จับตาสินค้าเกษตรปี 57 ไก่เนื้อ ทุเรียนสดใส-ยางวูบ

จับตาสินค้าเกษตรปี 57 ไก่เนื้อ ทุเรียนสดใส-ยางวูบ

จับตาสินค้าเกษตรปี 57 ไก่เนื้อ ทุเรียนสดใส-ยางวูบ
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

สศก.เปิดโผสินค้าเกษตรน่าจับตาปี 57 สถานการณ์ยางพารายังวิตก เผยรายชื่อ 6 สินค้าเฝ้าระวัง ขณะที่ไก่เนื้อและทุเรียนอนาคตสดใส

นายสุรศักดิ์ พันธ์นพ รองเลขาธิการสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร (สศก.) เปิดเผยถึงผลวิเคราะห์แนวโน้มตลาดผลผลิตการเกษตรและปศุสัตว์ปี 2557 ว่ามีกลุ่มสินค้าน่าจับตาจำแนกออกเป็น 3 กลุ่ม ได้แก่ 1.กลุ่มสินค้าสดใส ประกอบด้วย ไก่เนื้อ และ ทุเรียน 2.กลุ่มสินค้าน่าเป็นห่วง ได้แก่ ยางพารา และ 3.กลุ่มสินค้าเฝ้าระวัง ประกอบด้วย ข้าวนาปรัง ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ อ้อยโรงงาน ปาล์มน้ำมัน สุกร และ กุ้งขาวแวนนาไม

สำหรับไก่เนื้อ สศก.คาดว่าจะมีการผลิตเพิ่มขึ้นร้อยละ 3.35 เทียบกับปริมาณของปี 2556 โดยตลาดมีแนวโน้มที่ดีในประเทศญี่ปุ่นซึ่งอนุญาตให้ไทยส่งไก่สดไปจำหน่ายได้เมื่อช่วงปลายปีที่ผ่านมา และกลุ่มสหภาพยุโรป (EU) ซึ่งไทยกำลังเจรจาเขตการค้าเสรี ( FTA ) เพิ่มโควต้าส่งไก่สดอยู่ รวมถึงแนวโน้มในประเทศเกาหลีใต้และกลุ่มประเทศตะวันออกกลางซึ่งเป็นเป้าหมายการตลาด

ด้านทุเรียน คาดว่าปี 2557 นี้จะมีผลผลิตเพิ่มขึ้นร้อยละ 6.49 โดยผลผลิตจะออกมากในเดือน พ.ค. – มิ.ย. แม้ปริมาณส่งออกต่างประเทศจะหดตัวลง แต่มูลค่าจะสูงขึ้นตามราคาทุเรียน รวมถึงปริมาณการบริโภคภายในที่จะเพิ่มขึ้นอีกร้อยละ 9.59

ส่วนกลุ่มสินค้าน่าเป็นห่วง คือ ยางพารา นั้น สศก.คาดว่าจะมีผลผลิตประมาณ 3.95 ล้านตัน เพิ่มจากปี 56 ร้อยละ 4.5 เพราะพื้นที่กรีดยางส่วนใหญ่อยู่ในช่วงให้ผลผลิตสูงและมีการเปิดกรีดหน้ายางใหม่มากขึ้น ส่วนตลาดส่งออกคาดว่าจะส่งออกได้ 3.7 ล้านตัน แต่ราคาจะปรับลดลงอีกเพราะสต๊อกยางล้นตลาดและราคายางคู่แข่ง เช่น เวียดนาม อินโดนีเซีย ถูกกว่าของไทย

ส่วนกลุ่มสินค้าที่ต้องเฝ้าระวัง 6 ชนิด นายนิวัติ สุธีมีชัยกุล อธิบดีกรมประมง กล่าวถึงสถานการณ์กุ้งขาวแวนนาไมซึ่งกำลังมีปัญหาผลผลิตลดลง เพราะถึงแม้ว่าราคาจะจูงใจให้เกษตรกรลงกุ้งเพิ่มแต่การเลี้ยงยังประสบปัญหาโรคตายด่วน (EMS) อยู่ ซึ่งหวังว่าปี 57 นี้จะสามารถกระตุ้นให้ผลผลิตเพิ่มขึ้นเป็น 3.2 แสนตัน

รวมถึงปัญหาตลาดส่งออกกุ้งของไทยปี 57 อยู่ในภาวะแข่งขันรุนแรง เพราะสิทธิ GSP ของไทยกับสหภาพยุโรปเพิ่งสิ้นสุดไปเมื่อสิ้นปี 56 และปัญหาอุตสาหกรรมเลี้ยงกุ้งไทยถูกเพ่งเล็งเรื่องใช้แรงงานเด็กและค้ามนุษย์จนถูกจัดให้อยู่ในบัญชี Tier 2 Watch List ดังนั้น ราคากุ้งที่เกษตรกรขายได้จึงจะปรับตัวลดลงเพราะผู้ประกอบการแปรรูปไม่กล้าสต๊อกกุ้งจำนวนมากและหันไปซื้อกุ้งจากต่างประเทศมาแปรรูปแทน

ส่วนข้าวนาปรัง ผลวิเคราะห์ของสศก.รายงานว่า ผลผลิตข้าวนาปรังไทยจะลดลง แต่มีแนวโน้มส่งออกปริมาณข้าวมากขึ้นประมาณ 8 ล้านตันข้าวสาร จากความต้องการของตลาดที่ยังต้องการข้าวอยู่และราคาข้าวไทยลดต่ำลง แต่เนื่องจากปริมาณผลผลิตของคู่แข่งสำคัญ คือ เวียดนามจะออกสู่ตลาดมากขึ้น ดังนั้นราคาข้าวคาดว่าจะลดลงอีก

ด้านข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ ซึ่งจะเริ่มเก็บเกี่ยวในเดือนมิ.ย. จะให้ผลผลิตรวมเพิ่มมากขึ้นเพราะสภาพอากาศอำนวย แต่ตลาดส่งออกจะหดตัวลงเพราะเมื่อปี 56 มีการส่งออกไปมากจากมาตรการส่งเสริมและแทรกแซงราคาตลาด อย่างไรก็ตาม การบริโภคภายในจะเพิ่มขึ้นเพราะผู้ประกอบการปศุสัตว์ต้องการสินค้า

อ้อยโรงงาน จะมีผลผลิตเพิ่มขึ้นร้อยละ 2.88 เทียบกับปริมาณในปี 56 เนื่องจากมีการส่งเสริมให้เกษตรกรเพาะปลูกอ้อย และพืชอื่น เช่น ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ มันสำปะหลัง ปรับราคาลง ทำให้เกษตรกรหันมาปลูกอ้อยมากขึ้น โดยคณะรัฐมนตรีได้มีมติเห็นชอบกำหนดราคาอ้อยขั้นต้น ฤดูการผลิตปี 56/57 ในอัตรา 900บาท/ตัน ที่ระดับความหวาน 10 ซี.ซี.เอส และกำหนดอัตราขึ้น/ลงของราคาอ้อยที่ 54 บาท/1 หน่วย ซี.ซี.เอส/เมตริกตัน

ทางด้านปาล์มน้ำมัน ผลผลิตโดยรวมที่จะออกสู่ตลาดปี 57 จะเพิ่มขึ้นเพราะปาล์มน้ำมันที่ปลูกใหม่เมื่อปี 54 เริ่มให้ผลผลิต และคาดว่าการส่งออกปาล์มน้ำมันจะลดน้อยลง โดยผลผลิตจะถูกนำมาใช้เป็นวัตถุดิบทำไบโอดีเซลในประเทศมากขึ้นแทน

หมู ปี 57 นี้คาดว่าจะมีหมูออกสู่ตลาดเพิ่มขึ้นร้อยละ 1.61 เพราะราคาที่จูงใจและราคาอาหารสัตว์ที่ลดต่ำลงทำให้เกษตรกรที่มีศักยภาพขยายการผลิต โดยเนื้อหมูแปรรูปจะส่งออกได้มากขึ้น และหมูมีชีวิตที่ส่งออกไปประเทศเพื่อนบ้านโดยเฉพาะกัมพูชาจะเพิ่มขึ้นเช่นกัน เพราะหมูประเทศเพื่อนบ้านได้รับผลกระทบจากโรคระบาด

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook