ดันลงทุน"รางคู่-ทางด่วนน้ำ" ลุยไฮสปีดอีสานแทนเชียงใหม่
สำนักงบประมาณตั้งแท่นชงงบฯ รายจ่ายปี"58 วงเงิน 2.6 ล้านล้าน คสช.หยิบโปรเจ็กต์ร้อนมาเรียงลำดับความสำคัญใหม่ ทั้งรถไฟทางคู่แสนล้าน นำร่อง 2 สายทาง "ขอนแก่น-แก่งคอย" ผุดทางด่วนน้ำ 200 กม. จากนครสวรรค์ทะลุอ่าวไทย จับตาลัดคิวไฮสปีดเทรนไปหนองคายแทนเชียงใหม่ ตัดด่วน 3 "ดาวคะนอง" ผู้ส่งออกข้าวโผล่แจมขอตรวจสต๊อกข้าว
มาตรการขับเคลื่อนเศรษฐกิจและการแก้ไขปัญหาทั้งในระยะสั้นและระยะยาวของคณะทำงานฝ่ายเศรษฐกิจ คณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ที่มี พล.อ.อ.ประจิน จั่นตอง รองหัวหน้า คสช. เป็นหัวหน้าฝ่าย มีความคืบหน้ามากขึ้นตามลำดับ หลังเดินหน้าจ่ายคืนค่าจำนำข้าวแก่ชาวนาทั่วประเทศ และสั่งการให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องเร่งกำหนดกรอบและโครงสร้างงบประมาณรายจ่ายประจำปี 2558
พร้อมกับให้หน่วยงานในระดับกระทรวง โดยเฉพาะ 7 กระทรวงเศรษฐกิจ มีกระทรวงการคลัง พาณิชย์ อุตสาหกรรม เกษตรและสหกรณ์ พลังงาน แรงงาน คมนาคม เสนอโครงการและแผนลงทุนเร่งด่วนเพื่อขออนุมัติ คสช. ล่าสุดการจัดทำแผนลงทุนโครงสร้างพื้นฐาน การลงทุนบริหารจัดการน้ำและการแก้ไขปัญหาเศรษฐกิจหลายมาตรการเริ่มชัดเจนขึ้น
งบปี 58 ชง 2.6 ล้านล้าน
นายสมศักดิ์ โชติรัตนะศิริ ผู้อำนวยการสำนักงบประมาณ เปิดเผยว่า เมื่อวันที่ 30 พ.ค.ที่ผ่านมา ในการประชุม 4 หน่วยงานเศรษฐกิจ คือ สำนักงบประมาณ สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) และกระทรวงการคลังได้ข้อยุติกรอบวงเงินงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ 2558 แล้วว่า จะมีวงเงินไม่เกิน 2.6 ล้านล้านบาท เพิ่มขึ้นประมาณ 3% จากปีงบประมาณปัจจุบันที่อยู่ที่ 2.525 ล้านล้านบาท
โดยพิจารณาสมมติฐานการขยายตัวทางเศรษฐกิจในปี 2558 ว่าจะขยายตัว 6.3% (Normimal GDP) ขณะที่อัตราเงินเฟ้ออยู่ที่ 2.3% ประมาณการรายได้มีกว่า 2.3 ล้านล้านบาท การขาดดุลงบประมาณกว่า 2 แสนล้านบาท ใกล้เคียงกับปี 2557 ที่ขาดดุล 2.5 แสนล้านบาท ซึ่งยังอยู่ภายใต้สมมติฐานจัดทำงบประมาณสมดุลในปี 2560 อยู่
พร้อมกับยอมรับว่า ส่วนราชการเสนอของบฯถึง4 ล้านล้านบาท ต้องปรับลดตามเหตุผลและความจำเป็น กรณีรายจ่ายรัฐวิสาหกิจที่อยู่ในงบประมาณจะตั้งเฉพาะรายจ่ายสำหรับศึกษาความเหมาะสม
โครงการ งบฯออกแบบและค่าจัดกรรมสิทธิ์ที่ดินเท่านั้น ด้านงบฯก่อสร้างรัฐวิสาหกิจต้องไปใช้เงินกู้มาดำเนินการ ส่วนการจัดทำงบประมาณตามปฏิทินจะจัดทำระหว่าง 30 พ.ค.-9 มิ.ย.นี้ รวมทั้งจะจัดทำยุทธศาสตร์จัดสรรงบประมาณปี 2558 เพื่อเสนอให้ คสช.พิจารณา 12 มิ.ย. จากนั้นส่วนราชการจะจัดทำคำขอมายังสำนักงบฯได้ถึง 27 มิ.ย. เป็นวันสุดท้าย ก่อนนำเสนอ คสช.พิจารณา 15 ก.ค. หากเห็นชอบก็จะจัดทำร่าง พ.ร.บ.งบประมาณรายจ่ายประจำปี 2558 เสนอ คสช. วันที่ 29 ก.ค. หลังจากนั้นน่าจะเข้าสู่ขั้นตอนนิติบัญญัติต่อไป
อย่างไรก็ตาม แหล่งข่าวจากที่ประชุม 4 หน่วยงานกล่าวว่า กรอบรายจ่ายที่ชัดเจนจะต้องรอเสนอ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา หัวหน้า คสช. พิจารณาเห็นชอบ 2 มิ.ย.นี้ โดยที่ประชุม 4 หน่วยงานยังไม่ได้เคาะตัวเลขที่ชัดเจน ในส่วนกระทรวงการคลังได้เสนอประมาณการรายได้ 2.3 ล้านล้านบาท แต่ที่ประชุมขอ 2.35 ล้านล้านบาท รายจ่าย2.6 ล้านล้านบาท ขาดดุล 2.5 แสนล้านบาท เท่าปีปัจจุบัน
ปรับรถไฟเร็วสูงไปหนองคาย
พล.อ.อ.ประจิน จั่นตอง ผู้บัญชาการทหารอากาศ (ผบ.ทอ.) และรองหน้าหน้า คสช. ฝ่ายเศรษฐกิจ เปิดเผยว่า รับทราบแผนงานกระทรวงคมนาคมแล้ว สอดคล้องกับทิศทางที่ คสช.จะเดินหน้าบริหารประเทศ โดยเฉพาะระบบโครงสร้างพื้นฐานจะต้องเดินหน้าต่อไปทุกโครงการ ทั้งทางถนน ท่าเรือ ทางราง และทางอากาศ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการเดินทาง ความปลอดภัย แก้ไขปัญหาการจราจร และเชื่อมโยงการเดินทางและกลุ่มประเทศในอาเซียน เนื่องจากประเทศไทยมีจุดแข็งด้านยุทธศาสตร์ทางโครงสร้างพื้นฐานอยู่แล้ว
"ขอดูรายละเอียดโครงการ ปัญหาอุปสรรคและแหล่งเงิน ให้สอดคล้องกับขีดความสามารถงบประมาณของภาครัฐบาล รถไฟความเร็วสูงเป็นอีกโครงการที่ให้ความสนใจ มีสายอีสานกรุงเทพฯ-หนองคาย และสายเหนือกรุงเทพฯ-เชียงใหม่ ขอเวลาศึกษาว่ามีอะไรที่ติดขัดบ้าง หากจะดำเนินการต่อไป เราจะทำดีมานด์กับซัพพลายให้ตรงกับความต้องการก่อนถึงจะดำเนินการได้ ทั้งโครงการขอใช้งบประมาณปี"58 และโครงการใน 2 ล้านล้านบาท ดูตามความจำเป็นเร่งด่วน จะได้ข้อสรุปใน 2 สัปดาห์ เพราะจะต้องจัดทำเป็นโรดแมปต่อไป"
สำหรับโครงการนี้ แหล่งข่าวจากกระทรวงคมนาคมกล่าวเพิ่มเติมว่า รถไฟความเร็วสูงมีแนวโน้ม คสช.จะคงไว้ โดยเฉพาะสายอีสานไปหนองคาย ที่จะไปเชื่อมกับรถไฟความเร็งสูงของจีนที่สร้างมารอไว้ใน สปป.ลาว เพื่อรักษาความสัมพันธ์กับประเทศจีนไว้ จากเดิมที่รัฐบาลเพื่อไทยต้องการจะสร้างไปเชียงใหม่ก่อน โดยเฟสแรกจะสร้างครึ่งทาง กรุงเทพฯ-พิษณุโลก
ขยายสุวรรณภูมิ-ดอนเมือง
ทั้งนี้ พล.อ.อ.ประจินกล่าวว่า ตัวอย่างโครงการเร่งด่วนจะมีขยายสนามบินสุวรรณภูมิเฟส 2 ให้รับผู้โดยสาร 60 ล้านคน สนามบินดอนเมืองรับผู้โดยสาร 30 ล้านคน จะดำเนินการตามแผนเดิม ส่วนแผนแม่บทโครงการรถไฟจะเดินหน้าโครงการที่พร้อม ทั้งรถไฟทางคู่ รถไฟความเร็วสูง และรถไฟฟ้า 10 สายทาง เนื่องจากบางโครงการติดปัญหาสิ่งแวดล้อม เวนคืนที่ดิน และงบประมาณ
แหล่งข่าวจากกระทรวงคมนาคมกล่าวว่า ยุทธศาสตร์ของกระทรวงที่นำเสนอไม่มีการเปลี่ยนแปลง ทาง คสช.มารับทราบแผนงานทั้งหมดแล้ว ส่วนใหญ่เป็นโครงการในแผนลงทุน 2 ล้านล้านเดิม ในแผน สนข.มีโครงการที่พร้อมประมูลขอใช้งบประมาณปี 2558 จำนวน 37 โครงการ วงเงิน 101,698 ล้านบาท มีทั้งค่าก่อสร้างและเวนคืนที่ดิน ได้แก่ รถไฟทางคู่ รถไฟฟ้า ปรับปรุงทางราง หมอน ปรับปรุงถนนสายหลัก ขยาย 4 เลน สถานีขนส่งสินค้า ปรับปรุงท่าเรือลำน้ำและชายฝั่ง จะยังไม่มีรถไฟความเร็วสูงเนื่องจากอยู่ระหว่างจัดทำรายงานผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อม (อีไอเอ) มีสายกรุงเทพฯ-พิษณุโลก สายกรุงเทพฯ-นครราชสีมา สายกรุงเทพฯ-หัวหิน
นำร่องรถไฟทางคู่ 2 สาย
"คสช.ให้น้ำหนักกับรถไฟทางคู่เพราะช่วยเรื่องการขนส่งสินค้าของประเทศ ในแผนการรถไฟฯมี 5 เส้นทางเร่งด่วน เงินลงทุน 1.18 แสนล้านบาท แต่ติดอีไอเอซึ่ง คสช.จะมาเร่งตรงนี้ให้ โครงการพร้อมประมูลเลยมีสายจิระ-ขอนแก่น รอเข้าบอร์ดสิ่งแวดล้อมชุดใหญ่ กับโครงการที่กำลังประมูลคือสายฉะเชิงเทรา-คลองสิบเก้า-แก่งคอย 106 กิโลเมตร จะเคาะราคา 9 มิถุนายนนี้"
ส่วนรถไฟฟ้าจะเดินหน้าทุกสายที่กำลังก่อสร้าง ทั้งสีม่วง (บางซื่อ-บางใหญ่) สีน้ำเงิน (บางซื่อ-ท่าพระและหัวลำโพง-บางแค) สีเขียว (แบริ่ง-สมุทรปราการ) โดยโครงการพร้อมประมูล มีสีเขียว (หมอชิต-สะพานใหม่-คูคต) สีชมพู (แคราย-มีนบุรี) สีส้ม (ศูนย์วัฒนธรรม-มีนบุรี) ต่อขยายแอร์พอร์ตลิงก์ (พญาไท-ดอนเมือง) เป็นต้น
ส่วนมอเตอร์เวย์ที่พร้อม มีสายบางปะอิน-นครราชสีมา และสายพัทยา-มาบตาพุด โดยกรมทางหลวงขอค่าเวนคืนในปี 2558 แล้ว รูปแบบลงทุน 2 ทาง คือใช้เงินกองทุนมอเตอร์เวย์ กับดึงเอกชนลงทุนรูปแบบ PPP
ด้านทางน้ำจะอยู่ใน 2 ล้านล้านเดิม แผนเร่งด่วนคือท่าเรือประหยัดพลังงาน จ.อ่างทอง 1,323 ล้านบาท และเพิ่มศักยภาพขนส่งสินค้าแม่น้ำป่าสัก 11,180 ล้านบาท เพื่อป้องกันน้ำท่วม ส่วนท่าเรือปากบาราอยู่ระหว่างทำอีไอเอ คาดว่าเริ่มปี 2559 นอกจากนี้ กรมเจ้าท่าของบฯ 5,000 ล้านบาท เพื่อขุดลอก 26 ลุ่มน้ำที่รับผิดชอบ
เล็งตัดทางด่วนสายใหม่
แหล่งข่าวกล่าวอีกว่า นอกจากนี้มีหน่วยงานเสนอโครงการเร่งด่วนรอการอนุมัติเข้ามาเพิ่มเติม เช่น การทางพิเศษแห่งประเทศไทย (กทพ.) เสนอทางด่วนใหม่ 2 สายคือ สายพระราม 3-ดาวคะนอง-วงแหวนตะวันตก กับสายกะทู้-ป่าตอง หากได้รับอนุมัติ กทพ.จะกู้เงินหรือให้เอกชนร่วมลงทุนโครงการต่อไป
โดยสายพระราม 3-ดาวคะนอง-วงแหวนตะวันตก น่าจะเร่งด่วนที่สุดเพื่อแก้ปัญหาจราจรในพื้นที่กรุงเทพฯ รูปแบบสร้างเป็นทางยกระดับ 6 ช่องจราจร ระยะทาง 16 กิโลเมตรเศษ สร้างซ้อนทับบนเกาะกลางถนนพระรามที่ 2 จุดเริ่มต้นอยู่จุดเชื่อมต่อกับทางด่วนขั้นที่ 1 บริเวณดาวคะนอง คู่ขนานไปกับสะพานแขวนพระราม 9 บนถนนพระรามที่ 3
จากนั้นตรงไปตามแนวถนนพระรามที่ 2 จนสิ้นสุดที่ทางแยกต่างระดับบางขุนเทียน บนถนนวงแหวนรอบนอกตะวันตก ใช้เงินลงทุน 18,646 ล้านบาท แยกเป็นก่อสร้าง 15,869 ล้านบาท ค่าเวนคืนที่ดิน 2,776 ล้านบาท จุดเวนคืนบริเวณที่จะต้องก่อสร้างทางแยกต่างระดับ 2 แห่ง ทางขึ้น-ลงบนถนนพระรามที่ 2 อีก 5 แห่ง
เร่งขุดลอกแม่น้ำเจ้าพระยา
สำหรับโครงการบริหารจัดการน้ำหลังจากที่พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา หัวหน้า คสช. ระบุว่าจะเร่งการขุดลอกแม่น้ำเป็นงานเร่งด่วนนั้น ผู้สื่อข่าวรายงานเพิ่มเติมว่า ล่าสุด สำนักงานนโยบายและบริหารจัดการน้ำและอุทกภัยแห่งชาติ (สบอช.) ได้ให้บริษัทที่ปรึกษาศึกษาความเป็นไปได้โครงการแล้ว เบื้องต้นจะมีการขุดลอกแม่น้ำ 5 สายหลัก และสร้างถนนคู่ขนานไปด้วย ได้แก่ แม่น้ำปิง วัง ยม น่าน และแม่น้ำเจ้าพระยา รวมระยะทางกว่า 1,000 กิโลเมตร โดยจะเน้นพื้นที่ลุ่มน้ำเจ้าพระยาก่อน เริ่มจากจังหวัดนครสรรค์ ผ่านชัยนาท สิงห์บุรี อ่างทอง พระนครศรีอยุธยา ปทุมธานี นนทบุรี และกรุงเทพฯ มาลงทะเลอ่าวไทย ระยะทางกว่า 200 กิโลเมตร เพื่อเปิดทางน้ำให้ไหลสะดวกมากขึ้น เพื่อให้รองรับการระบายน้ำได้อย่างน้อย 3,500 ลูกบาศก์เมตร/วินาที
"โครงการนี้จะเหมือนเป็นทางผันน้ำคล้ายกับฟลัดเวย์ที่อยู่ในแผนบริหารจัดการน้ำ 3 แสนล้านบาท โดยนำโมดูล A4 และ A5 มารวมกัน ขยายปากแม่น้ำเจ้าพระยาให้กว้างขึ้นจากเดิม 40-50 เมตร เป็น 100-200 เมตร มีถนนขนาด 2-4 ช่องจราจรขนาบข้าง เพื่อให้เป็นทางสัญจรสำหรับท้องถิ่น และใช้เป็นทางเลี่ยงการจราจรในเมืองด้วย คาดว่าะใช้เงินลงทุนหลายหมื่นล้านบาท"
แหล่งข่าวกล่าวต่อว่า ทั้งนี้จากการศึกษาเบื้องต้น โครงการนี้มีความคุ้มค่าทางด้านวิศวกรรมและเศรษฐกิจ แต่จะมาติดปัญหาสิ่งแวดล้อมและสังคม เนื่องจากริมแม่น้ำมีผู้บุกรุกจำนวนมาก สำหรับแหล่งเงินนั้นอาจจะใช้เงินจากกรอบเดิมใน 3 แสนล้านบาทที่มีอยู่แล้วมาดำเนินการ
ผู้ส่งออกแจมตรวจสต๊อกข้าว
ร.ต.ท.เจริญ เหล่าธรรมทัศน์ นายกสมาคมผู้ส่งออกข้าวไทย เปิดเผย "ประชาชาติธุรกิจ" ว่า ทางสมาคมเห็นด้วยกับแนวทางแก้ไขปัญหาข้าวของ คสช. ที่เร่งดำเนินการกู้เงิน 90,000 ล้านบาท มาจ่ายคืนเกษตรกรเพื่อลดแรงกดดัน ทำให้ไม่ต้องเร่งระบายข้าวสารในสต๊อกจากการรับจำนำกว่า 16 ล้านตัน ช่วยลดซัพพลายข้าวในตลาด ซึ่งแก้ไขปัญหาเสถียรภาพราคาข้าวไทยได้
หลังจากนี้ สมาคมจะขอเข้าพบ ม.ร.ว.ปรีดิยาธร เทวกุล และนายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ ที่ปรึกษาด้านเศรษฐกิจของฝ่ายเศรษฐกิจ คสช. โดยมีข้อเสนอเร่งด่วน 1)ตั้งคณะทำงานร่วม 3 ฝ่าย มีกระทรวงพาณิชย์ คลัง และหน่วยงานกลาง เช่น สำนักงานการตรวจเงินแผ่นดิน (สตง.) เพื่อตรวจสอบสต๊อกข้าวใช้เวลา 1-2 เดือน เพื่อให้ทราบตัวเลขการขาดทุนที่แท้จริง
2)นำข้อมูลมาวางแผนการบริหารจัดการสต๊อกข้าว โดยคำนึงถึงความจำเป็นของระบบตลาดเป็นหลัก เช่น ตลาดในประเทศต้องการข้าวเก่า คาดว่าต้องใช้เวลา 2 ปีในการระบาย แต่ก็ควรทำในจังหวะเวลาที่เหมาะสม และหยุดทำจีทูจี 3)วางแผนการผลิตข้าวเปลือกนาปีรอบใหม่ ปี 2557/2558 ควบคู่ไปด้วย โดยต้องวางแผนการขายก่อนการเก็บเกี่ยว
"ประกาศนโยบายให้ชัดไปเลยว่าเราจะไม่ขายข้าวเก่าในสต๊อกรัฐบาล พร้อมกำหนดมาตรการช่วยเหลือชาวนาที่ปลูกรอบใหม่ โดยมุ่งเน้นไปที่ชาวนารายย่อย มีพื้นที่ดินไม่เกิน 40 ไร่ อาจใช้วิธีสนับสนุนให้ลดพื้นที่ปลูกข้าวลง 50% โดยรัฐจ่ายเงินสนับสนุนปัจจัยการผลิตแทน หากดำเนินการตามนี้ คสช.จะช่วยยกระดับราคาข้าวเปลือกจากตันละ 7,500-7,800 บาท ไปเป็น8,000-9,000 บาท ในระยะเวลาเพียงไม่ถึงสัปดาห์แน่นอน ที่สำคัญเชื่อว่ายอดส่งออกข้าวในปีนี้จะสูงถึง 9 ล้านตัน ทวงแชมป์ส่งออกข้าวอันดับ 1 กลับคืนมาจากอินเดียได้เพราะที่ผ่านมาในช่วง 4 เดือนแรกส่งออกข้าวได้ 3.21 ล้านตัน หรือเฉลี่ยเดือนละ 7 แสนตัน เพิ่มขึ้น 56.6% จากปีก่อน มูลค่า 1,596 ล้านเหรียญสหรัฐ ซึ่งแซงเวียดนามแล้ว" ร.ต.ท.เจริญกล่าว
คลังลุยกู้จ่ายคืนชาวนา
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า นายพงษ์ภาณุ เศวตรุนทร์ รองปลัดกระทรวงการคลังได้ลงนามส่งหนังสือชี้ชวนธนาคารพาณิชย์และธนาคารเฉพาะกิจของรัฐ 32 แห่ง เข้าร่วมยื่นซองเสนอเงื่อนไขอัตราดอกเบี้ยแล้ว โดยจะกู้เป็นเทอมโลน อายุ 3 ปี วงเงินไม่เกิน 5 หมื่นล้านบาท แบ่งเป็น 2 งวด ประมูลครั้งแรก 6 มิ.ย.นี้ 3 หมื่นล้านบาท รอบที่สอง 13 มิ.ย.ไม่เกิน 2 หมื่นล้านบาท
ขณะที่ ธ.ก.ส.รายงานว่า ช่วงเช้า 30 พ.ค. ได้โอนเงินให้ชาวนาเพิ่มอีก 118,569 ราย เป็นเงิน 11,633.78 ล้านบาท ทำให้รวม 5 วัน ธ.ก.ส.จ่ายเงินให้ชาวนาไปแล้ว 303,950 ราย เป็นเงิน 30,878.23 ล้านบาทจากยอดที่ค้างอยู่ทั้งสิ้นกว่า 92,000 ล้านบาท
แบงก์ขานรับประมูลเงินกู้ สบน.
นายธัชพล กาญจนกูล รองผู้อำนวยการอาวุโส รักษาการแทนผู้อำนวยการธนาคารออมสิน กล่าวว่า ออมสินมีสภาพคล่องส่วนเกิน 2-2.5 แสนล้านบาท เพียงพอที่จะเข้าร่วมประมูลวงเงินกู้จำนำข้าวตามมาตรการเร่งด่วนของ คสช.
นายวรภัค ธันยาวงษ์ กรรมการผู้จัดการใหญ่ธนาคารกรุงไทย กล่าวว่า จะเข้าร่วมประมูลให้กู้ยืมเงินในโครงการรับจำนำข้าวทั้ง 2 งวด เพราะการประมูลครั้งนี้ได้ปลดล็อกข้อติดขัดทางกฎหมายก่อนหน้านี้แล้ว ส่วนจะเสนอวงเงินกู้เท่าไรต้องพิจารณาจากสภาพคล่องที่มีอยู่ก่อน
ขณะที่นายชาญศักดิ์ เฟื่องฟู กรรมการรองผู้จัดการใหญ่ ธนาคารกรุงเทพ กล่าวว่า จะเข้าร่วมประมูลด้วย ส่วนอัตราดอกเบี้ยต้องรอดูเงื่อนไขการให้กู้ยืม และธนาคารที่เข้าร่วมประมูล
อุตฯชงลดขั้นตอนใบ รง.4
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า กระทรวงอุตสาหกรรมเตรียมปรับกระบวนการพิจารณาใบอนุญาต รง.4 ให้มีขั้นตอนที่สั้นลง จะเสนอให้ พล.อ.อ.ประจิน จั่นตอง ในโอกาสที่จะมามอบนโยบายขับเคลื่อนการลงทุนในวันจันทร์ที่ 2 มิ.ย. 2557
นอกจากนี้เตรียมยกเลิก คณะกรรมการกลั่นกรองโครงการขนาดใหญ่ที่มีผลกระทบต่อชุมชนและสิ่งแวดล้อม เนื่องจากได้วางกรอบและขั้นตอนการพิจารณาตามกฎหมายไว้เป็นแนวทางให้กับกรมโรงงานอุตสาหกรรม (กรอ.) แล้ว