กนอ.จ่อตั้งนิคมอุตฯอุดรธานีแห่งที่56ของไทย
นิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย ลง MOU จัดตั้งนิคมอุตสาหกรรมอุดรธานี แห่งที่ 56 ของไทย รองรับ AEC ใช้เงินลงทุน 2,900ล้านบาท มั่นใจ ยอดขายพื้นที่ปีงบ 57 ทะลุเป้า3,000ไร่ ชี้ไตรมาส2 เริ่มดีขึ้น คลายห่วงการเมือง
นายวีรพงศ์ ไชยเพิ่ม ผู้ว่าการการนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (กนอ.) เปิดเผยภายหลังร่วมลงนามสัญญาจัดตั้งโครงการนิคมอุตสาหกรรมอุดรธานี ใน จ.อุดรธานี กับบริษัท เมืองอุตสาหกรรมอุดรธานี จำกัด ว่า นิคมดังกล่าวฯ จะจัดตั้งได้ในปี 2558 โดยมีพื้นที่ 2,219 ไร่ เงินลงทุนพัฒนาโครงการ 2,900 ล้านบาท การจ้างงานไม่น้อยกว่า 16,900 คน และคาดว่าจะก่อให้เกิดมูลค่าการลงทุนไม่น้อยกว่า 74,000 ล้านบาท โดยนิคมแห่งนี้ เป็นแห่งที่ 56 ของประเทศไทยและเป็นจังหวัดที่ 16 โดยจะรองรับการขยายตัวภาคอุตสาหกรรม ทั้ง อิเล็กทรอนิกส์ ชิ้นส่วนยานยนต์ ชิ้นส่วนอุปกรณ์เครื่องใช้ไฟฟ้าอุตสาหกรรมต่อเนื่องจากยางพารา ซึ่งคาดว่าจะพัฒนาเฟสแรกได้ภายในปี 2558 รวมถึงจะรองรับการเข้าสู่ประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน หรือ AEC ในปี 2558 อีกด้วย
ทั้งนี้ นายวีรพงศ์ กล่าวว่า นิคมอุตสาหกรรมอุดรธานีเป็น 1 ใน 3 นิคมฯ ที่ทาง กนอ.ได้เปิดให้เอกชนเสนอยื่นจัดตั้งและได้รับคัดเลือกตามยุทธศาสตร์ของประเทศในเชิงพื้นที่และคลัสเตอร์ ซึ่งอีก 2 แห่ง คือ บ.นาคา คลีนเพาเวอร์ จ.หนองคายและ บ.สวนอุตสาหกรรมพลังงาน จ.นครราชสีมา โดยคาดว่าจะสามารถร่วมลงนามจัดตั้งได้ภายในปีนี้
กนอ.มั่นใจยอดขายพื้นที่ปีงบ 57 ทะลุเป้า 3,000 ไร่
นายวีรพงศ์ ไชยเพิ่ม ผู้ว่าการการนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (กนอ.) เปิดเผยว่า สำหรับยอดขายพื้นที่นิคมฯของ กนอ. 6 เดือนแรกของปีงบประมาณ 57 (ตั้งแต่เดือนตุลาคม 2556 - มีนาคม 2557) โดยมียอดขายพื้นที่แล้ว 1,770 ไร่ ซึ่งในไตรมาสแรกมียอดขายเพียง 700 ไร่ โดยสถานการณ์เริ่มกลับมาดีขึ้นในไตรมาสที่ 2 และก็เริ่มดีขึ้นต่อเนื่องประกอบกับมั่นใจว่าสถานการณ์การเมืองจะดีขึ้น ดังนั้นยอดการขายพื้นที่ของ กนอ.ทั้งปีงบประมาณ ซึ่งมีความมั่นใจว่าจะเกินเป้าหมายที่วางไว้ที่ 3,000 ไร่ อย่างแน่นอน รวมถึงได้รับอานิสงส์จากโครงการที่ค้างการลงทุนจากสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน หรือ บีโอไอ โดยจะมีส่วนช่วยกระตุ้นการลงทุนในช่วงครึ่งปีหลังแต่ภาพรวมคงน้อยกว่าปีที่ผ่านมา ที่มียอดขายอยู่ที่ 5,600 ไร่ จากการกลับมาลงทุนมากหลังประสบปัญหาภาวะน้ำท่วม
ทั้งนี้ ปัจจุบัน กนอ.มีนิคมฯ ภายใต้การดำเนินงานและการกำกับดูแลบริหารจัดการ จำนวน 55 นิคมฯ กระจายอยู่ใน15 จังหวัด และท่าเรืออุตสาหกรรม 1 แห่ง รวมพื้นที่ทั้งสิ้น 154,853 ไร่ พื้นที่คงเหลือสำหรับขายและเช่าประมาณ11,490 ไร่(จากนิคมฯ ที่เปิดดำเนินการแล้ว) มูลค่าการลงทุน 3 ล้านล้านบาท เกิดการจ้างงาน 550,000 คนจำนวนผู้ประกอบการปัจจุบัน 4,200 ราย มีนิคมฯ ที่เปิดดำเนินการแล้ว 37 นิคมฯ และอยู่ระหว่างการพัฒนาโครงการ 18
นิคมฯ