"แบงก์ออมสิน" ออกมาตรการช่วยลูกค้าประสบเหตุแผ่นดินไหว
ธนาคารออมสิน บรรเทาทุกข์ผู้ประสบเหตุแผ่นดินไหว 6 จังหวัดภาคเหนือ พักชำระหนี้ได้ไม่เกิน 6 เดือน ปรับลดเงินงวด หรือขยายระยะเวลาชำระหนี้ไม่เกิน 1 ปี พร้อมเปิดลูกค้าสินเชื่อธุรกิจ-SMEs ให้กู้ไม่เกิน 500,000 บาท ดอกเบี้ย MLR – 2% ผ่อนชำระ 5 ปี ลูกค้าสินเชื่อธุรกิจห้องแถว ให้กู้ในวงเงิน 100,000 บาท ดอกเบี้ย MLR – 2% ผ่อน 5 ปี ส่วนลูกค้าสินเชื่อเคหะและประชาชนทั่วไป ยื่นกู้ฉุกเฉินหรือซ่อมแซมที่อยู่อาศัย วงเงินสูงสุด 300,000 บาท ผ่อนชำระ 5 ปี ในอัตราดอกเบี้ยคงที่ MLR – 2.375% อีกทั้งยังได้ผ่อนปรนเงื่อนไขให้ลูกค้าเดิมสินเชื่อบุคคลและสินเชื่อเพื่อพัฒนากลุ่มอาชีพ กู้ฉุกเฉินในวงเงิน 50,000 บาท โดยไม่ต้องใช้หลักประกัน!
ดร.ธัชพล กาญจนกูล รองผู้อำนวยการธนาคารออมสินอาวุโส รักษาการผู้อำนวยการธนาคารออมสิน เปิดเผยว่า เหตุภัยพิบัติแผ่นดินไหว เมื่อวันที่ 5 พฤษภาคม 2557 ในพื้นที่ 6 จังหวัดภาคเหนือ ได้แก่ จ.เชียงใหม่ จ.เชียงราย จ.ลำปาง จ.แพร่ จ.น่าน และ จ.พะเยา ได้สร้างความเสียหายและส่งผลกระทบต่อลูกค้าและประชาชนทั่วไป ธนาคารออมสินจึงมีมาตรการบรรเทาความเดือดร้อน โดยได้ดำเนินการสำรวจความเสียหายของลูกค้า พร้อมกับออกเยี่ยมเยียนประชาชนและลูกค้าในพื้นที่ และนำถุงยังชีพออกแจกจ่าย พร้อมกับมาตรการบรรเทาภาระลูกค้าสินเชื่อของธนาคารออมสินเป็นกรณีเร่งด่วน ด้วยการพักชำระหนี้เงินต้นและดอกเบี้ยไม่เกิน 6 เดือน หรือปรับลดเงินงวด และ/หรือขยายระยะเวลาผ่อนชำระหนี้ออกไปอีกไม่เกิน 1 ปี ซึ่งสามารถยื่นความจำนงได้ที่ธนาคารออมสินสาขาที่ลูกค้ามีบัญชีเงินกู้หรือทุกสาขาในพื้นที่ภาคเหนือ ตั้งแต่บัดนี้เป็นต้นไป จนถึงวันที่ 31 พฤษภาคม 2557
“ผู้ประสบภัยกลุ่มนี้ถือว่าเป็นผู้ได้รับผลกระทบโดยตรง เพราะไม่สามารถดำเนินชีวิตและประกอบอาชีพได้ตามปกติ ทั้งยังไม่รวมความเสียหายที่จะต้องมีค่าใช้จ่ายตามมาอีก ธนาคารออมสินจึงพร้อมที่จะเข้าไปช่วยเหลือผู้ประสบภัยทุกคน” ดร.ธัชพล กล่าว
ขณะเดียวกัน ธนาคารฯ ได้มีมาตรการสินเชื่อเพื่อช่วยเหลือเพิ่มเติมกรณีฉุกเฉินเร่งด่วน สำหรับลูกค้าเดิมในทุกประเภทสินเชื่อ ด้วยการให้สินเชื่อเพิ่มเติม โดย สินเชื่อธุรกิจ และ SMEs ธนาคารฯ ให้กู้ในในวงเงินสูงสุดไม่เกิน 500,000 บาท อัตราดอกเบี้ย MLR – 2.00 ต่อปี (ปัจจุบัน MLR ของธนาคารออมสินอยู่ที่ร้อยละ 6.875) ชำระเงินกู้ไม่เกิน 5 ปี ส่วนลูกค้าเดิม สินเชื่อธุรกิจห้องแถว สามารถกู้ได้รายละไม่เกินร้อยละ 20 ของจำนวนเงินกู้ตามสัญญาเดิม แต่ไม่เกิน 100,000 บาท อัตราดอกเบี้ย MLR – 2.00 ต่อปี ชำระเงินกู้ไม่เกิน 5 ปี
ขณะที่ลูกค้าเดิมสินเชื่อเคหะ ธนาคารฯ ให้กู้กรณีฉุกเฉินรายละไม่เกินร้อยละ 10 ของจำนวนเงินกู้ตามสัญญาเดิม แต่ไม่เกิน 300,000 บาท ผ่อนชำระภายใน 5 ปี อัตราดอกเบี้ยคงที่ร้อยละ MLR – 2.375 ต่อปี ตลอดระยะเวลาผ่อนชำระ 5 ปี โดยไม่ต้องประเมินหลักทรัพย์ และสำหรับลูกค้าเดิม ให้กู้เพื่อซ่อมแซมที่อยู่อาศัยได้รายละไม่เกินร้อยละ 100 ของราคาประเมินหลักทรัพย์เดิม และไม่เกินรายละ 300,000 บาท ผ่อนชำระภายใน 5 ปี อัตราดอกเบี้ยร้อยละ MLR – 2.375 ต่อปี ตลอดระยะเวลา 5 ปี ส่วนประชาชนทั่วไป ให้กู้เพิ่มเพื่อซ่อมแซมที่อยู่อาศัยได้รายละไม่เกินร้อยละ 95 ของราคาประเมินหลักทรัพย์ และไม่เกินรายละ 300,000 บาท ผ่อนชำระภายใน 5 ปี อัตราดอกเบี้ยร้อยละ MLR – 2.375 ต่อปี ตลอดระยะเวลา 5 ปี
รักษาการผู้อำนวยการธนาคารออมสิน กล่าวต่อไปว่า ส่วนลูกค้าเดิมสินเชื่อโครงการธนาคารประชาชน สินเชื่อโครงการแก้ไขปัญหาหนี้สิน ภาคประชาชน (หนี้นอกระบบ) และสินเชื่อองค์กรชุมชน รวมถึงประชาชนทั่วไป สามารถใช้บริการเงินกู้ฉุกเฉิน วงเงินกู้รายละไม่เกิน 30,000 บาท ระยะเวลาชำระเงินกู้ไม่เกิน 2 ปี (24 งวด) อัตราดอกเบี้ยเงินกู้ลูกค้ารายย่อยชั้นดี หรือ MRR ต่อปี (ปัจจุบัน MRR = 7.625) โดยที่ลูกค้าเดิมที่มีประวัติการออมเงินดี หรือชำระหนี้ดี ไม่ต้องใช้หลักประกันในการกู้เงินฉุกเฉินนี้
นอกจากนี้ ลูกค้าสินเชื่อบุคคลและสินเชื่อเพื่อพัฒนากลุ่มอาชีพ (ยกเว้นสินเชื่อ ช.พ.ค./ช.พ.ส.และสินเชื่อโครงการเกื้อกูลผู้ประกอบการวิชาชีพทางการศึกษา) ธนาคารฯ ให้กู้กรณีฉุกเฉิน รายละไม่เกิน 50,000 บาท อัตราดอกเบี้ย MLR ต่อปี ชำระเงินกู้ไม่เกิน 5 ปี พร้อมผ่อนปรนเงื่อนไขสำคัญ คือไม่ต้องใช้บุคคลหรือหลักทรัพย์ค้ำประกัน ส่วนลูกค้าโครงการบ้านเอื้ออาทร (เฉพาะรายที่ยังไม่มีการจดจำนองซึ่งอยู่ระหว่างการค้ำประกันโดย การเคหะแห่งชาติ) ธนาคารฯ มีมาตรการช่วยเหลือ 3 ทางเลือก คือ 1.พักชำระเงินต้น สูงสุดได้ไม่เกิน 6 เดือน (จ่ายชำระแต่ดอกเบี้ย) หรือ 2.พักชำระเงินต้นและดอกเบี้ยไม่เกิน 3 เดือน หรือ 3.ปรับลดเงินงวด และ/หรือขยายระยะเวลาผ่อนชำระหนี้ไม่เกิน 1 ปี แต่ทั้งนี้ต้องขึ้นอยู่กับสถานะของลูกค้าก่อนเข้ามาตรการ
“ลูกค้าและประชาชนทั่วไปสามารถติดต่อใช้บริการได้ที่ธนาคารออมสินทุกสาขา สามารถ ดูรายละเอียดได้ที่เว็บไซต์ www.gsb.or.th หรือ โทรศัพท์สอบถามข้อมูลเพิ่มเติมที่สายด่วน ธนาคารออมสิน โทร.1115” ดร.ธัชพล กล่าว