"สิงคโปร์"แซงไทยส่งออกกล้วยไม้ เกรดพรีเมี่ยมใช้มาเลย์เป็นฐานผลิตขายทั่วโลก
กล้วยไม้ไทยเดี้ยง เหตุสิงคโปร์แซงขึ้นแท่นกลายเป็นผู้ส่งออกอันดับต้น ๆ เสียบแทนไทย ใช้ฐานมาเลเซียปลูกแข่ง เผยประเทศผู้ซื้อให้เครดิตกล้วยไม้จากสิงคโปร์มากกว่าไทย ไม่มีการตรวจโรคแมลงเข้มงวดเท่าสินค้าจากไทย แนะทางรอด ต้องทำโรงเรือนควบคุมอุณหภูมิ โรค แมลง
นายเจตน์ มีญาณเยี่ยม นายกสมาคมผู้ส่งออกดอกกล้วยไม้ไทย เปิดเผยถึงสถานการณ์ธุรกิจกล้วยไม้ภายในงาน "ฮอร์ติ เอเชีย 2014" หรืองานแสดงเทคโนโลยีและนวัตกรรมด้านพืชพันธุ์ ผัก ผลไม้ ดอกไม้ และกล้วยไม้แห่งภูมิภาคเอเชีย ว่า ตั้งแต่ช่วงต้นปี 2557 สภาพอากาศในประเทศไทยมีความแปรปรวนมาก โดยช่วงต้นปีที่ผ่านมา สภาพอากาศหนาวจัด ส่งผลกระทบให้กล้วยไม้ไม่ออกดอก ผลผลิตขาดแคลน ทำให้ราคาพุ่งขึ้นสูง แต่เมื่อสภาพอากาศดีขึ้น ปรากฏว่ากล้วยไม้กลับออกดอกมากถึง 120% ส่งผลให้ล้นตลาด ทำให้ราคากล้วยไม้ตกต่ำ จากนั้นมาประสบปัญหาสภาพอากาศที่ร้อนจัด กล้วยไม้ไม่ออกดอก ทำให้ราคาพุ่งขึ้นสูง
ในอนาคตผู้ปลูกต้องต่อยอดธุรกิจ เพราะแม้การผลิตจะมีคุณภาพ แต่การควบคุมผลผลิตไม่ให้ขาดช่วงต่อไป ต้องใช้เทคโนโลยีเข้ามาช่วย นั่นคือการสร้างโรงเรือนควบคุมอุณหภูมิ ซึ่งล่าสุดบริษัทได้ทุนวิจัยจากสำนักงานพัฒนาการวิจัยการเกษตร (สวก.) มาลงทุนสร้างโรงเรือน โดยจะเริ่มในอีก 2-3 เดือนข้างหน้า
"อนาคตเราต้องปรับแผนการผลิต เดินให้ถูกต้องกับการตลาด ล่าสุดทางสมาคมได้เซ็นบันทึกความร่วมมือกับจีน ส่งกล้วยไม้ไปยังตลาดคุนหมิง ซึ่งเป็นศูนย์กลางไม้ดอกของจีน จะทำให้เกิดความยุติธรรมทั้งสองฝ่าย"
ปกติไทยผลิตกล้วยไม้ได้ปีละ 45,000 กว่าตัน ส่งออกประมาณ 20,000 ตัน หรือประมาณ 70% มีผลผลิตเสียหายในแต่ละปี 10,000 ตัน ที่เหลือขายภายในประเทศ คิดเป็นสัดส่วน 20-30% เท่านั้นในขณะนี้ เนื่องจากการเมืองและสภาวะเศรษฐกิจไม่ปกติ เทียบกับเมื่อหลายปีก่อน ยอดขายตลาดในและต่างประเทศจะเท่ากัน
นายอุดม ฐิตะวัฒนะสกุล ที่ปรึกษาสมาคมไม้ประดับแห่งประเทศไทย กล่าวในประเด็นไม้ประดับไทยจะอยู่จุดไหนของประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน (AEC) และของโลกว่า ไทยปลูกผัก ผลไม้ได้ดี ทั้งในด้านปริมาณและคุณภาพ ปัจจุบันไทยมีพื้นที่ปลูกไม้ประดับ 15,400 ไร่ ในอนาคตไทยจะคำนึงถึงคุณภาพอย่างเดียวไม่ได้ ต้องมีปริมาณการส่งออกที่ต่อเนื่องด้วย เพื่อสร้างความน่าเชื่อถือ
"ในเออีซีไทยเหมือนเป็นศูนย์กลาง ผลดีของเออีซีมีมากมาย แต่จากปัญหาค่าแรงขั้นต่ำที่พุ่งขึ้น 40% ในภาคเกษตร เราอาจต้องย้ายฐานการผลิตบางส่วนไปประเทศเพื่อนบ้าน หรือไปลงทุนร่วมกัน เพราะต่อไปเพื่อนบ้านที่ซื้อกล้วยไม้ไทย ก็จะยกระดับขึ้นมาผลิตเอง จึงเป็นโจทย์ที่ว่า เราจะทำอย่างไรที่จะอยู่ร่วมกันอย่างมีความสุขทั้งสองฝ่าย"
นายพันธพัฒน์ คุ้มวิเชียร ประชาสัมพันธ์สมาคมส่งออกดอกกล้วยไม้ไทย กล่าวว่า ขณะนี้สิงคโปร์ได้ก้าวขึ้นมาเป็นผู้ส่งออกดอกกล้วยไม้เกรดพรีเมี่ยมในภูมิภาคเอเชียแทนประเทศไทย โดยไปลงทุนปลูกในมาเลเซีย ซึ่งประเทศผู้ซื้อให้เครดิตในการนำเข้าจากสิงคโปร์มากกว่า เพราะไม่มีการตรวจโรคเข้มงวด เมื่อเทียบกล้วยไม้ที่ส่งไปจากประเทศไทย
ล่าสุด กล้วยไม้กระถางที่มีทั้งต้นและดอกได้รับความนิยมมากขึ้น โดยเฉพาะจากจีนที่สั่งซื้อจากไทยที่ขนส่งผ่านถนนอาร์ 3 A ไปยังเมืองคุนหมิง เพราะอยู่ได้นานถึง 30 วัน เทียบกับกล้วยไม้ตัดดอกที่อยู่ได้เพียง 7-10 วัน และต้องเสียค่าขนส่งทางอากาศสูงผู้ผลิตกล้วยไม้อยากให้รัฐเข้ามาดูด้านการตลาด เพราะปัจจุบันไทยยังไม่มีศูนย์รวมเหมือนสิงคโปร์ ต่างคนต่างขายในตลาดทั่วไป รวมถึงการขายผ่านเว็บไซต์