สำนักงานสลากฯ เล็งฟื้นสลากขูด
สำนักงานสลากฯ ผลักดันสลากขูดเพิ่มเกมการเสี่ยงโชค ชี้มีสินค้าเดียวความเสี่ยงสูงที่จะไม่ได้รับความนิยมในกลุ่มคนรุ่นใหม่ ระบุทำในรูปสลากการกุศลน่าจะเกิดขึ้นได้ง่าย พร้อมซื้อเครื่องออกรางวัลจากฝรั่งเศสเสริมความเชื่อมั่นประชาชน
พล.ต.ต.อรรถกฤษณ์ ธารีฉัตร ผู้อำนวยการสำนักงานสลากกินแบ่งรัฐบาล เปิดเผยว่า สำนักงานสลากฯ ยังมีแนวคิดจะเพิ่มผลิตภัณฑ์หรือเกมสลากใหม่ๆ เพื่อลดความเสี่ยงในการดำเนินงานขององค์กรในอนาคต โดยเฉพาะสลากขูด ซึ่งเห็นว่าเป็นเกมที่น่าจะเหมาะสมกับสังคมไทยและได้รับความนิยมในต่างประเทศ ทั้งประเทศเพื่อนบ้านอย่างมาเลเซีย สิงคโปร์ เกาหลี ญี่ปุ่น และก่อนหน้านี้ไทยก็เคยออกสลากขูดครั้งหนึ่งแล้ว เป็นสลากคุ้มเกล้า เพื่อหาเงินมาใช้ในการสร้างโรงพยาบาล ซึ่งขณะนี้อยู่ในช่วงของการเตรียมความพร้อม และคงต้องหารือกับสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาก่อนว่า สามารถดำเนินการได้โดยไม่ขัดกับกฎหมาย และต้องศึกษาร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เพื่อวางกรอบกติกาให้มีความมั่นใจในการเดินหน้าต่อไป ซึ่งน่าจะทำได้เร็ว หากทำออกมาในรูปของสลากการกุศล
“การที่สำนักงานสลากฯ มีเพียงผลิตภัณฑ์เดียว คือ สลากใบที่จำหน่ายในปัจจุบัน ถือว่ามีความเสี่ยงทางธุรกิจสูงมาก เพราะทำให้เกิดการผูกขาดตายตัว และอาจจะลดความนิยมลงไป โดยเฉพาะคนรุ่นใหม่มักไม่นิยมการเสี่ยงโชคดังกล่าว หากปล่อยไว้สลากก็อาจจะตายไปเรื่อยๆ รวมทั้งคนไทยเองก็อาจหันไปซื้อสลากจากประเทศเพื่อนบ้านอย่างมาเลเซีย โดยพบว่า 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ นิยมซื้อสลากขูดของมาเลเซียมาก เพราะตรวจรางวัลได้เร็วถึงสัปดาห์ละ 3 ครั้ง อย่างญี่ปุ่น พบว่าสลากขูดได้รับความนิยมเช่นเดียวกัน สามารถซื้อได้ในราคา 200 เยน หรือ 60 กว่าบาท และตรวจรางวัลได้ทันที เพื่อลุ้นรางวัลที่ 1 ซึ่งมีมูลค่าถึง 3 ล้านบาท” พล.ต.ต.อรรถกฤษณ์ กล่าว
ทั้งนี้ หากสามารถดำเนินการได้จริงในไทยก็อาจใช้วิธีตรวจรางวัลเดือนละ 2 ครั้งเช่นเดิม เพราะหากให้ตรวจรางวัลถี่เกินไปก็อาจถูกมองเป็นบ่อนการพนัน แทนที่จะเป็นเกมสลาก และในอนาคตสำนักงานสลากฯ ก็ยังอยากให้มีการจำหน่ายสลากประเภทอื่นๆ ตามมาเช่นกัน รวมทั้งการจำหน่ายด้วยเครื่อง ซึ่งขณะนี้ยังไม่สามารถเดินหน้าได้ เพราะต้องรอให้มีความชัดเจนด้านนโยบายของรัฐบาลอีกครั้ง โดยหากมีสลากประเภทอื่นๆ ก็น่าจะช่วยให้ปัญหาการขายสลากกินแบ่งรัฐบาลเกินราคาลดลงไปได้
ส่วนการออกรางวัลด้วยเครื่องแบบใหม่ตามที่คณะกรรมการฯ มอบหมายให้พิจารณาตามความเหมาะสมนั้น มีความเป็นไปได้ที่จะนำเครื่องออกรางวัลของประเทศฝรั่งเศสมาใช้ เป็นเครื่องที่ควบคุมด้วยระบบอิเล็กทรอนิกส์แบบเป่าลม ซึ่งได้รับความนิยมและใช้ในหลายประเทศ โดยไม่มีข้อครหาใดๆ หลังจากนี้หากสามารถตกลงกันได้ก็น่าจะมีกระบวนการเซ็นสัญญาภายใน 60 วัน หลังจากนั้นคงใช้เวลาอีกระยะหนึ่งในการผลิตเครื่องดังกล่าว โดยมีราคาอยู่ที่เครื่องละ 3 ล้านบาท และอาจต้องใช้ประมาณ 8 เครื่อง ส่วนเครื่องลาดกระบัง 6 ก็ยังไม่ได้ยกเลิกไป แต่อาจใช้วิธีแรนดอมเครื่อง เพื่อใช้ออกรางวัลในแต่ละงวดก็ได้ ประกอบกับในเร็วๆ นี้ สำนักงานสลากฯ จะได้รับการรับรองมาตรฐานไอเอสโอในการออกรางวัลจากองค์กรระดับสากลด้วย จึงมองว่าน่าจะเรียกความเชื่อมั่นในการออกรางวัลคืนมาได้