การเมืองพ่นพิษ ร้านอาหาร-ภัตตาคารสูญรายได้กว่า3หมื่นล้านบาท
นางฐนิวรรณ กุลมงคล นายกสมาคมภัตตาคารไทย กล่าวยอมรับว่า จากสถานการณ์การเมืองที่ยืดเยื้อกว่า 6 เดือน ทำให้ธุรกิจร้านอาหารและภัตตาคารสูญเสียรายได้ในภาพรวมไปแล้วกว่า 3 หมื่นล้านบาท โดยเฉพาะกลุ่มผู้ประกอบการรายย่อย(เอสเอ็มอี) จนต้องหาทางแก้ไขด้วยการกู้ยืมเงินนอกระบบแทน เพราะธนาคารค่อนข้างเข้มงวดในการปล่อยกู้ในช่วงภาวะเศรษฐกิจเช่นนี้ ขณะเดียวกันยังหาทางออกด้วยการลดต้นทุนค่าใช้จ่าย ทั้งการลดการจ้างพนักงานในระดับสูงที่มีคุณภาพ และเงินเดือนสูงออก แต่คงเหลือพนักงานในกลุ่มลูกจ้างระดับแรงงานไว้ เพราะมีต้นทุนการใช้จ่ายที่ต่ำกว่า
“ภาคธุรกิจร้านอาหารไม่ได้เป็นกลุ่มธุรกิจที่ได้รับผลกระทบโดยตรง เหมือนอุตสาหกรรมอื่นๆ เช่น ภาคการส่งออก แต่ร้านอาหารจะได้รับผลทางอ้อม เพราะจำนวนนักท่องเที่ยวลดลงไป รายได้ลด ขณะที่ต้นทุนยังเท่าเดิม ทั้งนี้ ร้านอาหารเล็กๆ จะมีต้นทุนหมุนเวียนได้เต็มที่ 4 เดือน ซึ่งก็เริ่มเห็นภาพผลกระทบบ้างแล้ว และยิ่งไม่มีภาครัฐมีนโยบายเข้ามาช่วย เพราะเป็นรัฐบาลรักษาการ ก็จะยิ่งทำให้มาตรการต่างๆ ที่จะมาช่วยกระตุ้นแทบไม่มีเลย อย่างไรก็ตาม พนักงานในร้านอาหารมีประมาณ 4 แสนคน โดยแบ่งเป็นขนาดกลาง ประมาณ 6-7 หมื่นคน ส่วนที่เหลือประมาณ 3.5 แสนคนเป็นกลุ่มเอสเอ็มอี ซึ่งการลดการจ้างพนักงานนั้น จะเป็นกลุ่มขนาดกลาง โดยอาจลดการจ้างถึง 30% เพราะรายได้จากยอดขายในแต่ละวัน จะต้องนำมาจ่ายในส่วนของค่าแรงลูกจ้างพนักงาน ถึง 30% เมื่อมีเหตุการณ์ทางการเมืองยืดเยื้อนานขึ้นทำให้ไม่มีรายได้มาหมุนเวียน”
น.ส.ปัทมา การีกลิ่น ผู้จัดการฝ่ายขายและการตลาดโรงเรียนสอนทำอาหารและร้านอาหารบลูเอเลเฟ่น กล่าวว่า ร้านอาหารได้รับผลกระทบจากการยืดเยื้อทางการเมืองและทำให้รายได้ลดลงไปประมาณ 20% เพราะลูกค้าหลักเป็นชาวต่างชาติสัดส่วนกว่า 70% ลดการเดินทางมาไทย ขณะเดียวกันโรงเรียนสอนทำอาหาร ทั้งสาขาที่กรุงเทพฯและภูเก็ต ก็มีนักท่องเที่ยวสนใจสมัครเรียนลดลง ประมาณ 40% เนื่องจากไม่มั่นใจในสถานการณ์ของเมืองไทย ทำให้ร้านต้องปรับตัวเน้นการลดต้นทุน เช่น ลดการกักตุนสินค้าให้น้อยลงไม่เก็บไว้หลายวันเหมือนที่ผ่านมา