ปลุกชีพ "เส้นทางสายไหม" พลิกฟื้นเอเชียกลาง สานสัมพันธ์จีน

ปลุกชีพ "เส้นทางสายไหม" พลิกฟื้นเอเชียกลาง สานสัมพันธ์จีน

ปลุกชีพ "เส้นทางสายไหม" พลิกฟื้นเอเชียกลาง สานสัมพันธ์จีน
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

นอกจากการส่งสินค้าทางทะเลแล้ว การขนส่งสินค้าทางรางเป็นอีกวิธีหนึ่งที่หลายประเทศนิยมใช้ แต่สำหรับการเคลื่อนย้ายสินค้าข้ามประเทศ การขนส่งทางรางยังเป็นปัญหาอยู่ ไม่ว่าจะด้วยเรื่องศุลกากร หรือเรื่องความพร้อมของโครงสร้างพื้นฐานระบบราง จึงทำให้การขนส่งในรูปแบบดังกล่าวยังไม่ได้รับความนิยมเท่าที่ควร

ระบบรางมีต้นทุนการขนส่งที่ต่ำ ตัวอย่างที่เห็นได้ชัด คือ ทางรถไฟสายไซบีเรีย ที่เชื่อมระหว่างยุโรปกับเอเชียตะวันออก ที่หลายประเทศอย่างเกาหลีใต้ ญี่ปุ่น ได้ใช้เส้นทางรถไฟสายนี้ในการขนส่งสินค้าข้ามทวีป ซึ่งรวดเร็วและมีราคาถูกกว่าการขนส่งทางเรือ ทั้งนี้ โดยปกติแล้วการขนส่งทางเรือ ไม่ว่าจะจากเกาหลีใต้หรือญี่ปุ่นเข้าไปยังยุโรปจะใช้เวลาอย่างเร็วที่สุดประมาณ 28 วัน แต่หากใช้ทางรถไฟสายดังกล่าวจะเหลือเพียงแค่ 7-10 วันเท่านั้น

แต่อย่าลืมว่ารัสเซียยังไม่ใช่ชาติที่ค้าขายเก่งกาจเท่าประเทศเพื่อนบ้านอย่างจีน และจีนเองก็มีแผนจะฟื้นฟูเส้นทางสายไหมทางบกให้กลับมามีชีวิตชีวาเหมือนช่วงก่อนคริสต์ศักราชที่ 206 ที่มีการเชื่อมโยงจากเมืองฉางอัน หรือซีอานในปัจจุบันกับอาณาจักรโรมัน และนับได้ว่าเป็นเส้นทางทางบกสายสำคัญที่เชื่อมการค้าเอเชียกับยุโรป และหลายเมืองที่อยู่บนเส้นทางสายไหมถูกสถาปนาให้เป็นศูนย์กลางทางการค้าหลายเมือง อย่างเช่นเมืองอัลมาอัลตา ในคาซัคสถาน หรือกระทั่งเมืองอิสตันบูลของตุรกี

การฟื้นฟูเส้นทางสายไหมเกิดขึ้นเมื่อประธานาธิบดี สี จิ้นผิง เดินทางเยือนคาซัคสถานเมื่อเดือนกันยายนปีที่ผ่านมา โดยตั้งเป้าที่จะฟื้นฟูเส้นทางเศรษฐกิจระหว่างเอเชียและยุโรป ซึ่งคาดว่าจะมีประเทศต่าง ๆ ที่อยู่บนเส้นทางสายไหมจะได้รับประโยชน์ทางเศรษฐกิจ

ข้อมูลจากสำนักข่าวไชน่าเดลี่ โดยอ้างคำสัมภาษณ์จากนายฮัน ซ่ง ผู้ช่วยนายกเทศมนตรีเมืองซีอาน กล่าวว่า แนวคิดของประธานาธิบดีสี จะช่วยเสริมให้เศรษฐกิจของเอเชียและยุโรปแน่นแฟ้นยิ่งขึ้น รวมไปถึงความร่วมมือระหว่างกันในการขยายและพัฒนาเส้นทางการค้าที่อยู่บนเส้นทางสายไหมนี้ด้วยระยะทางกว่า 16,000 กิโลเมตร เชื่อมยุโรปเอเชีย พาดผ่านมากกว่า 10 ประเทศรวมกัน และใช่ว่าแนวคิดการเชื่อมโยงเส้นทางขนส่งสินค้าเพิ่งจะเกิดในสมัยของนายสี แต่มีมาแล้วตั้งแต่ปี 2536 เพียงแต่ยังไม่ได้รับความสนใจจากหลายประเทศ แม้ว่าเส้นทางจะช่วยเปิดช่องโอกาสในการขนส่งสินค้าไม่ว่าจากจีน ถึงท่าเรือรอตเตอร์ดัมที่เนเธอร์แลนด์ และขนถ่ายสินค้าต่อทางเรือสู่สหรัฐได้ หรือไม่ว่าจะส่งสินค้าพรีเมี่ยมจากยุโรปมายังจีนก็ตาม เรื่องขนาดรางก็เป็นปัจจัยสำคัญ

นายฮั่นกล่าวถึงอุปสรรคในการขนส่งปัจจุบัน ต้องสลับสับเปลี่ยนขบวนรถไฟ ทำให้มีค่าขนส่งสูงขึ้น เนื่องจากรางรถไฟในคาซัคสถานและอีกสองประเทศในเอเชียกลางใช้รางขนาดกว้าง 1,520 มิลลิเมตร ส่วนจีนและประเทศยุโรปตะวันตกใช้ขนาดมาตรฐานที่ 1,435 มิลลิเมตร

อย่างไรก็ตาม ประเทศส่วนใหญ่ที่เส้นทางสายไหมพาดผ่านในเอเชียล้วนแล้วไม่ติดทะเลทั้งสิ้น ประกอบด้วย คาซัคสถาน อุซเบกิซสถาน และทาจิกิสถาน ซึ่งหากจีนเข้ามามีส่วนกระตุ้นให้เกิดการขนส่งสินค้าทางรางผ่านประเทศเหล่านี้เพิ่มขึ้น เชื่อได้ว่านโยบายการพัฒนาพื้นที่ทุรกันดารทางทิศตะวันตกของจีนเองก็น่าจะประสบความสำเร็จเช่นกัน ด้วยอุตสาหกรรมการผลิตใหม่ ๆ และการบริการโลจิสติกส์ครบวงจร โดยมีเมืองซีอานเป็นศูนย์กลางการขนส่ง

นอกจากนี้ ประเทศเอเชียกลางปัจจุบันต้องพึ่งพาการส่งออกก๊าซธรรมชาติและน้ำมันเป็นหลัก และหากมีการใช้เส้นทางสายไหมอย่างจริงจังในอนาคต ไม่เพียงแค่จีนจะได้ประโยชน์ ประเทศเอเชียกลางก็จะได้รับอานิสงส์ ทั้งยังลดการพึ่งพิงการส่งออกน้ำมันอีกด้วย

ในแง่ของการเมืองระหว่างประเทศ แน่นอนว่าจีนที่กำลังมีปัญหาด้านทะเลจีนใต้ ทำให้จีนเสียรังวัดในเอเชียอาคเนย์ไปอีกทั้งน่านน้ำทะเลจีนใต้เสมือนกับเวทีประลองยุทธ์อำนาจการเมืองโลกที่สหรัฐพยายามจะเอามาเอี่ยวโดยอ้างว่าเป็นเส้นทางการค้าที่สำคัญของตน หากจีนโยกการพึ่งพาการส่งออกทางทะเลมาเป็นการขนส่งทางรางจากมณฑลที่ทุรกันดารทางทิศตะวันตก เชื่อว่าจีนจะประสบความสำเร็จในการพัฒนา การกระจายรายได้ และอาจจะได้ความสัมพันธ์อันดีกับเพื่อนบ้านเอเชียกลางมากขึ้น

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook