เคล็ดไม่ลับ 10 ข้อที่นักลงทุนไทยควรรู้เกี่ยวกับเมียนมาร์
หลังจากนโยบายรัฐบาลที่เริ่มผ่อนปรนและเปิดประตูทางเศรษฐกิจตั้งแต่ปี 2554 เป็นต้นมา "เมียนมาร์" เริ่มก้าวสู่ความเป็นประเทศเศรษฐกิจใหม่ที่มาแรงที่สุดของภูมิภาคอาเซียน ด้วยทำเลที่ตั้งอันเป็นจุดยุทธศาสตร์ในการเชื่อมโยงภูมิภาคเอเชียใต้และเอเชียตะวันออกเฉียงใต้เข้าด้วยกัน เชื่อมตลาดบริโภคขนาดใหญ่ที่มีประชากรกว่า 2,700 ล้านคน หรือ 1 ใน 3 ของประชากรโลก รวมถึงความสัมพันธ์ระหว่างประเทศอันแน่นแฟ้นและการค้าชายแดนที่มีมาช้านาน นักลงทุนไทยจึงมีความได้เปรียบด้านการแข่งขันและไม่ควรมองข้ามโอกาสทางธุรกิจในตลาดใหม่ที่สำคัญแห่งนี้
เมื่อเร็วๆ นี้ ธนาคารไทยพาณิชย์ ได้จัดสัมมนา "SCB FIRST เปิดโลก AEC เจาะลึกเมียนมาร์ 360°" เพื่อมอบเอกสิทธิ์ในการเปิดประสบการณ์ใหม่ด้านความรู้เชิงธุรกิจให้สมาชิก SCB FIRST กว่า 500 ท่าน ตามแนวคิด YOU ARE FIRST TO LEARN โดยระดมวิทยากรผู้ทรงคุณวุฒิ รู้ลึกรู้จริงทั้งจากประเทศไทยและเมียนมาร์ รวมทั้งนักธุรกิจไทยที่ประสบความสำเร็จในตลาดเมียนมาร์ ครอบคลุมทุกแง่มุมที่นักธุรกิจและนักลงทุนควรรู้เพื่อเตรียมความพร้อมมุ่งสู่ตลาดเศรษฐกิจใหม่ที่มีศักยภาพสูงแห่งอาเซียนอย่างแข็งแกร่ง
จากการสัมมนาครั้งนี้ เราได้นำข้อมูลสาระประโยชน์มาสรุปเป็นเคล็ดลับที่นักลงทุนไทยควรรู้เกี่ยวกับเมียนมาร์ได้ 10 ข้อ ดังต่อไปนี้
• ผู้บริโภคเมียนมาร์มีความความนิยมและความเชื่อมั่นในคุณภาพของสินค้าและบริการจากประเทศไทยเป็นทุนเดิมอยู่แล้ว การที่ผู้ประกอบการไทยจะสร้างแบรนด์ในตลาดเมียนมาร์จึงไม่ใช่เรื่องที่ยากอย่างที่คิด
• ผลิตภัณฑ์ที่เป็นที่ต้องการสูงสุดของตลาดเมียนมาร์ 3 อันดับแรกในขณะนี้คือ โทรศัพท์เคลื่อนที่, รถยนต์ และ จักรยานยนต์
• ในการเปิดประเทศพัฒนาเศรษฐกิจ เมียนมาร์มีนโยบายมุ่งพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ควบคู่กับการดูแลรักษาสิ่งแวดล้อม ไม่ใช่เพียงแค่ต้องการเงินหรือความมั่งคั่งเท่านั้น
• รัฐบาลเมียนมาร์ยังไม่อนุญาตให้บริษัทต่างชาติตั้งบริษัทเพื่อประกอบกิจการค้าในเมียนมาร์ แต่ผู้ประกอบการไทยสามารถดำเนินการค้ากับพม่าได้โดยใช้นิติบุคคลในไทยทำการค้ากับผู้ประกอบการในพม่าได้ในลักษณะของการนำเข้า-ส่งออก เหมือนที่ดำเนินธุรกิจกับประเทศอื่นๆ
• ในการเข้าไปทำธุรกิจในเมียนมาร์ จำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องสร้างพันธมิตรกับผู้ประกอบการท้องถิ่น เพราะเท่ากับไม่ต้องไปเริ่มนับหนึ่งใหม่ และรู้จักนำประสบการณ์จากการทำธุรกิจในไทยไปผสานกับแนวทางการทำธุรกิจแบบชาวเมียนมาร์
• ด้านเงินทุนในการทำธุรกิจ ผู้ประกอบการท้องถิ่นในเมียนมาร์จะใช้ทุนของตนเอง หรือระดมทุนในเครือข่ายพันธมิตร ไม่นิยมการกู้ธนาคาร เนื่องจากอัตราดอกเบี้ยจากธนาคารในเมียนมาร์สูงมาก ผู้ประกอบการไทยจึงควรทำในลักษณะเดียวกัน สำหรับเรื่องธุรกรรมทางการเงินนั้น แนะนำว่าควรให้ธนาคารไทยที่เป็นระดับนานาชาติ อย่างไทยพาณิชย์ เข้ามาช่วยดูแลเรื่องการโอนเงินฝากเงินในการทำการค้าต่างแดนให้เป็นระบบ เพราะต้องยอมรับว่าธนาคารท้องถิ่นในประเทศเพื่อนบ้านยังมีปัญหาเรื่องระบบฝากถอนและการเช็คยอดเงินคงเหลือ
• ประเภทกิจการที่เมียนมาร์ห้ามไม่ให้ชาวต่างชาติทำมีทั้งสิ้น 21 กิจการ ส่วนใหญ่เป็นกิจกรรมที่เกี่ยวข้องกับความมั่นคงของชาติ กิจกรรมที่มีผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม สุขอนามัยของประชาชนรวมถึงทรัพยากรที่เป็นผลประโยชน์หลักของชาติ
• สิทธิประโยชน์ในการส่งเสริมการลงทุนในเมียนมาร์มีมากมาย อาทิเช่น การยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคล 5 ปี ยกเว้นหรือลดหย่อนภาษีเงินได้ จากการนำผลกำไรกลับไปลงทุนใหม่ภายในระยะเวลา 1 ปี ธุรกิจส่งออกได้รับลดหย่อนภาษีเงินได้ 50% ของผลกำไร เป็นต้น
• สำหรับชาวต่างชาติ การเข้าไปถือครองที่ดินมี 2 ประเภท คือ การถือครองที่ดินกรณีไม่ได้รับการส่งเสริม ซึ่งในประเภทนี้ชาวต่างชาติไม่ได้รับอนุญาตให้ถือครองที่ดิน โดยทำได้เพียงสามารถเช่าที่ดินได้โดยมีระยะเวลาของสัญญาเช่าไม่เกิน 1 ปี ส่วนในกรณีการถือครองที่ดินในกรณีได้รับการส่งเสริม รัฐอนุญาตให้นิติบุคคลที่ได้รับอนุญาตให้ลงทุนจาก MIC สามารถเช่าที่ดินได้โดยมีระยะเวลาของสัญญาไม่เกิน 50 ปี และสามารถต่อสัญญาได้ 2 ครั้ง ครั้งละไม่เกิน 10 ปี ทั้งนี้สามารถตรวจสอบรายละเอียดได้จากทาง BOI http://toi.boi.go.th
• ปัจจุบันเมียนมาร์ยังมีการกำหนดสัดส่วนอัตราการจ้างแรงงานฝีมือท้องถิ่น โดยใน 2 ปีแรกนับตั้งแต่ดำเนินการ ต้องจ้างแรงงงานชาวเมียนมาร์ไม่น้อยกว่า ร้อยละ 25 ปีที่ 3-4 ไม่น้อยกว่าร้อยละ 50 และปีที่ 5-6 ไม่น้อยกว่าร้อยละ 75 ที่สำคัญอย่ากดขี่ หรือปฏิบัติไม่ดีกับแรงงานชาวเมียนมาร์ เพราะ แม้ค่าแรงคนงานเมียนมาร์จะยังต่ำ แต่หลังเปลี่ยนแปลงการบริหารจากกองทัพ เป็นรัฐบาลพลเรือนหลังการเลือกตั้งแล้ว มีปัญหาเรื่องข้อเรียกร้องจากแรงงานสูงกว่าในอดีต
ติดตามข้อมูลความรู้แบบ 360 องศา ครอบคลุมทุกแง่มุมที่นักธุรกิจและนักลงทุนควรรู้เพื่อเตรียมความพร้อมมุ่งสู่ตลาดเศรษฐกิจใหม่ที่มีศักยภาพสูงแห่งอาเซียนจากงาน สัมมนา "SCB FIRST เปิดโลก AEC เจาะลึกเมียนมาร์ 360°" ได้ทาง http://www.scb.co.th/scbfirst/aec
อัลบั้มภาพ 11 ภาพ