อยากอยู่คอนโดฯ ต้องเตรียมตัวยังไงบ้าง

อยากอยู่คอนโดฯ ต้องเตรียมตัวยังไงบ้าง

อยากอยู่คอนโดฯ ต้องเตรียมตัวยังไงบ้าง
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

คำถาม-อยากซื้อคอนโดฯ อยู่สำหรับทำงานในเมืองวันธรรมดา แก้ปัญหารถติดเป็นตังเม วันหยุดค่อยกลับมาอยู่บ้าน ต้องเตรียมตัวยังไงบ้าง ไม่เคยอยู่ตึกสูง คนเยอะ ปัญหาจะเยอะไหม ขอคำแนะนำด้วยครับ

ค่ะ ไลฟ์สไตล์ของการใช้ชีวิตลอยฟ้าอยู่บนตึกสูงอย่างคอนโดมิเนียมสักแท่ง ย่อมต้องมีต้นทุนสูงกว่าอยู่แนวราบ...จริงหรือไม่ ?

คำถามนี้มีเข้ามาอย่างต่อเนื่อง จริง ๆ แล้วตอบไม่ยากเลยค่ะ อย่างน้อยที่สุดมี 2 รายการที่เตรียมตัว เตรียมใจ และเตรียมกระเป๋าตังค์ไว้ได้เลย เป็นค่าใช้จ่ายนอกเหนือจากค่าพื้นที่ส่วนกลางรายเดือนที่เรียกเก็บตามไซซ์ห้องชุดแสนรัก

ตัวแรกคือ "ค่าที่จอดรถ" ปกติ โครงการตึกสูงจะต้องจัดหาที่จอดรถอย่างน้อย 30% ของจำนวนห้องชุด เช่น มีห้องชุด 100 ห้องจะต้องมีที่จอดรถอย่างน้อยจอดได้ 30 คันขึ้นไป แต่ดั้งแต่เดิมมักจะคิดแบบ "เหมาจ่าย" รวมอยู่ในค่าส่วนกลาง

ต่อมา คงมีหลายเหตุผล เช่น เจ้าของห้องชุดที่ไม่มีรถยนต์มาจอดแอบโวยว่าไม่ได้ใช้บริการ หรือเห็นว่าเป็นบริการเสริมเฉพาะกลุ่ม จึงเรียกเก็บแบบสมัครใจ นั่นคือ มีรถยนต์ก็ให้จ่ายไปตามอัตราที่เขาเรียกเก็บ แต่ถ้าไม่อยากจ่ายก็ให้เอารถไปจอดที่อื่น (ฮา)

นั่นหมายความว่า เจ้าของห้องชุดที่มีรถยนต์ด้วย เตรียมควักต่างหากอีกสำหรับค่าที่จอดรถ ซึ่งจะมากหรือน้อยขึ้นกับนิติบุคคลอาคารชุดของท่านของแต่ละโครงการ อาจจะเดือนละ 300-500-700 บาท เป็นต้น

ทั้งนี้ รถเครื่องหรือมอเตอร์ไซค์ก็ไม่เป็นข้อยกเว้น อาจจะเรียกเก็บเดือนละ 50-100 บาท (ตรงนี้แหละ ความเสมอภาคที่เรียกร้องกันนักหนาจะเกิดมีขึ้นจริง เพราะมอ'ไซค์คันเล็ก หรือบิ๊กไบค์คันเท่ ขอประทานโทษ...ราคาเดียวกัน)

เรื่องยังไม่จบแค่นั้น "สิทธิในการจอด" ก็กำลังเป็นประเด็นถกเถียง ส่วนใหญ่คอนโดฯ มักจะเป็นห้องชุดแบบ 1 นอน มีสัดส่วน 70-80% ของแต่ละตึก ที่เหลืออาจจะ 2-3 นอน เพนต์เฮาส์ ดูเพล็กซ์ (ห้องชุดแบบ 2 ชั้นมีบันไดขึ้นลง)

ดังนั้น สิทธิ์ในการจอดรถมักจะกำหนดไว้ว่า 1 ห้องชุดต่อ 1 สิทธิ์ หรือ 1 โฉนดจอดรถได้ 1 คัน

อีก 1 รายการคือ "ค่าประกันภัยอาคารชุด" หากยังจำกันได้ เหตุการณ์น้องน้ำเมื่อปลายปี'54 กระทบชิ่งทำให้บริษัทประกันขึ้นค่าเบี้ยปี'55 สูงติดจรวด 2-2.5 เท่าของอัตราปกติสำหรับการประกันภัยธรรมชาติ

โดยอ้างว่า ในปี 2554 ประเทศในภูมิภาคมีเหตุภัยพิบัติเกิดพร้อม ๆ กัน ตัวอย่าง น้ำท่วมไม่ได้เกิดเฉพาะในประเทศไทย แต่ยังเกิดที่ออสเตรเลียกับฟิลิปปินส์ ส่วนญี่ปุ่นมีภัยคุกคามแผ่นดินไหวกับสึนามิ

คำถามคือ ไม่ทำได้มะ...ประกันภัยพิบ่งพิบัติอะไรเนี่ย แนวทางแทบจะร้อยเปอร์เซ็นต์ของนิติบุคคลคือจะแนะนำว่าได้ ถ้าจะเลือกประกันภัยอาคารชุดโดยไม่คุ้มครองความเสียหายภัยธรรมชาติ แต่ค่าเบี้ยไม่แตกต่างกันมากนัก

ขณะที่ถ้าเกิดเหตุไม่คาดฝัน คอนโดฯ อยู่ดี ๆ เกิดมีภัยธรรมชาติโหมกระหน่ำต้องซ่อมแซม ค่าใช้จ่ายสูงมากจนน่าตกใจ เพราะฉะนั้น การเลือกจ่ายเพิ่มอีกนิดน่าจะคุ้มกว่า

อย่างน้อยที่สุดก็เพื่อ "ความอุ่นใจ" ของเจ้าของห้องชุดโดยตรงค่ะ

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook