตรเครดิตยูเนียนเพย์ของจีน ส่วนห้างสุดหรู เช่น ห้างแพร็งตองพ์ ในประเทศฝรั่งเศส และห้างแฮร์รอดส์ ในประเทศอังกฤษ ได้จัดให้มีพนักงานขายพูดจีน จุดรับชำระเงินบัตรเครดิตยูเนียนเพลย์กว่า 100 จุด พร้อมเว็บไซต์ และแผนที่ภาษาจีน ส่วนโรงแรมต่างๆ ได้จัดให้มีช่องทีวีจีนในห้องพัก เมนูมีรูปอาหาร และมีโจ๊กสำหรับอาหารเช้า
บริการข้างต้นสะท้อนให้เห็นว่า ธุรกิจที่เกี่ยวข้องให้เกียรติลูกค้าชาวจีน สอดคล้องกับการวิจัยของสถาบันการท่องเที่ยวต่างประเทศของจีน พบว่าชาวจีนนิยมไปเที่ยวยังสถานที่ ซึ่งให้การต้อนรับอย่างดี และไม่ชอบการถูกปฏิบัติแบบชนชั้นสอง
ดังนั้น กลยุทธ์ที่นำมาจูงใจชาวจีนคือ คำว่า ′ดั้งเดิม มีจำนวนจำกัด ระดับวีไอพี′ เช่น การทัวร์ขั้วโลก ล่องเรือสำราญ หรือท่องซาฟารี นอกจากนี้ปัญหาด้านมลพิษทางอากาศของจีน ก็เอามาเป็นจุดขายได้ เช่น ประเทศสวิสเซอร์แลนด์ มีจุดขายที่ท้องฟ้าสีคราม และอากาศบริสุทธิ์ ซึ่งหาไม่ได้ในเมืองใหญ่ของจีน
อีกหนึ่งวิธี คือ โปรโมทผ่านเว็บไซต์ของจีน ในปี พ.ศ.2555 การท่องเที่ยวนิวซีแลนด์จัดงานวิวาห์แนวเทพนิยายให้กับ เหยาเฉิน ดาราจีนชื่อดัง ซึ่งมีคนติดตามในเว็บ "เว๋ยโป่" หรือ ทวิตเตอร์จีน ถึง 66 ล้านคน ส่งผลให้คู่บ่าวสาวชาวจีน จัดทัวร์ฮันนีมูนที่นิวซีแลนด์เป็นจำนวนมาก
วิธีโปรโมทที่ได้ผลมากอีกวิธี คือ ภาพยนตร์ ′Lost in Thailand′ หรือ ลอสต์ อิน ไทยแลนด์ หนังจีนทุนต่ำ ถ่ายทำในไทย แต่โกยรายได้ถล่มทลาย อานิสงส์ของภาพยนตร์ส่งผลให้คนจีนเที่ยวไทยเพิ่มขึ้นถึง 3 เท่า จาก 1.7 ล้านคน ในปี 2554 เพิ่มเป็น 3.7 ล้านคนในปี พ.ศ.2556 ซึ่งหากการเหตุการณ์ในไทยสงบกว่าที่เป็นอยู่ คาดว่ายอดน่าจะทะลุ 4 ล้านคน จากข้อมูลของการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย ระบุว่านักท่องเที่ยวชาวจีนส่วนใหญ่ ใช้เวลาท่องเที่ยวในจังหวัดเชียงใหม่มากที่สุด เนื่องจากต้องการเที่ยวตามรอยภาพยนตร์
หากไทยสามารถเพิ่มสิ่งอำนวยการสะดวกในการท่องเที่ยวและบริการระดับพิเศษ เพื่อรองรับชาวจีนรุ่นใหม่ ซึ่งมีลักษณะเป็น ′นักเดินทาง′ ส่วนใหญ่เป็นชนชั้นกลาง กำลังซื้อสูง ซึ่งคาดว่าตลาดกลุ่มนี้จะเติบโตอีกมาก เนื่องจากประชากรจีนประมาณกว่า 500 ล้านคน ใช้อินเตอร์เน็ตและมีแนวโน้มที่จะวางแผนการท่องเที่ยว ที่ตอบสนองความพึงพอใจส่วนตัว และคาดหวังการบริการที่เป็นเลิศ