องค์กรต่อต้านคอร์รัปชั่น หนุน คสช.สอบจำนำข้าวเจ๊ง 5 แสน ลบ. เร่งหาคนรับผิดชอบ

องค์กรต่อต้านคอร์รัปชั่น หนุน คสช.สอบจำนำข้าวเจ๊ง 5 แสน ลบ. เร่งหาคนรับผิดชอบ

องค์กรต่อต้านคอร์รัปชั่น หนุน คสช.สอบจำนำข้าวเจ๊ง 5 แสน ลบ. เร่งหาคนรับผิดชอบ
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

นายสมพล เกียรติไพบูลย์ รองประธานองค์กรต่อต้านคอร์รัปชั่น (ประเทศไทย) เปิดเผยว่า ต้องการให้คณะรักษาความสงบแห่งชาติ หรือ คสช. ตั้งคณะกรรมการพิเศษขึ้นมา 1 ชุด เพื่อเข้ามาตรวจสอบโครงการรับจำนำข้าวทั้งหมด โดยเฉพาะประเด็นที่คณะอนุกรรมการปิดบัญชีโครงการรับจำนำข้าวของกระทรวงการคลัง ได้ตรวจสอบผลการดำเนินโครงการรับจำนำข้าวในช่วง 2 ปี ที่ผ่านมา ที่ขาดทุนสูงถึงกว่า 500,000 ล้านบาทว่าขาดทุนอย่างไร มีบุคคลใดที่ต้องรับผิดชอบ และมีการทุจริตหรือไม่ เพื่อนำมาเปิดเผยให้สาธาณะชนได้รับทราบเนื่องจากเรื่องนี้เป็นที่สนใจของคนทั่วโลก

ทั้งนี้ ทางองค์กรฯ เห็นว่าขณะนี้ คสช.มีอำนาจเด็ดขาดที่สามารถขอข้อมูลจากหน่วยงานต่าง ๆ ได้อย่างรวดเร็ว ต่างจากการขอข้อมูลจากคณะกรรมการป้องกันและการปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ที่จะได้ข้อมูลจากหน่วยงานต่าง ๆ ยากมาก ดังนั้นการทำงานที่รวดเร็ว จะสามารถดำเนินการตรวจสอบได้เร็วขึ้น

สำหรับแนวทางการตรวจสอบเรื่องข้าวนั้นเป็นความเห็นร่วมกันจากผู้แทนต่าง ๆ ที่เข้าร่วมประชุมใหญ่ขององค์กรต่อต้านคอร์รัปชั่น ซึ่งผู้ที่เข้าร่วมประชุม เช่น นายแพทย์ประเวศ วะสี รวมถึงผู้บริหารจากสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย, สภาหอการค้าแห่งประเทศไทย, สมาคมธนาคารไทย เป็นต้น

นายประมนต์ สุธีวงศ์ ประธานองค์กรต่อต้านคอร์รัปชั่น (ประเทศไทย) กล่าวว่า องค์กรฯ ได้ออกแถลงการณ์ในการเสนอเรื่องด่วนในการแก้ปัญหาการคอร์รัปชั่นให้ คสช.พิจารณา 4 เรื่อง ประกอบด้วย 1.การแก้ไขกฎหมายและข้อบังคับต่าง ๆ ที่เป็นอุปสรรค์ของหน่วยงานภาครัฐในการป้องกันและการปราบปรามทุจริตคอร์รัปชั่น เพื่อป้องกันไม่ให้เกิดการทุจริตแม้ว่าบุคคลใดเข้ามามีอำนาจก็ตาม, 2.การส่งเสริมและให้อำนาจองค์กรที่เกี่ยวข้องกับการปราบปรามการทุจริตฯ เช่น สำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตคอร์รัปชั่น (ป.ป.ช.), สำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตในภาครัฐ (ป.ป.ท.) และสำนักงานตรวจเงินแผ่นดิน (สตง.) สามารถทำงานได้อย่างมีอิสระและมีประสิทธิภาพ

3.การส่งเสริมและสร้างกลไกให้ประชาชนมีส่วนร่วมในการตรวจสอบการทำงานของภาครัฐ และ 4.ปฎิรูประบบการเลือกตั้ง สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร (ส.ส.) และในระดับท้องถิ่นให้มีความโปร่งใส เพื่อให้ได้ผู้นำประเทศที่บริหารบ้านเมืองโดยยึดธรรมาภิบาล

"แม้ว่าประเทศไทยจะอยู่ในช่วงการรัฐประหารแต่องค์กรก็จะมีการติดตามโครงการต่าง ๆ อย่างต่อเนื่อง เพื่อให้เกิดความโปร่งใสในโครงการ เช่น โครงการที่เกี่ยวข้องกับ 2 ล้านล้านบาท, โครงการรถเมล์เอ็นจีวี, การบริหารจัดการน้ำ 3.5 แสนล้านบาท เป็นต้น"

ส่วนสาเหตุที่เรื่องของการเสนอให้มีการจัดตั้งคณะกรรมการพิเศษในการตรวจสอบการขาดทุนของโครงการรับจำนำข้าวนั้นไม่ได้อยู่ในแถลงการณ์ 4 ข้อ เพราะเป็นความเห็นของสมาชิกที่ต้องการรับทราบเกี่ยวกับปัญหาการขาดทุนในโครงการเพื่อให้ประชาชนได้รับทราบและตรวจสอบว่ามีการทุจริตกันหรือไม่ จึงเป็นข้อเสนอพิเศษที่อยู่นอกเหนือแถลงการณ์

 

 

 

 

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook