ประมงพื้นบ้านชุมพรเฮ! พบกุ้งยักษ์ในอ่าวไทยรอบ 10 ปี
นายสมพงษ์ พ่วงสะอาด เลขาธิการสมาคมชาวประมงเรืออวนซั่งและเรือร่วมปากน้ำชุมพร เปิดเผยว่า หลังจากกรมประมงประกาศปิดอ่าวในฤดูปลาวางไข่และสัตว์น้ำเลี้ยงตัวในระยะวัยอ่อนเป็นเวลา 3 เดือน ตั้งแต่วันที่ 15 กุมภาพันธ์-15 พฤษภาคม 2557 และเปิดให้ชาวประมงจับสัตว์น้ำได้ตามปกติพบว่า ชาวประมงสามารถจับปลาได้มากและดีที่สุดในรอบ 10 ปี โดยเฉพาะอวนลากกุ้งสามารถจับกุ้งแชบ๊วย หอยเชลล์ และปลาได้มากกว่าปกติสิบเท่า ส่งผลให้เรือประมงพื้นบ้านมีรายได้จากเดิมวันละประมาณ 3,000-4,000 บาท เพิ่มขึ้นเป็นวันละ 10,000-20,000 บาท
พร้อมกันนี้ชาวประมงยังสามารถจับกุ้งจังโก้ หรือกุ้งจัมโบ้ ซึ่งเป็นพ่อแม่พันธุ์กุ้งกุลาดำได้เป็นจำนวนมาก หลังจากสูญหายไปจากอ่าวไทยนานนับ 10 ปี ราคาขายประมาณกิโลกรัมละ 600 บาท สะท้อนให้เห็นถึงความสมบูรณ์ทะเลอ่าวไทยอีกครั้ง
นอกจากนี้ยังจับสัตว์น้ำประเภทกุ้งแชบ๊วย กุ้งแซะ หอยเซลขนาดใหญ่และขนาดกลางได้เป็นจำนวนมาก โดยเฉพาะในปากน้ำชุมพรคาดว่า มีไม่น้อยกว่า 4,000-5,000 กิโลกรัม มีราคาจำหน่ายตั้งแต่กิโลกรัมละ 200-800 บาท
"ผมทำประมงมากว่า 30 ปี กุ้งจังโก้ ตัวขนาดใหญ่ 5-6 ตัวต่อกิโลกรัม หาไม่ง่าย โดยเฉพาะในช่วงที่มีการจับเพื่อทำพ่อแม่พันธุ์ ทำให้กุ้งแทบหายไปจากท้องทะเล อ่าวไทย ตลอด 10 ปีที่ผ่านมา แต่ปีนี้พบมากเป็นพิเศษ แสดงให้เห็นว่าทะเลอ่าวไทยหลังปิดอ่าวมีการเปลี่ยนแปลง ทำให้พันธุ์สัตว์น้ำมีการขยายพันธุ์เพิ่มจำนวนมากขึ้น"
ด้านนายจรูญศักดิ์ เพชรศรี หัวหน้าศูนย์บริหารจัดการประมงทะเลภาคใต้ตอนบนจังหวัดชุมพร กล่าวว่า ได้ประกาศห้ามใช้เครื่องมือบางชนิดทำการประมงในฤดูปลาวางไข่และเลี้ยงตัวในวัยอ่อนในพื้นที่ 26,400 ตารางกิโลเมตร บริเวณอ่าวไทยตอนกลางซึ่งเป็นบริเวณบางส่วนของจ.ประจวบคีรีขันธ์ ชุมพร และ จ.สุราษฎร์ธานี เพื่ออนุรักษ์พันธุ์สัตว์น้ำ