สธ. หนุนขึ้นภาษีบุหรี่ ลดสิงห์อมควันรายใหม่

สธ. หนุนขึ้นภาษีบุหรี่ ลดสิงห์อมควันรายใหม่

สธ. หนุนขึ้นภาษีบุหรี่ ลดสิงห์อมควันรายใหม่
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

เมื่อเวลา 15.00 น. วันที่ 31 พฤษภาคม  พระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าโสมสวลี พระวรราชาทินัดดามาตุ   เสด็จทรงเปิดงาน วันงดสูบบุหรี่โลกประจำปี 2557 ณ ศูนย์การค้าฟิวเจอร์ปาร์ครังสิต อ.ธัญบุรี จ.ปทุมธานี   โดยมีนพ.ณรงค์  สหเมธาพัฒน์ ปลัดกระทรวงสาธารณสุข(สธ.)  และผู้บริหารข้าราชการ เจ้าหน้าที่ และประชาชนเฝ้ารับเสด็จ  โดยในการนี้พระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าโสมสวลี พระวรราชาทินัดดามาตุ ได้ประทานรางวัลให้บุคคลหรือหน่วยงานที่มีผลงานรณรงค์การควบคุมการบริโภคยาสูบ 2 รางวัล ประกอบด้วยรางวัลระดับโลก คือรางวัลเวิลด์ โน   โทแบคโค เดย์ อวอร์ด 2014 (World No Tobacco Day Award 2014) แก่กรมสรรพสามิต กระทรวงการคลัง  ซึ่งเป็นหน่วยงานที่มีบทบาทสำคัญในการใช้มาตรการด้านภาษีในการควบคุมยาสูบในประเทศไทย    และรางวัลระดับภูมิภาค คือรางวัลประกาศเกียรติคุณ (Regional Director’s appreciation award) รางวัลพิเศษจากผู้อำนวยการองค์การอนามัยโลก มอบให้ผู้ที่มีผลงานดีเด่นในการสนับสนุนการควบคุมยาสูบระดับโลก  แก่ รศ.ดร.อิศรา ศานติศาสน์ จากคณะเศรษฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย มีผลงานศึกษาวิจัยที่โดดเด่นและพัฒนาความรู้ด้านภาษียาสูบเช่น การวิเคราะห์ทางเศรษฐกิจของการควบคุมการบริโภคยาสูบในประเทศไทย เป็นต้น                                                                                

นพ.ณรงค์ กราบทูลรายงานว่า องค์การอนามัยโลกได้กำหนดให้วันที่ 31 พฤษภาคมทุกปี เป็นวันงดสูบบุหรี่โลก เพื่อรณรงค์ส่งเสริมให้ประชาชนทั่วโลก ลด ละ เลิกสูบบุหรี่  โดยในปี 2557 นี้กำหนดประเด็นการรณรงค์ว่า “บุหรี่: ภาษียิ่งเพิ่มคนตายยิ่งลด” (Raise Taxes on Tobacco) เนื่องจากการใช้มาตรการภาษีควบคุมการบริโภคยาสูบให้ผลในการลดปริมาณนักสูบ โดยเฉพาะวัยรุ่นที่ยังไม่มีรายได้ การรณรงค์ครั้งนี้ จะช่วยให้ประชาชนทั่วโลกตระหนักถึงอันตรายและพิษภัยของบุหรี่ ซึ่งทำให้ผู้สูบบุหรี่  ทั่วโลกเสียชีวิตปีละประมาณ 6 ล้านคน และยังทำให้ผู้ที่ไม่สูบบุหรี่แต่ต้องสูดควันบุหรี่มือสองเสียชีวิตปีละ 6 แสนคน รวมแล้วสูงเป็นอันดับสองรองจากความดันโลหิตสูง หากไม่เร่งร่วมมือกันแก้ไขอย่างจริงจัง คาดว่าใน พ.ศ.2573 จะทำให้คนทั่วโลกเสียชีวิตเพิ่มปีละ 8.3 ล้านคน ในส่วนของประเทศไทยในปี 2552 มีผู้เสียชีวิต 50,710 คน เพิ่มขึ้นจากปี 2547 ร้อยละ 11 มากที่สุดคือถุงลมปอดโป่งพอง มะเร็งปอด โรคหัวใจและหลอดเลือด โดยเป็นชายมากกว่าหญิง 6 เท่าตัว

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook