สัมผัสอาชีพ 'สัปเหร่อ' ใจไม่รักทำไม่ได้
วันนี้ทีมงาน สนุก! มันนี่ จะพาทำความรู้จักอีกหนึ่งอาชีพ ในบ้านเราที่น้อยคนนักจะประกอบอาชีพนี้ เพราะเมื่อก่อนอาชีพนี้มักจะถูกมองว่าเป็นอาชีพที่น่ารังเกียจ และน่ากลัว ที่สำคัญอาชีพนี้ต้องใช้ชีวิตอยู่กับศพคนตายเป็นหลัก แบบนี้คงรู้กันแล้วสิครับนั้นละครับว่าอาชีพที่แนะนำว่าคืออะไร แน่นอนต้องหนี้ไม่พ้น อาชีพ"สัปเหร่อ"เป็นแน่
ว่ากันว่าอาชีพ"สัปเหร่อ"นั้นมีมาตั้งแต่สมัยพุทธกาลแล้ว มีหลักฐานปรากฏในพระวินัย ที่พระพุทธเจ้าทรงห้ามพระภิกษุที่ไม่มีที่จำพรรษา ไปจำพรรษาในกระท่อมผี สาเหตุเนื่องจากมีชาวบ้านไปพบ และนำไปติเตียนต่างๆ นานา ด้วยเป็นภาพที่ไม่เหมาะสม มองดูคล้ายสัปเหร่อ หากตีความตามที่พระพุทธเจ้าตรัสไว้ในพระวินัย จะเห็นว่า สัปเหร่อในสมัยพุทธกาล คงเป็นคนที่ดูแล้วไม่สำรวม ไม่สะอาดเรียบร้อย
หลายคนคงไม่รู้หรอกว่า อาชีพสัปเหร่อ มีการสืบทอดตำแหน่ง หรือเรียนวิชาความรู้จากสัปเหร่อรุ่นก่อนๆ เรียกว่า "พิธีประสิทธิเม" ซึ่งต้องเรียนรู้วิธีการเบิกโลง และมัดตราสังให้ศพ หน้าที่ของสัปเหร่อ เริ่มจากเตรียมเมรุเผาศพ กวาดเถ้ากระดูกของศพที่เผาก่อนหน้า ไม่ให้ปะปนกับศพที่กำลังจะเผา และขอซื้อที่จากเทวดาเจ้าที่ชื่อ "ตากะลี ยายกะลา" ก่อนการเผา สัปเหร่อจะเปิดโลงและตัดด้ายที่มัดมือ มัดเท้าศพ และล้างหน้าศพด้วยน้ำมะพร้าว เมื่อญาติผู้ตายช่วยกันเคลื่อนศพไปสู่เมรุ สัปเหร่อจะดำเนินการเผาตามขั้นตอน ใช้เวลาประมาณ 1-2 ชั่วโมง จากนั้นเก็บกระดูกให้ญาติของศพที่มารอรับอยู่
จรรยาวิชาชีพสัปเหร่อที่สำคัญ คือ การไม่เลือกปฏิบัติ ต้องเผาศพให้เจ้าภาพทุกรายโดยไม่เลือกที่รักมักที่ชัง หรือฐานะความยากดีมีจน ต้องทำหน้าที่ด้วยความเป็นมืออาชีพ คือ รับผิดชอบงานในหน้าที่ให้สำเร็จเรียบร้อยทุกขั้นตอน ตั้งแต่ทำความสะอาดเตาเผา จนถึงเก็บกระดูก ทั้งนี้ราชการกำหนดหน้าที่สัปเหร่อเป็นงานประเภทที่ 5 คือพนักงานบริการ และพนักงานขายในร้านค้าและตลาด ในหมวด 51 คือเป็นพนักงานให้บริการในเรื่องส่วนบุคคลและบริการด้านการป้องกันภัย กำหนดเป็น "สัปเหร่อและเจ้าหน้าที่ฉีดยาศพ" ทำหน้าที่จัดการเผาศพและฝังศพ รักษาศพไม่ให้เน่าเปื่อยด้วยการฉีดสารเคมีในร่างศพ รวมถึงการทำพิธีต่างๆ เกี่ยวกับการจัดการศพ
หากจะถามว่าสัปเหร่อนั้นมีเงินเดือน หรือไม่นั้น บอกได้ว่า สัปเหร่อ ก็มีเงินเดือนเหมือนกับอาชีพของคนทั่วไปเช่นกัน โดยนายจ้างของสัปเหร่อนั้นไม่ใช่ใครที่ไหน ก็เป็นวัดนี่แหละที่เป็นนายจ้าง แต่เงินเดือนที่จ่ายให้อาจไม่ได้มากมาย แต่ถ้าที่เมืองนอกละก็อาชีพสัปเหร่อมีรายได้เฉลี่ยต่อปีสูงถึงประมาณ 1,400,000 บาท แต่รายได้ส่วนใหญ่ของสัปเหร่อที่ได้จะมาจากทิป และค่าโน่นนี่ในพิธีต่างๆ รวมทั้งเปอร์เซ็นต์ จากร้านอาหาร เครื่องดื่ม หรือพวงหรีด อย่างไรก็ตามเงินเดือนหรือค่าแรงของสัปเหร่อ นั้นก็ต้องถูกแบ่งแยกออกไปตามเกรดของวัด หากเป็นวัดเกรดเอ ค่าแรงก็จะสมน้ำสมเนื้อ ตามเกรดและชื่อเสียงของวัด ส่วนเกรดบีลงมา ก็ลดหลั่นลงมาตามลำดับ
สุดท้ายนี้ไม่ว่าจะทำอาชีพอะไรก็ตาม ก็ขอให้เป็นอาชีพที่สุจริต และขยันมุ่งหมั่นทำงาน พอใจในงานที่ทำ แค่นี้ชีวิตก็มีความสุขแล้ว แต่หากยังคิดว่าต้องได้งานดี เลือกงาน หรือ รังเกียจในงานที่ทำ ชีวิตนี้ก็ไม่ต้องทำมาหากินแล้ว....สาธุ
ขอบคุณภาพประกอบบางส่วนจาก นสพ.คมชัดลึก