ตะลุยตลาด "บ้านหม้อ" เซตท็อปบ็อกซ์ "ดิจิทัล" พรึ่บ-ดรีมบ็อกซ์หดหาย

ตะลุยตลาด "บ้านหม้อ" เซตท็อปบ็อกซ์ "ดิจิทัล" พรึ่บ-ดรีมบ็อกซ์หดหาย

ตะลุยตลาด "บ้านหม้อ" เซตท็อปบ็อกซ์ "ดิจิทัล" พรึ่บ-ดรีมบ็อกซ์หดหาย
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

หลังเปิดประมูลทีวีดิจิทัล 24 ช่องธุรกิจเมื่อปลายปี จนถึงการเริ่มทดลองออกอากาศเมื่อต้น เม.ย.ที่ผ่านมา แม้หลายฝ่ายจะบอกว่าการเปลี่ยนผ่านทีวีดิจิทัลของไทยจะดูเงียบ ๆ เหงา ๆ แต่เมื่อผู้สื่อข่าว "ประชาชาติธุรกิจ" ลงพื้นที่สำรวจ "บ้านหม้อ" แหล่งรวมอุปกรณ์เครื่องรับสัญญาณโทรทัศน์ที่ใหญ่ที่สุดในกรุงเทพฯ พบว่าทั้งร้านแผงลอยและร้านค้าห้องแถวพร้อมใจกันขนอุปกรณ์สำหรับรับชมทีวีดิจิทัลมาวางขายอย่างคึกคัก ทั้งกล่องแปลงสัญญาณ หรือ Set-Top-Box เสารับสัญญาณหลากหลายรูปแบบ ยี่ห้อหลัก ๆ ที่วางขายในบ้านหม้อ คือ "สามารถ" และ "MCOT" ขึ้นชื่อว่า "บ้านหม้อ" สินค้าที่วางขายย่อมถูกกว่าที่อื่น อย่างกล่อง "สามารถ" รุ่น Strong Pro (ใช้ชิปรับสัญญาณของโซนี่) ปกติขายกันอยู่ที่ 1,450 บาท แต่ที่นี่ขาย 1,150 บาท ประกัน 1 ปี ส่วนของ "MCOT" รุ่น View ราคาปกติอยู่ที่ 1,299 บาท ที่นี่ขาย 1,200 บาท ประกัน 2 ปี สำหรับเสารับสัญญาณนั้น มีแบบตั้งในบ้าน ราคา 200-300 บาท เสาก้างปลาขนาดใหญ่ ราคา 500 บาท และเสาใช้รับสัญญาณในรถยนต์ ราคา 400 บาท

แต่ที่แปลกกว่านั้น มีบางร้านนำกล่องที่ใช้ในบ้านมาขายเป็นกล่องสำหรับใช้ในรถยนต์ เช่น รุ่น Strong ของสามารถ ที่ปกติใช้ภายในอาคาร แต่อุปกรณ์รับสัญญาณได้ค่อนข้างแรง พ่อค้าหัวใสจึงนำไปดัดแปลงตัวสำรองไฟให้เหมาะกับใช้ในรถยนต์ แล้วอัพราคาเพิ่มจาก 1,350 บาท ให้เป็น 1,650 บาท 

รวมกับชุดเสาสัญญาณแล้วจ่ายเงินไม่ถึง 2,000 บาท จากปกติที่อุปกรณ์กลุ่มนี้ต้องขายกันหลักหมื่นบาท 

เจอนวัตกรรมไทยคิดประดิษฐ์เองแบบนี้ "ทวี อุดมกิจโชติ" กรรมการผู้จัดการ บริษัท สามารถวิศวกรรม จำกัด ผู้ผลิตกล่อง "สามารถ" ยอมรับว่าตกใจ

"ตกใจที่เห็นผู้ค้าเอาไปทำแบบนี้ แต่ก็ต้องยอมรับว่าภาครับที่เราใส่ไว้ในกล่องรุ่น Strong มีกำลังแรง เพราะต้องการตอบโจทย์ช่วงแรกที่สัญญาณทีวีดิจิทัลต่าง ๆ ยังส่งมาไม่ถึง พออุปกรณ์ภาครับแรง ช่างเทคนิคจึงนำไปดัดแปลง ทำให้ใช้ในรถได้ ส่วนจะเข้าไปควบคุมราคาหรือไม่ ก็คงไม่ขนาดนั้น เพราะที่อื่นก็ขายราคาปกติ แต่ที่นี่คนซื้อต้องรับความเสี่ยงเองว่าจะดูทีวีดิจิทัลในรถได้ชัดขนาดไหน"

ด้านผู้ค้าในบ้านหม้อเปิดเผยว่า มีคนมาถามถึงกล่องทีวีดิจิทัลเยอะ ทำให้ยอดขายโดยรวมมาจากกล่องประเภทนี้เป็นหลัก จากเดิมอยู่ที่กล่องดาวเทียม ดิจิทัล ลูกค้าเข้ามาในร้านก็ถามถึงก่อน เนื่องจากติดตั้งง่าย แค่มีเสารับสัญญาณและเสียบกล่องกับเสาและโทรทัศน์ก็ใช้งาน และลูกค้าส่วนใหญ่มีเสาแล้วทำให้ประหยัดเงินขึ้นไปอีก

"ถึงการรับชมทีวีดาวเทียมจะมีช่องรายการให้ดูมากกว่า แต่ตอนนี้ทีวีดิจิทัลกำลังเทรนด์ ทำให้ลูกค้าถามถึงกล่องตัวนี้กันเยอะ จนบางทีกล่องดาวเทียมก็ขายไม่ได้เลย ส่วนคนที่มีจานดาวเทียมที่บ้านอยู่แล้วก็ยังมาหาซื้อกล่องทีวีดิจิทัล เพราะอยากรับชมฟรีทีวีแบบ HD (ความคมชัดสูง) ไม่เหมือนกับดาวเทียมที่ให้ดูเต็มที่แค่ SD (คมชัดปกติ) ซึ่งกลุ่มนี้พวกผมสามารถขายเสารับสัญญาณได้ด้วย และรุ่นที่ฮิตติดตลาดตอนนี้คือเสาขนาดเท่านิ้วชี้ ยี่ห้อครีเอเทค ราคา 400 บาท ส่วนทีวีดาวเทียมก็ยังพอขายได้ แต่ไม่คึกคักเหมือนช่วงกล่องฟุตบอลยูโร"

ผู้ค้าอีกรายกล่าวว่า ลูกค้าไม่ค่อยสนใจกล่องและจานสำหรับทีวีดาวเทียม เพราะจุดประสงค์ของการดูทีวีดาวเทียมคือดูฟรีทีวีได้ชัด เมื่อเทียบราคาระหว่างชุดรับชมทีวีดาวเทียมที่ต้องมีทั้งกล่องรับสัญญาณและจานดาวเทียมกับชุดดูทีวีดิจิทัล ทีวีดิจิทัลถูกกว่าเกือบ 1,000 บาท ดูฟรีทีวีได้ชัดแถมมี 48 ช่อง

สำหรับจานดาวเทียมรวมกับหัวรับสัญญาณ ราคาอยู่ที่ 400-600 บาท ส่วนกล่องทีวีดาวเทียม ราคาจะแตกต่างตามแบรนด์ของผู้ให้บริการและคอนเทนต์ อย่างถ้าเป็นกล่องทั่วไป รับชมได้แค่ SD ราคาอยู่ที่ 900-1,200 บาท มียี่ห้อลีโอแซท, ไอพีเอ็ม และแกรมมี่บางรุ่น ถ้ากล่อง HD จะอยู่ที่ 2,000 บาท เมื่อรวมกับค่าติดตั้งทั้งชุดจะประมาณ 3,000 บาท

ก่อนหน้านี้ "บ้านหม้อ" เคยเป็นแหล่งจำหน่ายกล่อง "ดรีมบ็อกซ์" สำหรับลักลอบชมคอนเทนต์ของทีวีบอกรับสมาชิก แต่ปัจจุบันร้านค้าที่ขายกล่องเหล่านี้เริ่มลดน้อยลงจากเดิมมีแทบทุกร้านในซอยบ้านหม้อ

ผู้ค้าขายกล่องดรีมบ็อกซ์บอกว่า พอขายได้บ้าง ส่วนใหญ่เอาไว้ดูกีฬา โดยเฉพาะฟุตบอลพรีเมียร์ลีกอังกฤษ แต่ด้วยเทคโนโลยีต่าง ๆ ทำให้ผู้ถือลิขสิทธิ์ป้องกันการลักลอบสัญญาณได้ดีขึ้น รวมถึงแพ็กเกจการรับชมก็ถูกลง ทำให้กล่องประเภทนี้ไม่ได้รับความนิยมเหมือนก่อน

กล่องไอพีทีวีเถื่อนที่ใช้อินเทอร์เน็ตเป็นสื่อในการรับส่งสัญญาณ (IPTV) ก่อนหน้านี้ได้รับความนิยม เพราะใช้สปีดอินเทอร์เน็ตความเร็ว 2 Mbps ก็ชมช่องรายการต่าง ๆ จากทรูวิชั่นส์, ซีทีเอช และดาวเทียมของต่างประเทศได้ แถมมีภาพยนตร์ใหม่ชนโรงทุกสัปดาห์ แลกกับค่าบริการรายเดือน 250 บาท ส่วนราคากล่อง เริ่มต้นที่ 2,000 บาทขึ้นไป

"ตอนนี้กล่องไอพีทีวีเถื่อนก็มีขายกันอยู่ เน้นไปที่กล่องแอนดรอยด์ เพราะสามารถปรับปรุงระบบให้เจาะทะลุการป้องกันของผู้ถือลิขสิทธิ์ผ่านคนทำเซิร์ฟเวอร์กว่า 10 เจ้า จากเดิมที่กล่องไอพีทีวีทำงานบนลีนุกซ์ ซึ่งปรับการใช้งานค่อนข้างลำบาก แต่ก็ยอมรับว่ากระแสกล่องนี้ตกลงเล็กน้อย เพราะลูกค้ากลัวดูไม่ได้ต่อเนื่อง และมีบทเรียนจากกรณีที่ทรูระงับสัญญาณมาแล้ว"

 

 

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook